กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคปก. เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. ….เสนอต่อนายกรัฐมนตรี และประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้ศึกษาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการรับขนของทางถนนระหว่างประเทศ พ.ศ. …. โดยมีการหารือและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน คือ กรมขนส่งทางบก หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สหพันธ์การขนส่งแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่าร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มิได้กำหนดหลักเกณฑ์ซึ่งเป็นสาระสำคัญไว้ให้ครบถ้วน ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาเมื่อเกิดคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลซึ่งอาจทำให้ผู้ส่ง ผู้รับตราส่ง และ ผู้ขนส่งไม่ได้รับความเป็นธรรม คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์บางเรื่องและปรับปรุงถ้อยคำในหลักเกณฑ์ของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ให้สอดคล้องกับอนุสัญญา CMR และความตกลง CBTA เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับหลักสากล
ประเด็นสำคัญในเรื่องเขตอำนาจศาล ตามมาตรา 38 ควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในเรื่องเขตอำนาจเพื่อให้บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายฟ้องคดีต่อศาลในต่างประเทศได้และเพื่อการบังคับคดีสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกันประเด็นข้อกฎหมายซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นควรยืนยันให้มีการแก้ไข ประกอบด้วย 1.เรื่องผู้ส่งของ ในมาตรา3 ผู้ส่ง หมายถึงบุคคลซึ่งเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งในสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ และมาตรา7 สัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศ หมายถึง สัญญาที่ผู้ขนส่งตกลงที่จะดำเนินการหรือจัดให้มีการขนส่งของทางถนน จากสถานที่ในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ในอีกประเทศหนึ่ง โดยผู้ส่งตกลงที่จะชำระค่าระวางให้แก่ผู้ขนส่ง กรณีจึงมีปัญหาว่าผู้ที่ส่งมอบของให้แก่ผู้ขนส่งจริง (Actual shipper) จะมีสิทธิหน้าที่ และความรับผิดหรือไม่ ทั้งนี้เพราะผู้ส่งของให้แก่ผู้ขนส่งอาจเป็นหรือไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งก็ได้แล้วแต่เงื่อนไขข้อตกลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของผู้ส่งด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าประเด็นเรื่องผู้ส่งในกรณีการขนส่งของทางทะเล และ ผู้ขนส่งในกรณีการขนส่งของทางถนนมีลักษณะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือการขนส่งของทางทะเลและการขนส่งของทางถนนจะมีผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา (Contractual Shipper) กับผู้ส่งจริง (Actual Shipper) ทั้งนี้บุคคลที่อยู่ปลายทางอาจเป็นได้ทั้งผู้ส่งและผู้รับตราส่ง ซึ่งในกรณีการขนส่งของทางทะเลและการขนส่งของทางถนนจำเป็นต้องกำหนดให้ชัดเจน ดังนั้นจึงเสนอให้มีการแก้ไขในประเด็นดังกล่าวโดยมีการปรับปรุงถ้อยคำในร่างมาตรา 3เป็นดังนี้ “ผู้ส่ง หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบธุรกิจการรับขนของทางถนนเพื่อค่าระวางโดยทำสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศกับผู้ส่ง หรือบุคคลซึ่งได้มอบของให้แก่ผู้ขนส่งเพื่อขนส่งตามสัญญารับขนของทางถนนระหว่างประเทศกับผู้ส่ง แล้วแต่กรณี”
2. ควรแก้ไขถ้อยคำในร่างมาตรา 27 วรรคสอง และวรรคสาม ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่กำหนดเวลาส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันครบกำหนดเวลาส่งมอบของ หรือกำหนดเวลาอันควรที่จะส่งมอบของได้ล่วงพ้นไปแล้วไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ผู้ขนส่งได้รับมอบของนั้น ให้ถือว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนเสมือนว่าของนั้นได้สูญหายโดยสิ้นเชิง เว้นแต่จะปรากฏหลักฐานแสดงให้เห็นว่าของนั้นยังมิได้สูญหาย
3.ควรแก้ไขถ้อยคำในหมวดที่5 เรื่องการคิดค่าเสียหายและการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง ซึ่งร่างมาตรา32 กำหนดว่า “ในกรณีของที่รับขนสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้า ให้ผู้ขนส่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง 4.ควรแก้ไขถ้อยคำในร่างมาตรา 35 (3) เรื่องข้อยกเว้นการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งซึ่งกำหนดว่า “เมื่อการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้าที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลจากการที่ผู้ขนส่ง ลูกจ้างหรือตัวแทนของผู้ขนส่ง หรือผู้ขนส่งช่วงกระทำการโดยเจตนาให้เกิดการสูญหาย เสียหาย หรือส่งมอบชักช้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ให้ผู้ขนส่งรับผิดต่อผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตามความเสียหายที่แท้จริง”
ทั้งนี้ควรแก้ไขโดยเปลี่ยนคำว่า “เจตนา” ซึ่งเป็นถ้อยคำในกฎหมายอาญา เป็น คำว่า“จงใจ” ซึ่งเป็นถ้อยคำในกฎหมายแพ่ง และเพื่อให้สอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งจะมีการแก้ไขคำว่า “เจตนา” เป็น คำว่า “จงใจ” ด้วยเช่นเดียวกัน
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔