กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--วช.
ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาความยากจนของเกษตรกรทวีความรุนแรงขึ้น มีการเรียกร้องเคลื่อนไหวจากบุคคลหลายกลุ่ม เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราช-บัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและต่อมาได้มีการแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2519 และ พ.ศ. 2532
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยแก่ รศ.จุฑามาศ นิศารัตน์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการวิจัยเรื่อง “ความเข้าใจและความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” เพื่อศึกษาถึงสาเหตุของปัญหาและการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การรับรู้ ความเข้าใจ และความคิดเห็นในกฎหมายและการดำเนินการตามกฎหมาย และการดำเนินการตามกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ ในการวิจัยศึกษาใช้กลุ่มประชากร 5 กลุ่ม คือ กลุ่มเชี่ยวชาญทางกฎหมาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ค.ป.ก.) คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (ค.ป.จ.) บุคคลที่ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินฯ และบุคคลที่ไม่ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินฯ
ผลการวิจัยพบว่า ทุกกลุ่มให้เหตุผลถึงปัญหาและอุปสรรคของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม คือ นโยบายรัฐบาลไม่มีความชัดเจนแน่นอน มักจะเปลี่ยนไปตามนโยบายพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล ขาดความจริงใจจริงจังในการปฏิรูปที่ดิน ขาดการวางแผนการดำเนินงาน มีการเร่งรัดขั้นตอนในบางเรื่องจนก่อให้เกิดความผิดพลาด ส่วนปัญหาและอุปสรรคที่เกิดจากกฎหมายหรือการนำกฎหมายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมไปแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ป่าสงวน โดยทุกส่วนเห็นว่าผิดหลักการและปรัชญาของกฎหมาย อีกทั้งความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย เช่น คุณสมบัติของเกษตรกร สิทธิในที่ดินที่ได้รับ ทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ นอกจากนี้ บุคคลทั่วไปยังไม่เข้าใจการดำเนินการของ ส.ป.ก. และมีเจตคติไม่ดีต่อการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีการคัดค้านจากกลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่นและกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ มีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ ฯลฯ ดังนั้น รัฐต้องให้ความสำคัญและความจริงใจ
ในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การปฏิรูปที่ดินเพื่อมุ่งหวังผลทางการเมืองหรือพวกพ้อง ต้องกำหนดนโยบายในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างชัดเจน ไม่รวบรัดดำเนินการ วางเป้าหมายโครงการให้ชัดเจนในการพัฒนาให้เกษตรกรช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องให้คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีที่ดินทำกินมีสภาพชีวิตและสังคมดีขึ้น
--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--