กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยว จัดแถลงข่าวการเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “ยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางอากาศ : กรณีศึกษาสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ” ที่ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 ที่ผ่านมา
นางสุภาพรรณ์ ธนียวัน ที่ปรึกษาคณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการฯ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องดังกล่าวพบข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการด้านการขนส่งต่างๆ ของสนามบินสุวรรณภูมิยังประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเมื่อเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ความถี่ของเที่ยวบินของสนามบินสุวรรณภูมิลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการขนส่ง คือ (1) ปัญหาด้านการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้า ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าค่อนข้างสูง (2) ปัญหาด้านกฎหมาย ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายศุลกากรให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเกียวโตฉบับแก้ไข รวมถึงการจัดเก็บภาษี กรณีมีการโอนสิทธิของสินค้าในเขตปลอดอากรยังไม่สอดคล้องกับกฎหมายการจัดตั้งเขตปลอดอากรของกรมศุลกากร (3) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (4) ปัญหาข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันพื้นที่คลังสินค้าสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เพียง 1.7 ล้านตันต่อปี (5) ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย เนื่องจากบริษัทท่าอากาศยานไทย ได้เปลี่ยนผู้บริหารเขตปลอดอากรหลายครั้ง ประกอบกับผู้บริหารเขตปลอดอากรไม่มีความเข้าใจการดำเนินงานภายในเขตปลอดอากร ทำให้การบริหารงานขาดความต่อเนื่อง
นางสุภาพรรณ์ฯ กล่าวต่อว่า นโยบายของรัฐบาลที่มุ่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาค คณะทำงานเศรษฐกิจภาคบริการฯ จึงได้ดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าว ทั้งการลงพื้นที่ศึกษาดูงาน การจัดประชุมสัมมนาโดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องจากภาคหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมประชุม จนได้ข้อสรุปเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง “ยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางอากาศ : กรณีศึกษาสนามบินสุวรรณภูมิเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศ” โดยมีสาระสำคัญ 2 เป้าหมาย 7 ยุทธศาสตร์ คือ
เป้าหมายที่ 1 สามารถกำหนดแผนยุทธศาสตร์การขนส่งสินค้าทางอากาศของประเทศไทยอย่างบูรณาการภายในปีงบประมาณ 2556
เป้าหมายที่ 2 เพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศให้ได้ 2 ล้านตัน ภายในปี 2558 ด้วยการเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านประเทศไทยไปยังประเทศอื่นๆอย่างก้าวกระโดดจาก 26,000 ตัน เป็น 500,000 ตัน อันจะทำให้เกิดรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี
ยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างความทันสมัยและความคล่องตัวของการจัดการธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศไทยให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากลและอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก เช่น การนำระบบ IT ใช้บริหารจัดการเขตปลอดอากร อาทิ ระบบการติดตามสินค้า เป็นต้น รวมถึงการจัดตั้งสินคลังสินค้าทัณฑ์บน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 บูรณาการการสื่อสารและการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ เพิ่มบทบาทกรมศุลกากรในการเป็นศูนย์กลางการบูรณาการงานที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการนำเข้า-ส่งออกสินค้า
ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มกำลังการรองรับการขนส่งสินค้าทางอากาศอย่างมีกลยุทธ์ เช่น จัดทำประมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศล่วงหน้า 10 ปี ขยายพื้นที่เขตปลอดอากร พิจารณาใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองควบคู่กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้รับบริการ โดยจัดทำการสำรวจความพึงพอใจปีละ 2 ครั้ง เป็นประจำทุกปี
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การประชาสัมพันธ์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย กล่าวคือ การชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการใช้ประโยชน์ในการขนส่งสินค้าทางอากาศ ทั้งเรื่องความประหยัดและคุ้มค่า
ยุทธศาสตร์ที่ 6 ส่งเสริมและสนับสนุนให้เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการใช้พื้นที่เขตปลอดอากร ให้มีการใช้พื้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ยุทธศาสตร์ที่ 7 พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดตัวชี้วัดผลสำเร็จ และกำหนดการบริหารความเสี่ยง โดยจัดให้มีคณะกรรมการที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาตรวจสอบปฏิบัติงาน รวมถึงเพื่อการพัฒนาการขนส่งทางอากาศของประเทศไทย และกำหนดนโยบายในการพัฒนาคลังสินค้าและอาคารเก็บสินค้าในเขตปลอดอากร นโยบายและแนวทางการส่งเสริมการเพิ่มปริมาณสินค้าจากกิจกรรมเพิ่มมูลค่าสินค้า และปริมาณสินค้าขนถ่ายผ่านลำให้มีความชัดเจน
นางสุภาพรรณ์ฯ เสริมว่า ความเห็นและข้อเสนอแนะที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้น สามารถนำไปกำหนดแผนเชิงกลยุทธ์ได้เลย เพราะมีแผนปฏิบัติงานอย่างละเอียดอยู่แล้ว ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกต่อการทำงานให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น หากมีการดำเนินงานอย่างจริงจัง