กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--ศศินทร์
สำนักพิมพ์ที่อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันของตลาดต้องโดดเด่นและแตกต่าง นี่คือเหตุผลเดียวที่ทำให้นานมีบุ๊คส์มีผลงานอยู่บนแผงหนังสือตลอด 20 ปี และมีบทบาทในการผลิตหนังสือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบัลดาลใจให้กับผู้อ่าน การเปิดวิสัยทัศน์ของคิม จงสถิตย์วัฒนา ผู้บริหารสำนักพิมพ์รุ่นใหม่ ทำให้สังคมทราบว่าเพราะอะไรจึงไม่ผลิตหนังสือตามกระแสนิยม แต่เน้นหนังสือคุณภาพและมุ่งกิจกรรมพัฒนาเยาวชน และต่อยอดเพื่อส่งเสริมคนไทยรักการอ่าน นางสาวคิม จงสถิตย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด และรองผู้อำนวยการสถาบันนานมีบุ๊คส์ อินโนเวชั่น เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมาสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยร้อยละ 70 เป็นกลุ่มผู้อ่านอายุระหว่าง 0-18 ปี ความโดดเด่นของหนังสือเน้นเรื่องเนื้อหาที่มีคุณภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ ส่วนร้อยละ 30 เป็นการผลิตหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ที่เน้นเรื่องการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน ทั้งนี้นานมีบุ๊คส์มีความแตกต่างจากสำนักพิมพ์ อื่น ๆ อย่างชัดเจน เราไม่ได้ผลิตหนังสือตามกระแสความนิยมของผู้อ่าน แต่ได้มุ่งพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนได้รับความรู้ แม้ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูนก็มีเนื้อหาที่สอดแทรกความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และการส่งเสริมความรู้อื่นๆ ไม่ได้ผลิตหนังสือเพียงอย่างเดียว ยังจัดให้มีแคมป์วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก นอกจากนี้ยังมีโครงการนานมีบุ๊คส์ รีดดิ้งคลับส์ ซึ่งได้ทำต่อเนื่องมา 11 ปี โดยไม่ได้เน้นเรื่องการสร้างรายได้ให้กับสำนักพิมพ์ แต่ทำตามอุดมการณ์ของคุณแม่ นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา ที่ต้องการทำงานเพื่อส่งเสริมเยาวชนให้รักการอ่านและตอบแทนสังคม
“เราไม่ได้หยุดอยู่แค่การผลิตหนังสือเท่านั้น แต่ได้จัดกิจกรรมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้อ่านมาเข้าแคมป์เพื่ออบรมความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รวมทั้งความรู้ด้านบรรณารักษ์ โดยได้เปิดให้มี Nanmeebooks Learning Center ซึ่งเป็นศูนย์วิทยาศาสตร์ที่ปฏิบัติการร่วมกับประเทศเยอรมัน ทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนการทำงานกับสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ที่แตกต่างและพัฒนาเยาวชน รวมทั้งผู้อ่านทั่วไปให้มีความรู้ที่หลากหลาย เนื่องจากต้องการเป็นผู้นำทางการศึกษาในภาคเอกชน ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมาสามารถพูดได้ว่าเราเดินถูกทางและมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเรื่องการส่งเสริมการศึกษา”นางสาวคิมกล่าว
สำหรับภาพรวมธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันนี้ นางสาวคิมให้ความเห็นว่า แม้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยอ่านหนังสือ แต่ในฐานะคนผลิตหนังสือก็มีความหวังอยากเห็นคนไทยอ่านหนังสือมากขึ้น เพราะการอ่านจะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง และคาดหวังว่าสังคมไทยจะเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ จึงได้มุ่งเน้นผลิตหนังสือให้มีคุณค่าและมีความแตกต่าง รวมทั้งการจัดกิจกรรมต่อยอดจากการอ่าน และจัดค่ายศูนย์การเรียนรู้ เชื่อว่าจะเป็นกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนและส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น ทั้งยังมีโครงการจัดสัมมนาเพื่อพัฒนาการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ให้คนรุ่นใหม่เห็นความสำคัญของการอ่าน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและถูกที่สุดในการพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ในอนาคตประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เชื่อว่าจะเป็นผลดีที่ทำให้คนไทยมีโอกาสได้อ่านงานเขียนที่หลากหลายขึ้น และคนไทยควรเตรียมเรื่องภาษาอังกฤษ หรือภาษาที่สาม อาจเป็นภาษาจีน ขณะนี้นานมีบุ๊คส์ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลให้จัดทำหลักสูตรพิเศษสำหรับการใช้ภาษาอังกฤษให้กับผู้บริหารโรงเรียนต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาการดำเนินงานของสถาบัน Nanmeebooks Innovation ไม่ได้เน้นเรื่องการผลิตหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่จะนำความรู้ทางวิชาการสำหรับเด็กและเยาวชนมาแปลรูปเป็นกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดค่ายวิทยาศาสตร์ การจัดค่ายการอ่าน การจัดอบรมพัฒนาคุณครู เป็นต้น ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมานานมีบุ๊คส์ได้ซื้อลิขสิทธิ์หลักสูตรของ “กัก-เคน” ( Gakken ) ซึ่งเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงทางด้านการศึกษาของประเทศญี่ปุ่น และเป็นหลักสูตรที่จะทำให้เยาวชนระดับประถมศึกษารักวิทยาศาสตร์ โดยผ่านการทดลอง หลักสูตรนี้เรียกว่า “ห้องเรียนทดลองวิทย์” ขณะนี้กำลังบุกเบิกโครงการนี้อยู่ เพื่อเป็นหลักสูตรทางวิทยาศาสตร์ที่จะเสนอให้กับโรงเรียน ทั้งในรูปแบบของแผนการสอน การอบรมอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์สำหรับครู นอกจากนี้ยังนำมาเปิดสอนที่นานมีบุ๊คส์เป็นหลักสูตรวันเดย์แคมป์ ซึ่งเปิดสอนทุกวันเสาร์ที่ 2 และ 3 ของเดือน อย่างไรก็ตาม การเปิด Learning Center เพื่อให้ผู้ปกครองที่ต้องการสนับสนุนให้บุตรหลานเรียนวิทยาศาสตร์เกิดความสนุกจะเปิดสอนช่วงปิดเทอม ที่ผ่านมามีเด็ก ๆสนใจ เข้าแคมป์วิทยาศาสตร์จำนวนมาก นอกจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนที่มีวิสัยทัศน์ได้นำหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์จาก นานมี บุ๊คส์ ไปใช้แล้วจำนวน 75 โรงเรียน
เนื่องจากเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ซึ่งต้องสานต่อธุรกิจครอบครัว จึงต้องเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมเพื่อนำมาบริหารธุรกิจ ขณะนี้กำลังศึกษาต่อที่ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเพื่อนมาจากหลากหลายอาชีพ ทำให้ได้มุมมอง และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้หลากหลาย ในขณะเดียวกัน นอกจากนี้อาจารย์ผู้สอนมีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ ที่สำคัญสามารถนำความรู้มาใช้ในการบริหารธุรกิจได้จริง ทั้งนี้การทำงานจะประสบความสำเร็จได้เราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะในตำราเท่านั้น แต่ต้องศึกษาจากเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งเรียนรู้จากประสบการณ์ และต้องเปิดใจให้กว้างเพื่อรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการใหม่ในอนาคตของ นานมี บุ๊คส์ เดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ