กรุงเทพฯ--27 ต.ค.--คอร์ แอนด์ พีค
ในโอกาสที่เดือนตุลาคมของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์เผยแพร่ความรู้โรคมะเร็งเต้านม ในปี 2555 นี้ รศ.พญ.สุดสวาท เลาหวินิจ หัวหน้างานโรคมะเร็ง กลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ และนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ซึ่งข้อมูลยังไม่เป็นที่รับรู้กันแพร่หลายนัก
มะเร็งเต้านมระยะลุกลาม ประกอบด้วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามเฉพาะที่ หรือมะเร็งเต้านมระยะที่ 3 ที่มีการแพร่กระจายจากเต้านมไปยังบริเวณใกล้เคียง เช่น ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ที่อยู่บริเวณนั้นหรือแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่ออื่นๆ ในบริเวณใกล้ๆ เต้านม เช่น บริเวณเหนือหรือใต้กระดูกไหปลาร้า และมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย หรือ ระยะที่ 4 ซึ่งมะเร็งที่มีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายที่อยู่ไกลออกไปจากเต้านม เช่น ที่ตับ ปอด กระดูก และสมอง
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย คิดเป็น ร้อยละ 47.8 ของมะเร็งทั้งหมดที่พบในผู้หญิง ในปี 2553 โดยพบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่กว่า 10,000 ราย และมีผู้ป่วยเสียชีวิตกว่า 4,500 ราย ขณะที่เรามีข้อมูลของมะเร็งเต้านมโดยรวม แต่สถิติของมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายยังมีอยู่จำกัด ในประเทศตะวันตกพบว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกจะพัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายในที่สุด สถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า อัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกคือระยะที่ 1ระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 ที่ไมมีการแพร่กระจายจากเต้านมไปยังบริเวณใกล้เคียง คือร้อยละ 93 เมื่อเปรียบเทียบกับ ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามซึ่งอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปี มีเพียงร้อยละ 15% จึงเห็นได้ว่ายังมีความจำเป็นในการพัฒนาการรักษาใหม่ๆที่จะช่วยชะลอการดำเนินโรคในผู้ป่วยกลุ่มนี้
ในปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมระลุกลามยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์จะรักษาผู้ป่วยโดยยับยั้งการลุกลามของโรคให้ช้าลง เพื่อให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยาวนานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษามะเร็งเต้านมระยะลุกลามนั้น ส่วนใหญ่เป็นการให้ยาฉีดหรือยารับประทานที่จะไปทั่วร่างกาย ยาที่ใช้ก็มีหลายกลุ่ม ได้แก่ ยาต้านฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด และยาในกลุ่ม Targeted Therapy หรือยามุ่งเป้า ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงที่เซลล์มะเร็ง การเลีอกการรักษาที่เหมาะสมยังขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างในตัวผู้ป่วยเอง เช่น ผู้ป่วยอยู่ในวัยหมดประจำเดือนแล้วหรือไม่ การตรวจพบตัวรับสัญญาณบนผิวเซลล์มะเร็ง ซึ่งตัวรับสัญญาณบนผิวเซลล์มะเร็งเหล่านี้ ได้แก่ ตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen receptor) ตัวรับฮอร์โมน โปรเจสเตอโรน (Progesterone receptor) และตัวรับเฮอร์ทู (HER2 receptor)ประมาณ 60-70 % ของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมทั้งหมด ตรวจพบเซลล์มะเร็งที่มีตัวรับฮอร์โมนเป็นบวก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยกลุ่มนี้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมน ซึ่งมี 2 แบบ คือการให้ยาที่ลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน และการให้ยาต้านฮอร์โมนโดยยาจะไปแย่งจับกับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนบนผิวเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตามผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่มีตัวรับฮอร์โมนบนเซลล์มะเร็งและได้รับการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จำนวนถึงร้อยละ 50 ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนในการรักษาขนานแรก และผู้ป่วยเกือบทั้งหมดที่ถึงแม้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนในขนานแรกแล้วก็จะเกิดภาวะดื้อต่อยาต้านฮอร์โมนหรือพบการลุกลามของโรคขึ้นในภายหลัง ซึ่งนับเป็นปัญหาที่สำคัญในปัจจุบันสำหรับการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตามอยากให้ผู้ป่วยทราบว่ามะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีวิธีการรักษาได้ในทุกระยะของโรค ทำให้ในปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่มีความหวังในการรักษาแม้ว่าจะเป็นระยะลุกลาม ปัจจุบันมีการวิจัยคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนายากลุ่มใหม่ที่จะยับยั้งกลไกที่ทำให้มะเร็งไม่ตอบสนองหรือดื้อต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนจึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะพัฒนาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะลุกลามให้ได้ผลดีขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยมีความหวังในการมีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้การตระหนักถึงโรคมะเร็งเต้านมและการไปรับการตรวจคัดกรองหาโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกโดยเฉพาะคุณผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปมีความสำคัญมากเนื่องจากโรคมะเร็งเต้านมระยะแรกสามารถรักษาหายขาดได้