กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สวทช.
สวทช. ร่วมกับ สถานพินิจฯ สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดโอกาสการเรียนรู้ด้านไอทีแก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ 5 แห่ง หวังสานต่อสร้างอาชีพนักออกแบบดีไซน์ พร้อมจัดกิจกรรมเยาวชนรุ่นใหม่...สร้างสรรค์ได้ด้วยไอที
สวทช. ร่วมกับ สถานพินิจฯ สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดโอกาสการเรียนรู้ด้านไอทีแก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจ 5 แห่ง หวังสานต่อสร้างอาชีพนักออกแบบดีไซน์ พร้อมจัดกิจกรรมเยาวชนรุ่นใหม่...สร้างสรรค์ได้ด้วยไอที
27 ตุลาคม 2555 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ : ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยนายฐานิส ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมเป็นประธานในงาน “เยาวชนรุ่นใหม่...สร้างสรรค์ได้ด้วยไอที” งานแถลงข่าวและการนำเสนอผลงานเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 5 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย บ้านกาญจนาภิเษก,บ้านบึง,บ้านอุเบกขา,บ้านกรุณา และบ้านปรานี เพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ให้เด็กและเยาวชนนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและศักยภาพทักษะด้านคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนรู้และการประกอบอาชีพ อันจะสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง และเป็นทางเลือกให้เยาวชนในการทำงานหรือเรียนต่อได้
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ รองประธานคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ กล่าวว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงตระหนักถึงประโยชน์ และความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพ และศักยภาพของเด็กไทยในชนบท เด็กป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต เพื่อการเรียนรู้ และประกอบอาชีพ เพื่อเป็นการสนองพระราชปณิธานของพระองค์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจัดทำโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2538 ที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสใน 4 ด้านคือ ด้านพัฒนาการศึกษา ด้านพัฒนาผู้ต้องขังในทัณฑสถาน เพื่อผู้พิการ และเพื่อเด็กป่วยในโรงพยาบาล และกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพในทุกมิติ จึงได้ร่วมมือกันระหว่าง โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จัดทำโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนขึ้น โดยกรมพินิจฯ คัดเลือกศูนย์ฝึกฯ เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5 แห่ง คือ 1) ศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก 2) ศูนย์ฝึกฯ บ้านกรุณา 3) ศูนย์ฝึกฯ บ้านปรานี 4) ศูนย์ฝึกฯ บ้านอุเบกขา และ 5) ศูนย์ฝึกฯ บ้านบึง เนื่องจากมองว่าการให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ นั้น มีเยาวชนอายุ 18 — 24 ปีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวัยที่น่าจะเรียนรู้เทคโนโลยีได้เร็ว อีกทั้งเยาวชนจะอยู่ในสถานพินิจฯ ไม่นาน ถ้าเยาวชนมีทักษะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ก็น่าจะนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ อาจพิจารณาจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้นที่เน้นสอนตามความต้องการของตลาดแรงงาน
ในการดำเนินงานที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์ประธานโครงการฯ พระราชทานอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกทักษะด้านคอมพิวเตอร์ให้แก่เยาวชน ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ เครื่อง Projector กล้องถ่ายรูป เป็นต้น เพื่อพัฒนาเยาวชนในสถานพินิจฯ ให้ได้รับความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ในระหว่างฝึกอบรม และให้เยาวชนได้ใช้เวลาว่างสร้างสรรค์ผลงานที่เกิดจากการฝึกทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ อันจะสร้างความภาคภูมิใจให้ตนเอง และเป็นทางเลือกให้เยาวชนในการทำงานหรือเรียนต่อได้ ซึ่งการทำงานได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสองหน่วยงานอันได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุญเลี้ยง แก้วนาพันธ์ จัดกิจกรรมฝึกอบรมให้เยาวชนในหลักสูตรการออกแบบกราฟฟิกและออกแบบสิ่งพิมพ์, การผลิตภาพยนต์สั้น, การถ่ายภาพเบื้องต้นเพื่อผลิต stopmotion และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทยจัดกิจกรรมฝึกอบรมให้เยาวชนในหลักสูตร “การเรียนรู้การเป็น Graphic Designer มืออาชีพ” ซึ่งเยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานมากมาย เช่น การออกแบบปฏิทิน,โปสเตอร์,การ์ดอวยพร, การทำนามบัตร, การออกแบบโลโก้, การตกแต่งภาพ และการทำ Presentation ต่างๆ เป็นต้น
ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้เปรียบเสมือนเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเยาวชนที่เข้าร่วมฝึกอบรมดังกล่าว ซึ่งจะนำไปสู่ความภาคภูมิใจในตนเองและสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนอื่นๆ ต่อไป อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้พ่อแม่และผู้ปกครองของเยาวชนได้รับรู้ถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของเยาวชน ผ่านรูปแบบการจัดกิจกรรมแสดงผลงานการออกแบบของเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจฯ 5 แห่ง พร้อมชมสาธิต การถ่ายภาพและตกแต่งภาพ การออกแบบตกแต่งนามบัตรสุดเก๋ การ์ดอวยพรโดนใจ และออกแบบลายสกรีนเสื้อ กระเป๋า ถุงผ้าสุดเท่ห์ ฯลฯ
นายฐานิส ศรียะพันธ์ อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการฯ ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีการจัดกิจกรรมหลายกิจกรรมเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกศูนย์ฝึกและอบรมฯ เข้าร่วมโครงการ การมอบวัสดุอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ การจัดกิจกรรมฝึกอบรม และการแสดงผลงานของเด็กและเยาวชน โดยศูนย์ฝึกและอบรมฯ ทั้ง 5 แห่ง ได้รับโอกาสและการสนับสนุนจากโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เป็นอย่างดีตลอดมา นอกเหนือจากเด็กและเยาวชนจะได้รับประโยชน์แล้ว ในส่วนของศูนย์ฝึกฯ ยังสามารถต่อยอดจากฐานความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมข้างต้น โดยศูนย์ฝึกฯ จะให้การสนับสนุนเยาวชนให้ได้แสดงความสามารถที่ตนเองมีอยู่ ในรูปแบบของหน่วยบริการด้านการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ให้กับเจ้าหน้าที่รวมถึงประชาชนที่เข้าใช้บริการจากศูนย์ฝึกฯ ด้วย ดังตัวอย่างศูนย์ฝึกฯ บ้านกาญจนาภิเษก ให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจหลายชิ้น ได้แก่ การผลิต postcard ของที่ระลึก, ภาพยนตร์แบบ Stopmotion เรื่องเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่น/โรคเอดส์/รณรงค์ยาเสพติด, การผลิตภาพยนต์สั้นของกิจกรรมวิเคราะห์ข่าว/กิจกรรมเรื่องเล่าจากหนังสือ ฯลฯ เพราะฉะนั้นคาดว่าในอนาคตศูนย์ฝึกฯ จะพยายามที่จะเปิดสอนหลักสูตรดังกล่าวให้กับเด็กและเยาวชนที่สนใจรุ่นต่อไป โดยเปิดเป็นหลักสูตรระยะสั้น 60 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถพัฒนาเยาวชนได้ไม่ต่ำกว่า 100 คน (10 รุ่นๆ ละ 10 คน) เนื่องจากมองว่าโครงการดังกล่าวส่งผลให้เยาวชนได้กล้าคิด กล้าแสดงออก เป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ปรับแนวความคิด เปิดมุมมองการใช้ชีวิต และการอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และนำความรู้ที่ได้รับมาสร้างผลงาน และนำเสนอผลงานผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งเด็กและเยาวชนสามารถนำความรู้ และทักษะที่ได้รับไปประกอบอาชีพได้ภายหลังการปล่อยตัว นายฐานิสฯ กล่าว
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
จุดประกายความคิด สร้างโอกาสธุรกิจไทย
ส่งมอบผลงานวิจัย พัฒนาไทยสู่สังคมฐานความรู้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ผู้ส่งข่าว นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์
ฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สวทช. โทร. ๐ ๒๖๔๔ ๘๑๕๐ ต่อ ๗๐๒,๗๐๙,๒๑๒-๒๑๘
โทรสาร ๐๒-๓๓๓๓๙๓๔
www.nstda.or.th , facebook nstdapr