กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯ กทม. ส่งสัญญาณถึงเวลาปฏิรูปด้านการศึกษา โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน มุ่งพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานให้ทัดเทียม ยกระดับการเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยี และการเรียนรู้โลก นอกห้องเรียน
เมื่อวานนี้ (15 ก.ย.47) เวลา 09.45 น. ที่ห้องประชุมสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการครูกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 7/2547 โดยมี นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุม
ในการนี้ ผู้ว่าฯ กทม. ได้มอบนโยบายด้านการศึกษาในส่วนของโรงเรียนสังกัด กทม. ว่า ควรมีการผลักดันการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักการศึกษา โรงเรียน และบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่มีต่อสังคมในปัจจุบันให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรยกระดับมาตรฐานของโรงเรียนสังกัด กทม. ตลอดจนบุคลากรครู และนักเรียนให้มีความรู้ ความสามารถทัดเทียมโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในสังกัดกรมสามัญ และกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนสังกัด กทม. หลายแห่ง เช่น โรงเรียนประชานิเวศน์ โรงเรียนบ้านบางกะปิ เป็นต้น สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพและมาตรฐานดังกล่าวได้เป็นอย่างดีและจะต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยความร่วมมือจากคณะกรรมการโรงเรียน คณะผู้บริหาร ผู้ปกครอง และนักเรียน รวมถึงภาคเอกชน สถานประกอบการต่าง ๆ ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ตนจะติดตามแนวทางการปฏิบัติงาน ดูแล เยี่ยมชม การดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายของสำนักการศึกษาและโรงเรียนอย่างใกล้ชิด และจะมีการจัดแบ่งกลุ่มประเมินโรงเรียนที่อยู่ในระดับต่างกันและพัฒนาให้มีมาตรฐานเดียวกันต่อไป
สำหรับการปฏิรูปการศึกษาของ กทม. เป็นปัญหาที่ตนให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาจราจรและปัญหามลพิษ และจะดำเนินการควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง
ทางด้านนายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายด้านการศึกษาของ กทม. ว่าควรมีการพัฒนาเทคโนโลยี และสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ มิใช่เพียงแค่มีห้องเรียนก็ถือว่าเป็นการพัฒนาแล้ว หากแต่หมายถึงสามารถนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้เพื่อแสวงหาความรู้ หรือสืบค้นข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการเรียนการสอนและเป็นการเสริมสร้างหลักสูตรให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องปฏิบัติควบคู่กันไปคือเร่งการสร้างครูต้นแบบ เพื่อเป็นหลัก ในการให้ความรู้เฉพาะทางอย่างโดดเด่นแก่นักเรียน และควรมีการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอนให้เด็กได้เรียนภาษาต่างประเทศอย่างได้ผลด้วย
นอกจากนี้การเรียนการสอนไม่ควรปิดกั้นเพียงแต่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ควรที่จะเปิดกว้างให้มากขึ้น เช่น การเรียน นอกสถานที่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากชุมชน ภาคเอกชน และสถานประกอบการต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฯ--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--