ผลกระทบจากการใช้โทรศัพท์มือถือนาน

ข่าวเทคโนโลยี Friday November 18, 2005 10:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 พ.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
พันเอก นายแพทย์ สุรเดช จารุจินดา คณะกรรมการการจัดประชุมวิชาการครบรอบ ๘๔ ปี ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือว่า จากการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การศึกษาผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือ" ของสภาสมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (สสท.) ได้สรุปผลกระทบโทรศัพท์มือถือออกมาว่า โทรศัพท์มือถือใช้แนบที่หูครั้งละนาน ๆ น่าจะมีผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของผู้ใช้โดยตรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยมีรายงานการวิจัยในหลอดทดลองพบว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เกิดจากการรับ - ส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความถี่อยู่ในช่วงคลื่นไมโครเวฟ สามารถทำให้เกิดความร้อน และทำลายเซลล์ภายในเนื้อเยื่อบริเวณหู ตา และสมอง
สำหรับผลกระทบในระยะสั้น ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการปวดหู ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว มึนงง ขาดสมาธิ และเครียดเนื่องจากระบบพลังในร่างกายถูกรบกวน ส่วนผลในระยะยาว คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากโทรศัพท์มือถืออาจทำให้เกิดโรคความจำเสื่อม เนื่องจากเนื้อเยื่อถูกทำลาย เกิดโรคมะเร็งสมอง เนื่องจากเนื้อเยื่อสมองมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปจากปกติ และทำให้เกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาว
นอกจากนี้รายงานดังกล่าวระบุว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๐ ปี จะมีผลกระทบต่อสุขภาพมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า สามารถผ่านกระโหลกศีรษะของเด็กเข้าสู่เนื้อเยื่อสมองได้ลึกกว่าของผู้ใหญ่ รวมทั้งการใช้โทรศัพท์มือถือขณะเติมน้ำมัน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพลิงไหม้ได้ เนื่องจากมือถือทำให้เกิดประกายไฟติดกับน้ำมันได้ และสำหรับวิธีป้องกันอันตรายดังกล่าว ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกันเป็นเวลานาน หากจำเป็นต้องคุยนานให้สลับหูซ้าย - ขวา แต่การใช้โทรศัพท์สายตรงจะปลอดภัยกว่า หรือใช้อุปกรณ์เสริมสมอลล์ทอลค์ หรือแฮนด์ฟรี ทุกครั้งเมื่อใช้โทรศัพท์มือถือ ไม่ควรนำมือถือใส่ในกระเป๋ากางเกง หรือคาดเอวหรือแขวนไว้ที่หน้าอก เพราะมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมาจากเครื่องมือถือตลอดเวลา อาจทำให้เป็นมะเร็งเต้านมหรือเสื่อมสมรรถภาพทางเพศได้ ทั้งนี้โทรศัพท์มือถืออาจเป็นปัจจัยที่ ๕ ในชีวิตประจำวัน ที่อาจเป็นตัวพาหะที่นำอันตรายมีสู่ผู้ใช้ได้อีกเช่นกัน อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องการเข้าร่วมการเสวนาเรื่องของผลกระทบจากโทรศัพท์มือถือในงานประชุมวิชาการ ฯ ในวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๓๑๔ ๔๓๓๓ และ ๐ ๒๓๑๘ ๘๑๗๐
(ที่มา : นสพ.สยรามรัฐ ประจำวันที่ ๑๗ พ.ย.๔๘)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ