เด็กไทยวัยโจ๋พิชิต 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากคอมพิวเตอร์โอลิมปิกโลก

ข่าวเทคโนโลยี Monday September 20, 2004 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สสวท.
คณะผู้แทนประเทศไทยจำนวน 4 คน พิชิต 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 2 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก ระหว่างวันที่ 11-18 กันยายน 2547 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน 2547 ที่ผ่านมา ด้วยเที่ยวบิน TG947 เวลา 06.05 น. ทั้งนี้ สสวท.ได้จัดพิธีรับผู้แทนประเทศไทยในวันดังกล่าว ที่อาคาร 1 สนามบินดอนเมืองด้วย
นายพิศาล สร้อยธุหร่ำ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) แจ้งว่า คณะผู้แทนประเทศไทยจำนวน 4 คน ที่เข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระหว่างวันที่ 11-18 กันยายน 2547 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ได้แก่
นายวสันต์ เจียรมณีทวีสิน โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เหรียญทอง
นายปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก เหรียญเงิน
นายชาณิน เลาหพันธุ์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เหรียญทองแดง
นายอนรรฆ ยอดภิญญาณี โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัย เหรียญทองแดง
ศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
(ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา)
โดยมีประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกในปีนี้ประมาณมากกว่า 80 ประเทศ
นายวสันต์ เจียรมณีทวีสิน (บอนนี่) กล่าวว่า คอมพิวเตอร์เป็นวิชาที่ตัวเองถนัดและชอบมากจึงทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก เทคนิคการเรียนก็คือพยายามตั้งใจเรียนในห้อง ถ้าหมดคาบเรียนแล้วไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามอาจารย์ พยายามอย่าให้มีอะไรที่ยังไม่เข้าใจค้างคาไว้ เพราะเราจะต้องมาทำความเข้าใจด้วยตัวเองภายหลัง แล้วจะทำให้เรียนไม่ต่อเนื่องกับคาบเรียนต่อไป ก่อนหน้านี้บอนนี่เคยเขียนโปรแกรมเพื่อความบันเทิง Xavarien-The Crisis of Gaia ในการแข่งขันประกวดซอฟตท์แวร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 6 (NSC2004) ได้รับรางวัลชนะเลิศและถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งบอนนี่บอกว่าภูมิใจและมีความสุขกับการเขียนโปรแกรมนี้มาก เพราะชอบเขียนโปรแกรมประเภทนี้อยู่แล้ว "อนาคตผมตั้งใจจะทำงานในสาขาคอมพิวเตอร์ โดยอาจจะร่วมกับเพื่อนเปิดบริษัทซอฟท์แวร์เพื่อคนไทยหรือเป็นนักวิจัย และที่แน่ๆ ผมจะทำงานในประเทศไทยแน่นอน ผมได้ประสบการณ์มากมายจากการไปแข่งขันครั้งนี้ได้เพื่อนได้ภาษา ได้ความรู้ และได้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยครับ"
นายปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์ (แบด) เล่าว่า ตนเองชอบเรียนคอมพิวเตอร์ตั้งแต่เด็ก เริ่มจากเล่นเกมคอมพิวเตอร์จนเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ครอบคัวให้อิสระในการเรียนรู้ ให้เลือกทำในสิ่งที่ชอบ พ่อแม่ไม่เคยบังคับว่าต้องได้เกรดดีมากหรือจะต้องเป็นอันดับสูงสุดของชั้นทำให้รู้สึกสบายใจต่อการเรียน ไม่กดดัน และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เราทุ่มเทกับสิ่งที่ชอบอีกด้วย ส่วนเคล็ดลับการเรียนนั้นจะต้องเรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ ศึกษาสิ่งต่างๆ ด้วยการทดลอง จะช่วยให้เราเข้าใจในสิ่งที่เรียนอยู่ได้ และหาประสบการณ์ภายนอกในวิชาที่เราชอบด้วยก็จะดี ตนเองรู้สึกภูมิใจที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกซึ่งเป็นความฝันในวันเด็กที่สามารถทำได้สำเร็จ "ผมจะนำประสบการณ์จากการแข่งขันครั้งนี้มาใช้พัฒนาศักยภาพเพื่อสร้างผลงานใหม่ๆ ในประเทศต่อไป โดยอนาคตผมอยากจะพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เป็นแบรนด์เนมของไทย หรือสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้คนไทยใช้ เด็กไทยควรจะลองเปิดโอกาสให้ค้นหาตัวเองให้เจอจะได้พัฒนาตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
นายชาณิน เลาหพันธุ์ (เดฟ) กล่าวว่า ตั้งแต่เด็กแล้วผมชอบเรียนทุกวิชาพอๆ กัน เพราะแต่ละวิชาก็มีสิ่งน่าสนใจในตัวเอง การเขียนโปรแกรมเป็นสิ่งที่สนุก ต้องอาศัยการลำดับความคิดที่ดี เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าสนใจ เคล็ดลับการเรียนที่สำคัญก็คือจะต้องตั้งใจฟังอาจารย์สอน และหมั่นทบทวนเนื้อหาบทเรียนที่อาจารย์สอนในแต่ละวัน "ประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการโอลิมปิกวิชาการทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้ความชำนาญและพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก นอกเหนือจากนั้นก็คือประสบการณ์ในการแข่งขัน การปรับตัว ได้ฝึกความขยัน อดทน ความคิดและวิสัยทัศน์ที่ดีขึ้น สิ่งเหล่านี้ผมสามารถนำไปใช้ในการเรียนและการดำเนินชีวิตได้ที่พอสมควรเลยครับ การไปแข่งโอลิมปิกวิชาการในครั้งนี้ผมหวังว่าจะเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เด็กไทยและคนไทยเห็นความสำคัญของการศึกษาวิทยาศาสตร์มากขึ้นครับ"
นายอนรรฆ ยอดภิญญาณี (มิกกี้) บอกว่า อยากให้เพื่อนๆ นักเรียนลองเข้าร่วมการสอบแข่งขันต่างๆ ในด้านที่ตัวเองสนใจ เพื่อวัดระดับความสามารถของตัวเองและเป็นการฝึกประสบการณ์ด้วย โดยทำให้ดีที่สุดแล้วยอมรับผลที่ออกมาให้ได้ ตัวเองนั้นชอบเรียนคณิตศาสตร์ ต่อมาภายหลังจึงได้ใช้พื้นฐานคณิตศาสตร์มาใช้ในวิชาคอมพิวเตอร์ การเรียนของตัวเองนั้นไม่ได้มีเคล็ดลับอะไร เพียงแต่จำเป็นต้องศึกษาเนื้อหาตัวเองก่อนเรียน ตั้งใจเรียน ทบทวนและทำแบบฝึกหัด ไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษอะไร แต่ที่สำคัญคือการหมั่นฝึกฝนกับการค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะจะทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น "อนาคตผมวางแผนว่าจะรับทุนโอลิมปิกวิชาการจาก สสวท. ไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แล้วกลับมาทำงานในประเทศไทย"--จบ--
--อินโฟเควสท์ (กภ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ