กรุงเทพฯ--30 ต.ค.--EGCO Group
โรงเรียนบ้านเกาะพลวย จ.สุราษฎร์ธานี เป็นโรงเรียนระดับอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาตอนต้นแห่งหนึ่งทั่วไป … แต่ที่น่าสนใจคือเป็น “โรงเรียนเพียงแห่งเดียว” ที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลขนาดพื้นที่ 15.8 ตารางกิโลเมตร พื้นที่เกาะครึ่งหนึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง คือ ที่ตั้งของ “เกาะพะลวย” เกาะที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นเกาะต้นแบบพลังงานสะอาดแห่งแรกของไทย
“เมื่อก่อน เกาะพะลวยนี้ ยังไม่มีชุมชนอาศัยอยู่ แต่เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร ชาวพะลวยรุ่นแรกจึงตัดสินใจฝ่าคลื่นลมมาลงหลักปักฐานที่นี่กัน และเมื่อบ้านเริ่มลงหลักอยู่ได้อย่างมั่นคงแล้ว ทุกคนเริ่มคิดถึงลูกหลาน เพราะหลายครอบครัวต้องทิ้งไว้กับญาติพี่น้องในบ้านเดิมเพื่อให้เล่าเรียน บ้างก็ต้องให้เดินทางข้ามเกาะไปเรียน ซึ่งเวลานั้นการเดินทางลำบากมาก และไม่สะดวก จึงคิดถึงการสร้างโรงเรียนบนเกาะ … ทุกคนตกลงกันว่า เลือกที่บริเวณเนินเขานี้เพราะเป็นศูนย์กลางที่คนจากทุกอ่าวเดินมาที่นี่อย่างเสมอภาคกัน” คุณลุงสุรินทร์ จิตรมุ่ง อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เล่าให้ฟัง
“เด็กๆ บนเกาะนี้ คงจะขาด ‘โอกาสทางการศึกษา’ ถ้าบรรพบุรุษผู้ตั้งรกรากกว่า 8 รุ่นของพวกเขา ไม่ได้คิดถึงลูกหลาน” พีระพล สาระคง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะพลวย เล่าว่า “โรงเรียนบ้านเกาะพลวย ใช้เงินเรี่ยไรจากชาวบ้านได้เงินมา 3,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินและสร้างโรงเรียน และใช้เวลากว่า 3 ปีในการขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนบ้านเกาะพลวยแห่งนี้ ต่อมาได้รับพระราชทานทุนทรัพย์จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี หรือสมเด็จย่า จำนวน 10,000 บาท ให้ชาวชุมชนก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรกของโรงเรียนบ้านเกาะพลวย เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเยี่ยมเยียนชาวเกาะพะลวยในปี 2512 โดยอาคารเรียนสมเด็จย่า ได้ถูกเปิดใช้งานในวันที่ 1 พฤษภาคม 2512 และเป็นวันแรกของการเปิดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านเกาะพลวย”
จากวันนั้น นับเป็นเวลากว่า 43 ปีแล้ว อาคารสมเด็จย่า ได้ถูกบูรณะขึ้นมาอีกครั้งในรูปแบบเดิม ภายใต้ภารกิจใหม่คือ “ศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด โรงเรียนบ้านเกาะพลวย” ในโครงการ Green School ซึ่งริเริ่มดำเนินการโดย บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งอาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งด้านการศึกษาสำหรับชุมชนเกาะพะลวย ภายใต้โครงการต้นแบบเกาะพลังงานสะอาด ของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานสำหรับชุมชนเกาะพะลวย
ณรงค์ อินเอียว ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกลยุทธ์และบริหารองค์กร เอ็กโก กรุ๊ป เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ Green School หรือโครงการพัฒนาโรงเรียนเพื่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพลังงานว่า “เราใช้เวลากว่า 2 ปีในการมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวเกาะพะลวย ด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ใน 2 ส่วน ส่วนแรก คือการบูรณะอาคารสมเด็จย่า โดยความร่วมมือของชุมชนพะลวยเองด้วย ให้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งเป็นห้องสมุดชุมชน เป็นสถานที่สำหรับจัดประชุมและทำกิจกรรมชุมชน มีแผนที่ชุมชนซึ่งพัฒนาขึ้นโดยชาวพะลวยเอง และนิทรรศการสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด
อีกส่วนหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน โดยให้ความสำคัญกับชุมชนบนเกาะในการเข้ามามีส่วนร่วมให้ความรู้ในฐานะภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมให้ครูออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด โดยใช้องค์ความรู้จากโครงการลดโลกร้อน ด้วยวิถีพอเพียง ที่เอ็กโก ดำเนินงานร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักนวัตกรรมการศึกษา สพฐ. มากว่า 4 ปี ก่อนหน้านี้”
พีระพล ย้ำว่า “พวกเรา ทั้งครู นักเรียน และชุมชน ได้มีส่วนร่วมตลอด โดยทางเอ็กโก และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จะเป็นคนนำกระบวนการในการวิเคราะห์ความเป็นตัวตนของชุมชนเรา วิถีชีวิตของเราออกมา หาจุดอ่อนจุดแข็งของหมู่บ้านร่วมกันกับชุมชน พอเราได้สิ่งเหล่านี้แล้ว ก็นำมาจัดทำแผนการเรียนการสอนของโรงเรียน และนำความรู้ใหม่ๆ เข้ามาบูรณาการกับความรู้ดั้งเดิมของเรา บูรณาการเรื่องสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนเข้ากับสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรของโรงเรียน
นอกจากนี้ ยังใช้ระบบนิเวศน์และแหล่งเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนในอ่าวต่างๆ ของชุมชนเป็นฐานความรู้ โดยได้พัฒนาเป็นแผนการเรียนรู้ 4 แผนในพื้นที่ 4 อ่าวทั่วทั้งเกาะ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ การจัดการขยะ การอนุรักษ์ป่าชายเลน และการอนุรักษ์ต้นเทียน”
ปาริชาต ทองโชติ พี่ใหญ่ ม.3 ของโรงเรียนบ้านเกาะพลวย เล่าว่า “คุณครูจะพาเราไปศึกษาและทำกิจกรรมนอกสถานที่ บนอ่าวทั้ง 4 อ่าวของเกาะ ซึ่งจะมีฐานความรู้ของแต่ละอ่าวอยู่ เช่น ที่อ่าว 1 เราได้ศึกษาประโยชน์ของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้าให้ชุมชนผ่านแผงโซลาร์เซลล์ว่า ทำให้โรงเรียน และบ้านเรือนได้ใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ พัดลม คุณครูก็จะสอนกระบวนการ บวกกับการใช้พลังงานอย่างประหยัด และพอเพียง รวมถึงการดูแลรักษาอุปกรณ์แผงโซลาร์เซลล์ให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น”
ในขณะที่ น้องอมรรัตน์ สายเบาะ น้องชั้น ม.2 เสริมว่า “หนูได้รู้จักพื้นที่บนเกาะมากฃึ้น รู้เรื่องการพัฒนาโครงการเกษตรกรรมมากขึ้น หนูได้ไปที่อ่าว 4 ที่มีต้นเทียนเยอะ บ้านเราจึงเรียกว่าอ่าวเทียน เพื่อทำกิจกรรมในโครงการ ทำให้หนูได้รู้จักว่า ต้นเทียนที่มีอยู่บนเกาะบ้านเรา ที่เราใช้ทำเป็นด้ามขวาน มีหน้าตาเป็นอย่างไร หรือการให้ความรู้เรื่องการจัดเก็บขยะอย่างเป็นระเบียบ ก็ช่วยให้เกาะของเราสะอาดตาขึ้น และทำให้รู้สึกรักเกาะนี้มากขึ้นค่ะ”
ส่วนพี่ธีระ เมืองเกิด ชาวเกาะพะลวยดั้งเดิม ยิ้มภูมิใจ พร้อมกล่าวว่า “ผมอาศัยอยู่บนเกาะนี้มา 20 ปีแล้ว ลูกชายเรียนที่นี่ 2 คน อยู่ชั้น ม.2 กับ ป.5 ผมว่าโครงการนี้จะทำให้ต่อไปลูกหลานจะได้รู้ว่า อีกหน่อยพลังงานของเราก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่เราก็ได้รับความรู้ว่า แล้วเราจะเอาอะไรมาใช้เป็นพลังงานทดแทนได้ เหมือนกับการปรับตัวให้เรียนรู้ไปกับโลกว่า จะเปลี่ยนไปอย่างไร ทั้งเด็ก และชุมชนจะได้พัฒนากันต่อไปอีก”
เราเชื่อว่า สิ่งเล็กน้อยที่เด็กๆ ครู และชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันในโรงเรียนหนึ่งเดียวบนเกาะพะลวยแห่งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการตระหนักรู้ถึงคุณค่าที่ตนเองมีอยู่ และเข้าใจถึงการพัฒนาที่เหมาะสมกับท้องถิ่นอันนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนที่จะได้มีส่วนร่วมรังสรรค์ให้เกาะพะลวยกลายเป็นเกาะพลังงานสะอาดได้อย่างยั่งยืนต่อไป ….