กรุงเทพฯ--29 ต.ค.--สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ
งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 สำเร็จเกินคาด ผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.95 ล้านคน มั่นใจรายได้รวมเกิน 500 ล้านบาท นิยาย การ์ตูน สุขภาพติดอันดับหนังสือแนวนิช มาร์เก็ตมาแรงควรจับตา ส่วนเทรนด์อีบุ๊คใช้เวลาอีกนานกว่าจะครองตลาดหนังสือเมืองไทย
นายวรพันธ์ โลกิตสถาพร นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT)เปิดเผยถึงผลสรุปของการจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18-28 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่า ถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย เพราะจากที่ประเมินไว้ว่าน่าจะมีผู้เข้างานประมาณ 1.5 ล้านคน แต่เมื่อสรุปผลในวันสุดท้ายปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมงานถึง 1.95ล้านคน สูงกว่าที่คาดไว้ประมาณ 20% ส่วนยอดขายโดยรวมของงานนั้นน่าจะเกินกว่า 500 ล้านบาท โดยมีหนังสือออกใหม่ในงานนี้กว่า 3,000 ปก
“ประเภทที่ขายดีอันดับแรกยังคงเป็นนวนิยาย ถัดมาคือ การ์ตูน หมวดสุขภาพ หนังสือธรรมมะยังอยู่ในกระแส และหนังสือแนวประสบการณ์ชีวิตก็มียอดขายที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอัตชีวประวัติหรือประสบการณ์ของคนมีชื่อเสียงที่คนอ่านจะได้เรียนรู้ชีวิตด้วยทางลัด ไม่ต้องเรียนรู้บางอย่างด้วยตัวเอง มีอีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือการเติบโตของหนังสือในตลาดนิช มาร์เก็ต อาทิ การ์ตูนกลุ่มของเด็กผู้ชายที่มาแรงมากเพราะสำนักพิมพ์มีกลวิธีในการนำเสนอที่เข้าใจกลุ่มคนอ่าน เป็นนวัตกรรมในการนำเสนอ ในส่วนของตลาดนิยายก็พบว่าเด็กๆที่อ่านนิยายอายุลดลงกว่าเดิม ประมาณมัธยมต้นก็เริ่มอ่านแล้ว แสดงว่าเด็กโตเร็ว ขณะที่ตลาดหนังสือเด็กก็ขยายตัวอย่างชัดเจนสอดคล้องกับตัวเลขสถิติการอ่าน ผู้ปกครองให้ความสนใจมาก ด้านผู้ผลิตเองก็เชี่ยวชาญมากขึ้น ถือเป็นการยกระดับหนังสือเด็กบ้านเราและส่งเสริมการอ่านด้วย
การประสบความสำเร็จในครั้งนี้พิสูจน์ได้เลยว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือน้อย แต่เป็นเพราะโอกาสทางการอ่านมีไม่เท่าเทียมกันงานมหกรรมหนังสือเป็นสิ่งหนึ่งที่บอกได้ว่าถ้าเราสามารถทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่าย หนังสือดี ราคาไม่แพง ก็จะช่วยส่งเสริมการอ่านได้ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯเองก็เห็นถึงความสำคัญของการอ่านในต่างจังหวัด จึงพยายามขยายโอกาสตรงนี้ในจังหวัดต่างๆ อาทิ จ.อุบลราชธานี จ.ชลบุรี และในปีหน้านี้อาจจะมีการขยายไปยัง จ.สงขลา และจ.อุดรธานีอีกด้วย”
นายวรพันธ์ยังกล่าวอีกว่าสำหรับการเติบโตของธุรกิจหนังสือตนถึงสิ้นปีนี้นั้น คาดว่าน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5-7% โดยเป็นการประเมินจากตัวเลขรวมของธุรกิจหนังสือทั้งปี ซึ่งจะสอดคล้องกับค่าGDPของประเทศ
“GDP สะท้อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจเติบโต การศึกษาของคนสูงขึ้น รายได้มากขึ้นก็จะมาซื้อหนังสือมากขึ้นเช่นกัน”
ในส่วนของกระแสอีบุ๊คนั้น นายวรพันธ์มองว่ายังคงค่อนข้างนิ่งในประเทศไทยและเป็นช่วงของการเริ่มต้นแม้จะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม แต่มูลค่าส่วนแบ่งทางการตลาดยังไม่ถึง 1%
“ยังถือเป็นช่วงลองผิดลองถูก การที่อีบุ๊คในต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบอเมริกาและยุโรปเติบโตนั้นเป็นเพราะราคาของแท็บเล็ตเมื่อเทียบกับค่าครองชีพแล้วถือว่าถูกมาก และอีบุ๊คส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่เมืองไทยนั้นอำนาจในการซื้อเครื่องแท็บเล็ตยังต่ำและยังมีข้อแม้เรื่องของภาษาอีกด้วย แต่ถ้าหากการเครือข่ายสัญญาณ 3 G มีประสิทธิภาพมากขึ้น ราคาเครื่องถูกลง เนื้อหาภาษาไทยมากขึ้น ก็จะมีการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว แต่คงใช้เวลาอีกหลายปี” นายวรพันธ์กล่าว