กรมสุขภาพจิต ลดช่องว่าง! ให้ผู้ป่วยจิตเวช เข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น

ข่าวทั่วไป Tuesday October 30, 2012 11:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--กรมสุขภาพจิต “ผู้ป่วยจิตเวช”หมายถึงผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติของจิตใจที่แสดงออกมาทางพฤติกรรม อารมณ์ ความคิด ความจำ สติปัญญา ประสาทการรับรู้ หรือการรู้เวลา สถานที่ หรือบุคคล รวมทั้งอาการผิดปกติของจิตใจที่เกิดจากสุราหรือสารอื่นที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และจากข้อมูลการสำรวจของราชวิทยาลัยจิตแพทย์และสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตพบว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยจิตเวชทั้งหมดประมาณ 12 ล้านคน โดยแบ่งเป็น โรคจิตเภท ประมาณร้อยละ 0.5-1.0 หรือ 300,000 — 600,000 คน โรคซึมเศร้า ร้อยละ 1-2 หรือ 600,000 — 1.2 ล้านคน โรคอารมณ์แปรปรวน ร้อยละ 0.4 หรือ 240,000 คน นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า“ปัญหาโรคทางจิตเวช”เป็นปัญหาที่มีความชุกสูงในทุกภูมิภาคทั่วโลกโดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง และเป็นปัญหาที่สร้างภาระให้แก่ประเทศไทยไม่น้อย เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านการรักษาได้น้อยและไม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริการด้านยามีเพียงร้อยละ 4 หรือประมาณ 480,000 คน เท่านั้น ทั้งนี้เป็นเพราะทรัพยากรที่ใช้ในการจัดการปัญหามีจำกัด เช่น การกระจายของสถานบริการ และบุคลากรผู้ให้บริการโดยเฉพาะจิตแพทย์ที่มีแต่อยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวช รวมทั้งการขาดแคลนบริการฟื้นฟูด้านจิตสังคมแก่ผู้ป่วย อีกทั้งประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจและมีทัศนคติด้านลบต่อบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ทำให้บุคคลดังกล่าวไม่ได้รับการบำบัดรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม เป็นเหตุให้ความผิดปกติทางจิตทวีความรุนแรงขึ้น มีพฤติกรรมที่แสดงออกที่น่าจะก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของตนเองหรือผู้อื่น กรมสุขภาพจิตจึงได้ผลักดันให้มีการออก พรบ.สุขภาพจิตขึ้นในปี พ.ศ.2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2551 เพื่อการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้ป่วยจิตเวชและสังคม กำหนดกระบวนการในการให้การบำบัดรักษาบุคคลที่มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งได้แก่ กระบวนการสั่งให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล กรณี พบว่า บุคคลมีความผิดปกติทางจิตตกอยู่ในภาวะอันตราย หรือสังคมตกอยู่ในภาวะอันตราย กระบวนการการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยมีลักษณะเป็นสิทธิมนุษยชน โดยเมื่อญาติหรือผู้ที่พบเห็นสามารถแจ้งเจ้าพนักงาน เช่น ตำรวจ หรือ เจ้าพนักงานในสถานพยาบาลโรงพยาบาลเพื่อให้นำตัวบุคคลที่มีแนวโน้มจะเป็นอันตราย เข้ารับการรักษาได้เป็นกลยุทธ์ในการขยายวิธีการดูแลช่วยเหลือผู้ที่มีความผิดปกติทางจิต ให้ครอบคลุมตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก ให้มีสิทธิได้รับการบำบัดรักษาตามมาตรฐานทางการแพทย์ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยและการบำบัดรักษาไว้เป็นความลับ เว้นแต่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้เปิดเผยได้ และจะต้องได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสุขภาพและประกันสังคม และระบบอื่นๆ ของรัฐอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ด้านนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าการที่ผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ไม่สามารถเข้าถึงบริการที่เหมาะสม ส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อระบบสุขภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ พบว่าการเจ็บป่วยทางสุขภาพจิตด้วยโรคเรื้อรังเข้าถึงบริการประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ โรคซึมเศร้าอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่ตัวผู้ป่วย แต่ยังรวมไปถึงญาติ ผู้ดูแล และบุคคลอื่นในสังคม ผู้ป่วยจิตเวช มักขาดโอกาสและขาดการสนับสนุนในสังคม ทำให้ตกเป็นเหยื่อในรูปแบบต่างๆ หรือเสี่ยงต่อการก่อคดีอุกฉกรรจ์ที่สำคัญ ยังพบอีกว่าญาติหรือผู้ดูแลผู้ป่วย ก็ได้รับผลกระทบด้านสุขภาพกาย และใจ เศรษฐกิจ สังคมประชาชนต้องมีทรรศนะคติที่ดี ให้คิดว่าการเจ็บป่วยทางจิตเวชนั้นเป็นเรื่องเจ็บป่วยที่สามารถรักษาให้หายขาดได้เมื่อก่อนศูนย์บริการสุขภาพจิตมีอยู่เพียง 18 แห่ง แต่ต้องดูแลถึง 77 จังหวัด แต่ในปี 2556 เป็นต้นไป ทางกรมสุขภาพจิตจะขยายการให้บริการอย่างกว้างขวางเพิ่มมากขึ้น ทางกรมฯมีนโยบายที่จะกระจายกำลังเพื่อออกหน่วยและจัดการอบรมบุคลากร เพื่อไปประจำการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดูแลสุขภาพจิตอยู่ที่ รพสต.ทั่วประเทศ จำนวน 2 คน ต่อ 1 รพ.สต. โดยจะส่งเสริมให้มีพยาบาลที่ได้รับการอบรมในเรื่องของจิตเวชซึ่งแต่ละท่านจะต้องผ่านการอบรมนานกว่า 4 เดือน สามารถดูแลส่งเสริมและคัดกรองเบื้องต้น และให้ยาเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยขาดยาได้ หากการรักษามีความยุ่งยากซับซ้อนก็จะให้มีการส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจิตเวช ปัจจุบันมีสถานพยาบาล 70 แห่งทั่วประเทศ ที่จัดเป็นสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต ซึ่งการนำผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาไม่เพียงแค่เป็นความรับผิดชอบของ กรมสุขภาพจิต เท่านั้น กรมสุขภาพจิตยังสนับสนุนให้ชุมชนสามารถเป็นกำลังเข้มแข็งสำคัญ ในการสอดส่องดูแล และเป็นหูเป็นตา ในเรื่องของการเข้าถึงบริการ จึงขอความร่วมมือไปยังประชาชนทุกคน เมื่อพบเห็นผู้ป่วยทางจิต สามารถติดต่อนำผู้ป่วยเพื่อเข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ