กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
ม.หอการค้าไทย ร่วมกับหอการค้าไทย สำนักงานการปฎิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดกิจกรรม “เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในโครงการแก้จน แก้จริง ปฏิบัติการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท” หลังอบรมเกษตรรุ่นที่ 1 จำนวน 85 คนจาก 41 จังหวัด และจบโครงการแล้ว กว่า 30 คน ประสบผลสำเร็จสามารถสร้างรายได้สู่เศรษฐกิจและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย คนที่ 1 ในฐานะประธานโครงการลดความเหลื่อมล้ำของหอการค้าไทย กล่าวว่า “หอการค้าไทยและหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ในฐานะผู้นำภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับเกษตรกร จึงได้จัดทำโครงการลดความเหลื่อมล้ำขึ้น โดยในโครงการนี้ได้แบ่งเป็น 2 โครงการย่อย คือ โครงการ 1 ได้เงินไร่ 1 แสนบาท และโครงการ 1 บริษัท ดูแล 1 ชุมชน บนพื้นฐานแนวคิดที่ธุรกิจต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีการดูแลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน”
สำหรับ "โครงการ แก้จน แก้จริง ปฏิบัติการ 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท" เป็นโครงการต่อเนื่องของโครงการ 1 ได้เงินไร่ 1 แสนบาท โดยหอการค้าไทยได้ร่วมกับ 3 หน่วยงาน คือ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ซึ่งได้เริ่มต้นโครงการตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน 2555 เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรของประเทศให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยใช้พื้นที่แปลงนาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพื้นที่ต้นแบบในการดำเนินธุรกิจ (Business Model) ให้กับเกษตรกรได้นำไปใช้ในการพึ่งพาตนเองในระยะยาว
“โดยรูปแบบการดำเนินการนั้น ได้มีคัดเลือกเกษตรกรจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ มาเข้าร่วมโครงการ และได้ใช้พื้นที่ของ ม.หอการค้าไทยแห่งใหม่ จำนวน 100 ไร่ ให้เกษตรกรจำนวน 85 คนใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบ คนละ 1 ไร่ รวมทั้งพื้นที่ส่วนกลางอีกประมาณ 10 ไร่ ซึ่งทีมงานของหอการค้าไทยจะเป็นที่ปรึกษาในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตร คัดสรรปัจจัยการผลิต วัตถุดิบ เพื่อให้เกษตรกรต้นแบบนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดต่อ
ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ เป็นระยะเวลา 5 เดือน เพื่อสร้างต้นแบบการทดลองการปฎิบัติ ให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกิดการต่อยอดจากเกษตรกรต้นแบบไปสู่เกษตรกรคนอื่นๆ ทั่วประเทศ ช่วยให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง และมีรายได้มั่นคง
"โครงการ 1 ไร่ 1 แสน เป็นโครงการที่หอการค้าไทยได้ริเริ่มจัดทำขึ้นตั้งแต่ปี 2553 และได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำให้กับสังคมไทย และยังเป็นการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงทั้งประเทศ เรามั่นใจว่า เกษตรกรที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการนี้ จะได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำการเกษตร รวมทั้ง สามารถนำไปไปเผยแพร่ให้กับเกษตรกรอื่น ๆ ในท้องถิ่นต่อไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกรเกิดขึ้นได้จริง ๆ" นายอิสระกล่าว
รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า “โครงการแก้จน แก้จริง ปฏิบัติการทำนา 1 ไร่ ได้เงิน 1 แสนบาท ได้ร่วมกันดำเนินโครงการขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ตั้งเป้าเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านการเกษตรแก่เกษตรกรไทย โดยรวบรวมองค์ความรู้ในการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ และการใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนในการดำเนินงาน และพัฒนาให้เกษตรกร เรียนรู้การบริหารจัดการผลผลิตเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเอง และเกิดความเชื่อมั่นว่าอาชีพเกษตรกรรม สามารถสร้างรายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ซึ่งในวันนี้จะเป็นการเก็บเกี่ยวข้าวของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในรุ่นแรก ซึ่งจะจบหลักสูตรตามกำหนด 5 เดือนหรือ 150 วัน และหลังจากนี้นักวิชาการจาก ม.หอการค้าไทย จะทำการสรุปรวบรวมรายได้ของเกษตรกรทุกคนที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้ทั้งด้านกสิกรรม เช่น การปลูกข้าว การปลูกพืชสวนครัวและพืชไร่ ฯลฯ ด้านประมง เช่น การเลี้ยงปลาดุก ปลานิล กุ้งฝอย หอยขม และกบ และด้านปศุสัตว์ เช่น การเลี้ยงเป็ด ฯลฯ ซึ่งการทำการเกษตรแบบองค์รวมนี้จะช่วยสร้างผลผลิตและรายได้ให้กับเกษตรกรจากพื้นที่แปลงนา 1 ไร่ ให้เกิดรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนบาทได้จริงๆ และมุ่งหวังให้เกิดการเผยแพร่พัฒนาโครงการในท้องถิ่น ซึ่งหากเกษตรกรต้นแบบที่เข้ารับการอบรมโครงการ 1 คน สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับเกษตรกร 10 คนก็จะเกิดการกระจายความรู้และพัฒนาให้ชุมชนนั้นๆ สร้างรายได้และมีการพัฒนาและช่วยกระตุ้นการพัฒนาด้านเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้ต่อไป