กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--ก.ไอซีที
นายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวถึงการประชุมระดับโลกว่าด้วยโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ค.ศ. 2012 ที่จะจัดขึ้นปลายปีนี้ ว่า สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ได้กำหนดจะจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ค.ศ. 2012 หรือ World Conference on International Telecommunications 2012 (WCIT - 12) ระหว่างวันที่ 3 - 14 ธันวาคม 2555 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) จากประเทศสมาชิกของ ITU จำนวน 193 ประเทศทั่วโลก ได้มาร่วมกันพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Regulations : ITRs) เนื่องจาก ITRs ฉบับที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นฉบับแก้ไขเมื่อปี ค.ศ. 1989 จึงทำให้มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ของกิจการโทรคมนาคมระหว่างประเทศในปัจจุบันที่ได้พัฒนาไปอย่างมาก และจะมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขในระหว่างการประชุม WCIT-12
“ในช่วงที่ผ่านมาได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไข ITRs รวมถึงการแสดงความกังวลของหน่วยงานด้านโทรคมนาคมและ ICT เกี่ยวกับเนื้อหาของ ITRs ที่จะมีการแก้ไข โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการให้บริการและการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย จึงมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ให้กระทรวงไอซีที พิจารณากำหนดท่าทีของไทยในประเด็นดังกล่าวอย่างรอบคอบและรู้เท่าทันถึงผลดี/ ผลเสียของข้อเสนอในการแก้ไข ITRs ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องอินเทอร์เน็ตซึ่งประเทศต่างๆ จะเสนอต่อที่ประชุม WCIT-12 เพื่อพิจารณา ดังนั้น กระทรวงฯ จึงขอแจ้งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของไทย เช่น ผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตและประชาชนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตว่า กระทรวงฯ ได้มีการเตรียมการสำหรับการเข้าร่วมการประชุม WCIT-12 มาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดท่าทีของประเทศไทยต่อข้อเสนอในการแก้ไข ITRs ประเด็นต่างๆ และกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาการแก้ไขข้อบังคับโทรคมนาคมระหว่างประเทศสำหรับการประชุม WCIT-12 ที่ประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีรองเลขาธิการสำนักงาน กสทช. ทำหน้าที่ประธานคณะทำงานฯ เพื่อทำหน้าที่เตรียมการในส่วนของประเทศไทยสำหรับการเข้าร่วมการประชุม WCIT-12 ซึ่งรวมถึงการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อกำหนดท่าทีของไทยต่อการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดของ ITRs” นายไชยยันต์ กล่าว
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาข้อเสนอต่อการแก้ไข ITRs จะทำในระดับประเทศโดยการหารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอในระดับภูมิภาค โดยในส่วนของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะผ่านองค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Telecommunity หรือ APT) ซึ่งมีประเทศสมาชิก 38 ประเทศ เพื่อกำหนดท่าทีและพิจารณาข้อเสนอที่จะเสนอในนามของประเทศสมาชิก APT เพื่อให้ที่ประชุม WCIT - 12 พิจารณา โดย APT ได้จัดประชุมเตรียมการ WCIT - 12 ไปแล้ว 4 ครั้ง และได้ข้อเสนอร่วมในนามประเทศสมาชิก APT (APT Common Proposal) จำนวน 64 ข้อเสนอ ซึ่งข้อเสนอส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขถ้อยคำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่ขัดแย้งกับที่กำหนดไว้ในธรรมนูญและอนุสัญญาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ข้อเสนอของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกไม่ได้มีข้อเสนอใดเกี่ยวกับการเก็บค่าบริการอินเทอร์เน็ตแต่อย่างใด และท่าทีของประเทศไทยก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนการเพิ่มคำว่า “ICT” เข้าไปใน ITRs เนื่องจากในธรรมนูญและอนุสัญญาสหภาพฯ ไม่ได้มีการกำหนดคำนิยามของ “ICT” ทั้งนี้ APT กำหนดจะจัดการประชุมเตรียมการฯ ครั้งสุดท้าย ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2555
“ส่วนท่าทีของภูมิภาคอื่นๆ คือ อเมริกา ยุโรปตะวันตก ยุโรปตะวันออก อาหรับ และแอฟริกา นั้น ก็ได้มีการพิจารณากำหนดท่าทีของแต่ละภูมิภาค โดยจากข้อมูลที่ได้รับทราบมาพบว่า ในประเด็นเรื่องอินเทอร์เน็ต นั้น มีกลุ่มประเทศบางกลุ่มซึ่งมีเป็นส่วนน้อย ได้รับผลกระทบด้านลบจากการใช้อินเทอร์เน็ต และต้องการกำหนดให้มีการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต ใน ITRs โดยในการประชุม WCIT - 12 จะมีการพิจารณาข้อเสนอของแต่ละภูมิภาคและประเทศต่างๆ ซึ่งอาจมีการรวมข้อเสนอระหว่างภูมิภาค หรือหากมีข้อเสนอใดไม่มีเสียงสนับสนุนเพียงพอก็จะตกไป ทั้งนี้ เนื่องจาก ITRs เป็น International Treaty จึงต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ และเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกตั้งข้อสงวน (reservation) ได้
การประชุม WCIT-12 นี้ จะเป็นการประชุมที่ประเทศสมาชิก ITU 193 ประเทศ ประสงค์จะส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ และต้องมีหนังสือตราสารแต่งตั้งผู้แทน (Credentials) เพื่อมอบอำนาจแก่ผู้แทนเข้าร่วมการประชุมฯ ในการให้ความเห็น ลงคะแนนเสียง และลงนามในกรรมสารสุดท้าย (Final Acts) ซึ่งจะเป็นผลของการประชุม WCIT-12 ทั้งนี้ ตามอนุสัญญาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศกำหนดให้ผู้ที่มีอำนาจลงนามในตราสารแต่งตั้งผู้แทนที่จะเข้าร่วมการประชุม WCIT ได้แก่ ผู้นำประเทศ ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบการประชุม WCIT ซึ่งในกรณีของประเทศไทยคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ในส่วนของขั้นตอนของการมีผลบังคับใช้ ประเทศสมาชิกใดที่ต้องการเข้าเป็นภาคี ITRs ฉบับแก้ไขใหม่ ซึ่งจะผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุม WCIT-12 ก็จะต้องให้สัตยาบัน (ratify) ในภายหลัง โดยจะต้องมีจำนวนประเทศสมาชิกให้สัตยาบันไม่น้อยกว่าที่ ITU กำหนด จึงจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ ก่อนการให้สัตยาบัน แต่ละประเทศก็จะมีขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย ก็จะต้องนำผลการประชุม WCIT-12 มาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการเพื่ออนุวัติการโดยไม่ให้ขัดกับกฎหมายภายในประเทศ ก่อนเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
“กระทรวงฯ จะมีการดำเนินการเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลความเห็น รวมทั้งข้อกังวลใจ โดยการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเผยแพร่และให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ITU, ITRs และการประชุม WCIT-12 ตลอดจนท่าทีของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงฯ ได้ข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการประชุม WCIT-12 และขอให้ทุกฝ่ายมีความมั่นใจว่า การตัดสินใจแสดงท่าทีใดๆ ของคณะผู้แทนไทยที่จะเข้าร่วมการประชุม WCIT-12 นั้น จะคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับภาคโทรคมนาคม/ICT ของไทยทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ประกอบการ และประชาชนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมและ ICT รวมทั้งจะยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศในภาพรวมเป็นหลักอย่างแน่นอน” นายไชยยันต์ กล่าว