กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--มหาวิทยาลัยคริสเตียน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง อธิการบดี มหาวิทยาลัยคริสเตียนได้รับคัดเลือกเป็น “บุคคลคุณภาพแห่งปี 2012”โดยมูลนิธิสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (มสวท.)ให้ได้รับโล่เกียรติยศ “บุคคลตัวอย่างภาคธุรกิจแห่งปี 2012 ภาคธุรกิจสถาบันการศึกษา” จาก ฯ พณฯ พลเอกพิจิตร กุลละวณิชย์ องค์มนตรี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง เป็นบุคคลตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งด้านหน้าที่การงานและด้านชีวิตส่วนตัว หลังจากที่ท่านสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Ph.D.in Community Health) จาก Texas Woman’s University สหรัฐอเมริกาและ ทำงานอยู่ในต่างประเทศกว่า 10 ปี ท่านได้รับรางวัล “Outstanding Women of Texas” ก่อนที่จะเดินทางกลับมาพัฒนาการศึกษาในประเทศไทยโดยได้รับแต่งตั้งจากมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีวิทยาลัยคริสเตียนตั้งแต่ปี 2534 และอธิการบดีมหาวิทยาลัยคริสเตียนในปี 2544 จนถึงปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทร์จิรา วงษ์ขมทองได้เป็นผู้ริเริ่มนวัตกรรมทางการศึกษาในหลายรูปแบบ อาทิการสร้างนวัตกรรมด้านการจัดการอุดมศึกษา การส่งเสริมการนำสื่อเทคโนโลยีสารสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มาใช้ในการเรียนการสอนทุกรายวิชารวมทั้งใช้ในการค้นคว้าวิจัยและบริหารจัดการ การวางระบบและดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาสำหรับมหาวิทยาลัยคริสเตียนตั้งแต่ปี 2540 การพัฒนาระบบโครงสร้างการบริหารจัดการของคณะวิชาและส่วนงานสนับสนุนวิชาการในสังกัด ทำให้เกิดการบริหารงานคุณภาพแบบองค์รวมทั่วทั้งองค์กร (ISO 9001:2001) การ ริเริ่มนำหลักการบริหารจัดการสมัยใหม่และการจัดหลักสูตรการศึกษาแบบสหวิทยาการ การสร้างเครือข่ายทางการศึกษาทั้งในระดับชุมชน ประเทศและนานาชาติ การริเริ่มนโยบายสร้างมาตรฐานการให้บริการที่เป็นเลิศ การริเริ่มจัดการเรียนรายวิชาพัฒนาศักยภาพการจำและพัฒนาศักยภาพการอ่านของนักศึกษา (Speed IQ and Speed Reading) การริเริ่มการเรียนรายวิชาพัฒนาจริยธรรมสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี การสอบวัดผลสัมฤทธ์ก่อนสำเร็จการศึกษาสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และประเมินทักษะการใช้ภาษาอังกฤษก่อนสำเร็จการศึกษา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทร์จิรา ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาระดับชาติและนานาชาติหลากหลายองค์กร อาทิ ได้รับการคัดเลือกเป็นนายกสมาคมมหาวิทยาลัยและ วิทยาลัยคริสเตียนในภูมิภาคเอเชีย Association of Christian Universities and Colleges in Asia (ACUCA) ซึ่งในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งท่านได้ช่วยผลักดันความร่วมมือในการพัฒนาสถาบันในเครือข่ายมหาวิทยาลัยคริสเตียนอย่างต่อเนื่อง ท่านได้รับเลือกตั้งเป็น President of Asia Pacific Student Services Association (APPSA) ซึ่งท่านได้ให้ความสำคัญในการบูรณาการกิจกรรมพัฒนานักศึกษานอกหลักสูตรกับการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาให้นักศึกษามหาวิทยาลัยในเครือข่ายเอเชียและแปซิฟิกให้เกิดการเรียนที่สมบูรณ์ ปัจจุบัน ท่านดำรงตำแหน่งประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Chair of Southeast Asia Council of International Association of University Presidents (IAUP) นอกจากนี้ท่านยังเคยได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการในคณะกรรมการ International Quality Assurance Commission ของ IAUP
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทร์จิรา วงษ์ขมทอง เป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันการสร้างวิทยาเขตหลักของมหาวิทยาลัย คริสเตียนที่จังหวัดนครปฐม และได้ดำเนินการพัฒนาทางกายภาพของมหาวิทยาลัยฯ มาอย่างต่อเนื่องจนมหาวิทยาลัย คริสเตียนกลายเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่น่าอยู่อาศัยและด้วยได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหัวใจในการพัฒนาการอุดมศึกษาในยุคปัจจุบันเพื่อผลักดันให้เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความทันสมัยมากด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
มหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นสถาบันอุดมศึกษาหลักที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตพยาบาลและบุคลากรสายวิทยาศาสตร์สุขภาพขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและ ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 มาตั้งแต่ปี 2534 โดยได้ปรับปรุงหลักสูตรที่ใช้ภาษาไทยเป็นสื่อการเรียนการสอนในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะหรือ สมรรถนะ (Compentency)สากล มหาวิทยาลัยคริสเตียนเป็นสถาบัน อุดมศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่ใช้สมรรถนะวิชาเป็นเป้าหมายในการจัดการศึกษา (Competency-based)และการผลิตบัณฑิต นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทร์จิรา ยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อการสอนสำหรับนักศึกษาทุกชั้นปี เพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่การเปิดหลักสูตรนานาชาติซึ่งเป็นความสำเร็จของมหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา เพื่อเตรียมความพร้อมและความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียนมากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยยังได้ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมอาเซียนโดยเร่งรัดสนับสนุนให้อาจารย์ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ จัดเวทีสัมมนาวิชาการระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอกเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และ ให้ความรู้เกี่ยวกับเซ็กเตอร์อุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้บัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตที่จะออกไปเป็นผู้ประกอบการหรือผู้บริหารให้สามารถรับมือและมีความได้เปรียบในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน