กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--สสวท.
“บทเรียนแบบนี้เป็นบทเรียนที่ใช่เลย ทำให้ผู้เรียนรู้จริง เมื่อรู้จริงแล้วไม่ว่าจะพบกับข้อสอบพลิกแพลงอย่างไรก็น่าจะทำได้”
นี่คือเสียงขานรับจาก ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่กล่าวว่าบทเรียนออนไลน์ แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ (SAS Curriculum Patthways) มีความน่าสนใจอย่างยิ่งและเข้าใจง่ายจึงเป็นที่น่าสนใจว่า แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ คือ อะไร?
แซส เคอริคูลัม พาธเวย์ เป็นบทเรียนที่เน้นการวิเคราะห์ เชิงวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งบริษัท SAS Institute Inc. ประเทศสหรัฐอเมริกา ทูลเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานต่อไปยังโรงเรียนในประเทศไทยตามอัธยาศัย สวทช. สสวท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้จัดทำ “โครงการนำร่องใช้บทเรียน SAS Curriculum Patthways ในประเทศไทย” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เป็นต้นมา
บทเรียน SAS ประกอบด้วย กิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบมัลติมีเดีย กว่า 100 กิจกรรม กิจกรรมแบบสืบเสาะหาความรู้ทางเว็บกว่า 200 กิจกรรม แผนการสอนกว่า 600 แผน และลิงค์เชื่อมโยงไปยังเนื้อหาในโลกออนไลน์กว่า 5,000 เว็บไซต์ ซึ่งมีการอัพเดทปรับปรุงเนื้อหาและเครื่องมือต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ มีการเพิ่มเนื้อหาใหม่ทุกปี
ในส่วนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นั้น ได้มีส่วนร่วมในการจัดทำคู่มือการใช้ จัดอบรมให้แก่โรงเรียนในโครงการ และติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่อง
“จากการติดตามประเมินผลการนำไปใช้ พบว่า บทเรียน SAS มีศักภาพในการพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ผ่านการทำกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถนำไปยืดหยุ่นปรับใช้ได้ตามความถนัด บริบทของห้องเรียนและดุลยพินิจของครู” ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
สำหรับการใช้บทเรียน SAS พบว่า นักเรียนหลายกลุ่มสามารถนำบทเรียน ดังกล่าวไปใช้ได้โดยแต่ละกลุ่มมีการใช้ประโยชน์ต่างกัน เช่น กลุ่มเด็กทั่วไปในโรงเรียนที่สอนเป็นภาษาอังกฤษสามารถใช้เป็นสื่อเสริม เด็กที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์สูง สามารถศึกษาเนื้อหาที่อาศัยการคิดขั้นสูงได้อย่างเต็มศักยภาพ
“การนำบทเรียน SAS ไปใช้นั้น อินเทอร์เน็ตต้องมีความเร็วสูง ครูผู้สอนต้องเรียนรู้ล่วงหน้า กำหนดบทเรียนของตนเอง และวางแผนเตรียมการต่างๆ ไว้อย่างรอบคอบ เพราะเนื้อหาและวิธีการค่อนข้างใหม่ ทั้งยังเป็นภาษาอังกฤษ” นางสาวสติยา ลังกาพันธุ์ หัวหน้าโครงการบริหารโครงการพิเศษ สสวท. กล่าว
จาก 10 โรงเรียนนำร่องเริ่มต้นในปีแรก การขยายผลอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันในประเทศไทยมีโรงเรียนนำร่องใช้บทเรียนออนไลน์ดังกล่าว 65 โรงเรียน และได้ดำเนินการขยายผลต่อยอดเพิ่มขึ้นอีก โดยนำไปใช้ทั้งในสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์ ลองมาดูกันว่าสถานศึกษามีการนำไปใช้อย่างไร
คุณครูพิชชา ขำสุวรรณ อาจารย์พิเศษวิชาคณิตศาสตร์ ม.ต้น หลักสูตร EP (English Program) โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กล่าวถึง การนำบทเรียนออนไลน์ SAS ไปใช้สอนว่า ทางโรงเรียนนำบทเรียนดังกล่าวไปสอนนักเรียนโปรแกรม EP และ Mini EP ในวิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ โดยก่อนที่จะสอน ตนเองได้เข้าไปศึกษาในเว็บไซต์แล้วเลือกเนื้อหาที่ตรงกับสิ่งที่สอนและพบว่าบทเรียน SAS นั้นสนุก คล้ายเกม ฝึกให้เด็กคิด ง่ายต่อการเรียนรู้ อีกทั้งเป็นสื่อที่เด็กคุ้นเคย เพราะเด็กยุคนี้ชอบอยู่ในโลกออนไลน์มากกว่าอ่านจากหนังสือ ครูต้องนำเสนอสิ่งที่เด็กสนใจหาสื่อที่โดนใจเด็ก จึงจะเข้าถึงเด็กได้ ในโรงเรียมีสัญญาน wifi ทุกจุด มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้จึงสนับสนุนการเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ดี
“ก่อนนำบทเรียน SAS ไปใช้ ครูต้องถามตัวเองว่าพร้อมหรือไม่ หากใช้สอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ครูต้องมีความรู้ในด้านที่สอนและมีทักษะภาษาอังกฤษ จึงจะแนะนำนักเรียนให้ใช้บทเรียนได้อย่างเข้าใจ”
ดร. เสวียง เลื่อนบุญ อาจารย์พิเศษวิชาฟิสิกส์ หลักสูตร EP (English Program) โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง ได้ให้นักเรียนทำกิจกรรม simulation เรื่องการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอนในวงจรไฟฟ้าในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ แล้วตอบคำถามในใบงานที่ครูปรับมาจาก SAS Curriculum Pathways
เด็กหญิงเมทิรา บรรลือเสนาะ (เม) ชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง เล่าว่า ได้เริ่มใช้บทเรียน SAS ในวิชาฟิสิกส์ตั้งแต่ ชั้น ม.5 บทเรียนนี้ทำให้เราเข้าใจเนื้อหาที่เรียนชัดเจนขึ้น ประโยชน์คือ สะดวก นำไปฝึกหัดที่บ้านได้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ อินเทอร์เน็ตที่บางทีก็โหลดช้า ในส่วนของการเริ่มต้นใช้งานมองว่า ไม่ยุ่งยากเพราะมีเมนูให้เลือกตามหัวข้อที่สนใจ
นายชลกุล ชลกิจปทานผล (ปุ้น) ชั้น ม. 6 โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง เล่าถึงการนำบทเรียนไปใช้ในวิชาฟิสิกส์ คือ เรียนรู้เรื่องการต่อวงจรไฟฟ้า โดยบทเรียน SAS มีรูปแบบที่เข้าใจง่าย เห็นผลการทดลองทันทีโดยไม่ต้องทดลองจริง “เมื่อเริ่มต้นใช้งาน เราจะต้องมีการสืบค้นอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งใช้พื้นฐานเดียวกับการสืบค้นจากเว็บกูเกิ้ล ตัวเรารู้จักใช้การค้นข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพก็จะเข้าถึงบทเรียนได้”
นอกจากนั้น ยังมีตัวอย่างบางส่วนของการใช้บทเรียน SAS Curriculum Patthways ในโรงเรียนของประเทศไทย แต่ละชั้นเรียนมีการนำไปใช้ยืดหยุ่นตามบริบทของตัวเอง เช่น คุณครูลักษณ์ ทรงธรรม ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ใช้ SAS Curriculum Patthways ในห้องเรียนที่มีเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียวพร้อมและเครื่องฉาย LCD ครูสาธิตกิจกรรมให้นักเรียนดู แล้วให้นักเรียนดู แล้วให้นักเรียนศึกษาบทเรียนที่บ้าน แล้วนำมาส่งในวันถัดไป ซึ่งมีเนื้อหาคณิตศาสตร์ครบหลายหัวข้อ ในส่วนหัวข้อที่ขาดไปจะเสริมด้วยโปรแกรม GSP
คุณครูสดใส ส่งเสริม ครูฟิสิกส์ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้คัดเลือกสื่อ simulation วิชาฟิสิกส์ เกี่ยวกับคลื่นเสียง และใบกิจกรรมจาก SAS Curriculum Pathways มอบหมายให้นักเรียนศึกษาแล้วจัดกิจกรรมอภิปรายซักถามในชั้นเรียน
ล่าสุด สสวท. จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการใช้งานบทเรียน SAS Curriculum Pathways ให้แก่ครูจากโรงเรียนในโครงการห้องเรียนพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ วันที่ 27-28 ตุลาคม 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, วันที่ 10 — 11 พฤศจิกายน 2555 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และวันที่ 24 — 25 พฤศจิกายน 2555 ณ มหาวิทยาลัยทักษิณ
“การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนในสถานศึกษาที่มีความพร้อมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสได้เข้าถึงและใช้งานแหล่งเรียนรู้ออนไลน์คุณภาพสูง และเป็นการสนับสนุนให้ครูที่เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาศักยภาพในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ในภาษาอังกฤษ โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการจัดการเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ 21” ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าว
ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์http://www.sascurriculumpathways.com
เว็บไซต์ http://sas-thaischool.ning.com/ เฟซบุ๊ค http://www.facebook.com/sasthaischool หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 02 392 4021 ต่อ 1311