กรุงเทพฯ--26 ต.ค.--
อุทัยธานีเตรียมจัดงานประเพณีตักบาตรเทโวอย่างยิ่งใหญ่เฉลิมฉลองปีพุทธชยันตี เพื่อสืบสาน เอกลักษณ์ความภาคภูมิใจของจังหวัด ด้วยกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยมีไฮไลท์คือการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด “เทโวโลกะไตร มหาไตรบารมี” คืนวันที่ 30 ต.ค.นี้ ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ส่วนเช้าวันที่ 31 จัดประเพณีตักบาตรเทโว
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี กล่าวว่า “ประเพณีตักบาตรเทโวที่วัดสังกัสรัตนคีรี เป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดที่จัดได้สอดคล้องกับตำนานในสมัยพุทธกาลมาก โดยมีบันได 499 ขั้น ทอดยาวจากมณฑปรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสะแกกรัง ลงสู่บริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรีซึ่งอยู่เชิงเขา เปรียบเสมือนบันไดทิพย์ที่พระอินทร์เนรมิตจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ทอดลงสู่เมืองสังกัสสะนคร พระภิกษุสงฆ์จากทุกอำเภอของอุทัยธานีจะเดินลงจากบันไดมารับบิณฑบาต ให้พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญ ตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง และข้าวต้มลูกโยนตามประเพณี ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง”
ทั้งนี้ ในช่วง 19.30 น. วันที่ 30 ต.ค. ซึ่งเป็นวันออกพรรษา จะจัดการแสดงแสง เสียง และสื่อผสม ชุด “เทโวโลกะไตร มหาไตรบารมี” นำเสนอเรื่องราวผ่านเทพธิดาสุพรรณิการ์ (ฝ้ายคำ) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ตั้งแต่การก่อร่างสร้างเมือง และความสำคัญของอุทัยธานีในด้านต่างๆ ทั้งการเป็นเมืองของสมเด็จพระปฐมบรมราชชนก (ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช) มีพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองคือ “พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์” สมัยสุโขทัย ที่รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้มาประดิษฐานที่อุทัยธานี ปัจจุบันอยู่ที่วัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งเป็นวัดสำคัญที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโว การแสดงชุดนี้มีความยาวประมาณ 1 ชั่วโมง นำแสดงโดย “พิ้งค์กี้” สาวิกา ไชยเดช รับบทเทพธิดาสุพรรณิการ์
“สำหรับวันที่ 31 นั้น จะเริ่มประเพณีตักบาตรเทโวในเวลา 09.00 น. โดยบรรดาพุทธศาสนิกชนจะร่วมทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง พร้อมทั้งข้าวต้มลูกโยนกันอย่างเนืองแน่น นอกจากนี้ยังมีการจัดขบวนแห่รถบุปผชาติเกี่ยวกับพุทธประวัติ ในเขตเทศบาลเมือง พร้อมทั้งจัดแสดงโต๊ะหมู่บูชาประดับด้วยงาช้างที่สวยงามอย่างยิ่ง ซึ่งมีให้ชมเฉพาะที่อุทัยธานีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น เนื่องจากสมัยก่อนอุทัยธานีเป็นเมืองที่ต้องจับช้างส่งไปให้กรุงศรีอยุธยาเป็นประจำ ทั้งยังเป็นเมืองทำไม้ซึ่งต้องใช้ช้างจำนวนมากช่วยในการชักลากซุง เมื่อช้างล้มก็เก็บงาเอาไว้ บ้านคหบดีส่วนใหญ่จึงมีงาช้างบ้านละหลายคู่เป็นมรดกตกทอด
มาถึงลูกหลาน ที่เก็บรักษาโดยประดับคู่กับโต๊ะหมู่บูชาประจำบ้าน ต่อมาเมื่อมีการจัดขบวนแห่รถพุทธประวัติในงานประเพณีตักบาตรเทโว ทางจังหวัดจึงเชิญชวนบ้านต่างๆ ที่มีงาช้าง มาร่วมจัดแสดงหรือประกวด เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเรา” นายกเทศมนตรีเมืองอุทัยธานี กล่าว