กรุงเทพฯ--25 ต.ค.--อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต
โครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2012 โดย อลิอันซ์ อยุธยา” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นติดต่อกันเป็นปีที่ 6 ซึ่งปีนี้จัดภายใต้หัวข้อ “เยาวชนรุ่นใหม่ ใฝ่ดี มีคุณธรรม” โดย บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) มูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ฤกษ์ประกาศผลการตัดสินและมอบรางวัลแก่ผู้ชนะในวันนี้ พร้อมนำ 20 ผลงานจากผู้เข้าแข่งขันกว่า 1,400 คนจัดนิทรรศการโชว์ฝีมือเด็กไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
สำหรับในปีนี้รางวัลชนะเลิศระดับมัธยมศึกษาตกเป็นของทีม “ชานมไข่” ในชื่อเรื่อง “Music Box” ของ นางสาวปรียารัตน์ นาวีเรืองรัตน์ นางสาวณัฐกมล สุกิจจาคามิน และ เด็กหญิงติณณา รัตนโพธิสัน จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ และรางวัลชนะเลิศระดับอุดมศึกษาได้แก่ทีม “ไม่เด่นไม่ดังจะไม่หันหลังกลับไป” ในชื่อเรื่อง “Milk” ของนายบรรพต ไชยวงศ์ นายชินภัทร์ หยึกประเสริฐ และนายพงศธร แซ่โล้ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยน้องทั้งสองทีมจะได้ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษารวมมูลค่า 256,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มครองชีวิตและอุบัติเหตุ ทุนประกันภัยรวมมูลค่ากว่า 13 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี พร้อมนำทีมผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ระดับ เดินทางไปทัศนศึกษางานเอนิเมชั่น ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ และศึกษาวิธีการทำเอนิเมชั่นระดับมืออาชีพ
นางสาวพัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการตลาดและสื่อสารองค์กร บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต กล่าวว่า ทางอลิอันซ์ อยุธยาตระหนักถึงการทำกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางรากฐานความรู้แก่เยาวชนไทยที่จะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ภายใต้แนวคิด ‘ปันความรู้สู่เด็กไทย จึงเป็นที่น่าภาคภูมิใจมากที่โครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2012 โดย อลิอันซ์ อยุธยา” ได้ดำเนินมาจนถึงปีที่ 6 แล้ว และยังคงได้รับความสนใจจากเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาและอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก แสดงว่าเยาวชนไทยมีความสนใจในเรื่องที่สร้างสรรค์ โดยผลงานส่วนใหญ่ได้สะท้อนถึงบทบาทที่สำคัญของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับการประพฤติดี มุ่งพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถควบคู่คุณธรรม และสามารถสื่อสารออกมาได้อย่างดีในรูปของภาพยนตร์เอนิเมชั่นคุณภาพเยี่ยม ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจในศักยภาพของตน นำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ
“สิ่งที่น่าปลื้มใจที่สุดนอกเหนือจากจำนวนผู้เข้าแข่งขัน ในส่วนของชิ้นงาน ก็มีการพัฒนาขึ้นอย่างมาก เรียกว่าคุณภาพคับแก้ว บางชิ้นงานสามารถเทียบชั้นนักเอนิเมเตอร์มืออาชีพได้สบาย แสดงว่าการจัดโครงการนี้อย่างต่อเนื่องทุกปีมีส่วนกระตุ้นให้เยาวชนใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้และพัฒนาฝีมือด้านเอนิเมชั่นกันอย่างจริงจัง และต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ด้วยดีตลอดมาจนประสบความสำเร็จในทุกๆ ปี โดยหลังจากการแข่งขันนี้ ทางอลิอันซ์ อยุธยาและเนคเทค ยังคงสานต่องานด้านการพัฒนาเยาวชน ด้วยการสนับสนุนโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนผู้มีความสามารถด้านเอนิเมชั่นสู่การแข่งขันระดับโลก (Talent Development Program for International Animation Contest) หรือ TIC ต่อไป” นางสาวพัชรา กล่าว
การประกวดสร้างภาพเคลื่อนไหว โครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2012 โดย อลิอันซ์ อยุธยา” ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนรุ่นใหม่ ใฝ่ดี มีคุณธรรม” แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา เปิดตัวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยผลงานเอนิเมชั่นที่ส่งเข้าประกวด กำหนดให้สร้างด้วยโปรแกรม Open Source เท่านั้น ความยาวไม่เกิน 2 นาที และในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จด้วย จำนวนเยาวชนกว่า 1,400 คนจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดมากถึง 448 ผลงาน อันเป็นผลมาจากชื่อเสียงของโครงการที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ในกลุ่มอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา รวมทั้งมืออาชีพในวงการเอนิเมชั่น
สำหรับการตัดสินได้คัดเลือกระดับละ 10 ทีมเข้ารอบสุดท้าย โดย 20 ทีมสุดท้ายเข้าเก็บตัวในค่ายพัฒนาฝีมือและเพิ่มพูนความรู้ด้านการสร้างสรรค์เอนิเมชั่นขั้นสูง เป็นเวลา 2 วัน 1 คืน รวม 34 ชั่วโมง เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ อาคารเนคเทคและบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จังหวัดปทุมธานี โดยมีอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านเอนิเมชั่นให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้างผลงานคุณภาพในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเยาวชนทั้งหมดได้รับความรู้ เคล็ดลับเพื่อใช้ในการสร้างสรรค์งานเพิ่มเติมจากผลงานเดิม 2 นาที เพิ่มอีก 1 นาที รวมเป็นผลงานชิ้นสุดท้าย 3 นาที เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการในรอบสุดท้าย
ดร.กว้าน สีตะธนี รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การแข่งขันครั้งนี้ ถือว่าแต่ละทีมต้องใช้ความพยายามและทุ่มเทอย่างมาก โดยได้กำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างผลงานเข้าประกวดภายใต้หัวข้อ “เยาวชนรุ่นใหม่ ใฝ่ดี มีคุณธรรม”ซึ่งในปีนี้ได้เพิ่มความเข้มข้นในการจัดกิจกรรมค่ายเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาผลงานเอนิเมชั่น ณ อาคารเนคเทคและบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พร้อมกันนี้ได้กำหนดรูปแบบการแข่งขันให้พัฒนาผลงานเอนิเมชั่นแบบมาราธอน34 ชั่วโมง และมีเงื่อนไขให้สร้างผลงานด้วยซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ภายใต้หัวข้อของการประกวดดังกล่าว จะช่วยให้เยาวชนเข้าร่วมแข่งขันและที่พัฒนาผลงาน ได้ซึมซับสิ่งดีงามเข้าใปในจิตใจจนเกิดเป็นนิสัย ใช้ทักษะและพรสวรรค์ของตนเองให้เกิดประโยชน์กับสังคม โดยการถ่ายทอดความคิดและจินตนาการผ่านสื่อเอนิเมชั่น ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มได้หลากหลาย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต
สำหรับเงื่อนไขและกฏเกณฑ์หลักที่กำหนดให้สร้างผลงานเอนิเมชั่น โดยใช้ “ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส” นั้น แม้ว่าเราจะได้ริเริ่มส่งเสริมให้มีการใช้งานโอเพนซอร์สเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานมาตั้งแต่ปี 2552 แต่ดูเหมือนว่า ในระยะเริ่มต้นของการแข่งขัน การใช้เครื่องมือนี้ก็ยังอาจจะสร้างความกังวลใจให้กับหลายทีมไม่น้อย มี “ซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส” ซึ่งนับเป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกที่ดี สำหรับการใช้งานทดแทน หรือปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า มี คุณสมบัติเทียบเท่ากับซอฟต์แวร์อื่นๆที่ขายในท้องตลาด มาให้ใช้งานได้ในแต่ละประเภทการใช้งาน จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ ประกอบกับเจตนารมณ์ในการที่จะส่งเสริม ให้เยาวชนเคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น โดยการหลีก เลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ สิ่งสำคัญที่ไม่อยากให้ละทิ้งสำหรับผู้ที่จะเดินทางในสายอาชีพนักเอนิเมชั่น คือ ขอให้ยึดถือเอกลักษณ์ ของ “เอนิเมชั่น” ไว้เสมอในการทำงานด้านนี้ นั่นคือ “การผสม ผสานกันระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์” ภายใต้กรอบความคิดที่เคารพในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่นด้วย"
ด้าน ดร.จรินทร์ สวนแก้ว ประธานมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช กล่าวว่า การแข่งขันในปีนี้ภายใต้หัวข้อ “เยาวชนรุ่นใหม่ ใฝ่ดี มีคุณธรรม” ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อหวังกระตุ้นเยาวชนไทยให้มีจิตสำนึกในการทำความดี ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือผู้อื่นด้วยจิตอาสา คิดดี ทำดี ซึ่งล้วนต้องเริ่มต้นที่ตนเองก่อน ดังนั้นการประกวดครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้พวกเขาคิดริเริ่มสร้างสรรค์แล้ว ยังส่งเสริมให้เยาวชนทำประโยชน์ตอบแทนแก่สังคมต่อไป และต้องขอขอบคุณ บมจ. อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต ที่ได้ยืนหยัด มั่นคง แน่วแน่เป็นเจ้าภาพหลักในการประกวดสร้างภาพเคลื่อนไหว โครงการ ไทยแลนด์ เอมิเนชั่น คอนเทสต์ 2012 มาโดยตลอดเป็นเวลา 6 ปี
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า สถาบันการศึกษานับว่ามีบทบาทสำคัญในการพัฒนานักเรียน นักศึกษา ให้มีความรู้และสามารถนำความรู้นั้นมาปฎิบัติได้จริง (Practicality) จนเกิดผลงานที่เป็นประโยชน์และสามารถสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม (Innovation) ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมตามยุคสมัย นอกจากนี้ การมุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้บริบูรณ์พร้อม กอปรด้วยคุณธรรมและจริยธรรม (Morality) จัดเป็นบทบาทหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของสถาบันการศึกษา สำหรับโครงการ “ไทยแลนด์ เอนิเมชั่น คอนเทสต์ 2012” ถือเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมงานด้านเอนิเมชั่นของไทยสู่เวทีสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอาเซียน และถือเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ทางสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์(PIM) ได้ร่วมจัดโครงการในปีนี้ซึ่งสอดคล้องกับปณิธานของสถาบัน โดยให้การสนับสนุนสถานที่จัดงาน มอบทุนการศึกษา และของที่ระลึกสำหรับผู้ชนะการแข่งขัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลงานของผู้ชนะการแข่งขันจะปรากฏสู่สังคมและช่วยสร้างจิตสำนึกให้ “เยาวชนรุ่นใหม่ ใฝ่ดี มีคุณธรรม” สมกับหัวข้อในปีนี้ครับ
การตัดสินในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากมืออาชีพด้านเอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกชั้นนำมาเป็นคณะกรรมการตัดสิน อาทิ คุณเจษฎา จงสุขวรากุล, หัวหน้างานพัฒนาวิชาชีพและเยาวชนไอที (FICS) ฝ่ายบริหารและสนับสนุนงานวิจัย (RMO), ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ดร.ดัชกรณ์ ตันเจริญ, รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี, สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คุณเปลว ศิริสุวรรณ, กรรมการผู้จัดการ บริษัท 3D-Sign Studios จำกัด คุณสันติ เลาหบูรณะกิจ, ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด คุณวิศิษฏ์ อรธนาลัย, บริษัท RiFF Animation จำกัด คุณณัฐจรัส เองมหัสกุล, Co-Editer นิตยสาร Computer Arts Thailand คุณรัฐ จำปามูล, บริษัท Sputnik Tales Studio จำกัด คุณวิทยา จันมา, ตำแหน่ง 2D Artist บริษัท the Bit Studioจำกัด คุณกฤษณ อัษดงษ์, Freelancer คุณโต (นิธิพัฒน์ สมสมาน) , กรรมการผู้จัดการบริษัท The Monk Studios จำกัด