กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--กทม.
ผู้ว่าฯกทม.แถลงนโยบายต่อนักข่าวต่างประเทศ เน้นการทำงานแบบประสานความร่วมมือทุกฝ่าย ตั้งคณะกรรมการ ตรวจสอบความโปร่งใสการทำงานของตนเอง เดินหน้าให้หอศิลป์เกิดในสมัยผู้ว่าฯนี้ พร้อมผลักดัน BANGKOK BOND สู่การพัฒนาเหนือข้อจำกัดทางงบประมาณ
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 ก.ย.47 เวลา 20.00 น.) นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงนโยบายในการบริหารและพัฒนากรุงเทพมหานครต่อชมรมนักข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents Club of Thailand: FCCT) ซึ่งมีที่ตั้งชมรมอยู่ที่อาคารมณียา ถ.เพลินจิต เขตปทุมวัน โดยภายหลังแถลงนโยบาย ผู้ว่าฯกทม. ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งมีผู้สนใจตั้งประเด็นซักถามจำนวนมาก
เดินสายหาแนวร่วมพัฒนากรุงเทพฯ
ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ตนใช้ระบบการบริหารจัดการแนวใหม่ตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ 1.ใช้หลักการมีส่วนร่วม (Participation) 2.บริหารงานอย่างโปร่งใส (Transparency) และ 3.มุ่งเน้นประสิทธิภาพการให้บริการแก่ คนกรุงเทพฯ (Efficiency & Effectiveness) สำหรับการมีส่วนร่วมนั้น นอกจากการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาแล้ว ตนยังเน้นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ไม่ได้มีอำนาจในการบริหารเมืองอย่างเบ็ดเสร็จทุกด้าน งานสำคัญของตนก็คือการเดินทางไปเข้าพบบุคคลต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ฯลฯ เพื่อขอยืนยันความร่วมมือในการทำงาน รวมทั้งจะประสานเครือข่ายธุรกิจเอกชนที่ตนเคยทำงานด้วยสมัยอยู่ในภาคธุรกิจ เพื่อมาให้การสนับสนุนกทม.ในรูปแบบ sponsorship รวมทั้งให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาวิชาชีพ ซึ่งบริษัทธุรกิจจะมีความเป็น “มืออาชีพ” สามารถที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ให้ประชาชนได้พัฒนาอาชีพเดิมๆ เช่น ตัดเสื้อ-เสริมสวย ให้แตกต่างออกไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้
ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใส
กรณีปัญหาเทศกิจกับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ที่เชื่อมโยงถึงประเด็นความโปร่งใสในระบบราชการนั้น ผู้ว่าฯกทม.กล่าวว่า ในเรื่องนี้จำเป็นต้องสร้างระบบความโปร่งใสขึ้นมา โดยขณะนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความโปร่งใสในการทำงานของตนเอง รวมถึงระบบราชการ กทม.ขึ้น ในรูปของ “สภาประชาชน” ซึ่งมี ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต เป็นประธาน และจะเชิญผู้แทนจากหลายฝ่ายรวมถึงผู้แทนประชาชน และผู้แทนองค์กรกลาง ประเภท NGOs มาร่วมเป็นกรรมการด้วย ส่วนปัญหาเรื่องเทศกิจกับผู้ค้านั้น จะแก้ไขโดยให้มีการตั้ง “คณะกรรมการพื้นที่” ขึ้นมาตรวจสอบดูแล โดยมีกรรมการประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ กทม. ตัวแทนผู้ค้า ตลอดจนผู้อยู่อาศัยและสัญจรไปมาบริเวณพื้นที่นั้นๆ เป็นประจำ
ผลักดันหอศิลป์เกิดแน่สมัยผู้ว่าฯนี้
กรณีการก่อสร้างหอศิลป์แห่งเมืองกรุงเทพฯ นั้น นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญและชื่นชมในศิลปะ รวมทั้งจะผลักดันให้คนกรุงเทพฯได้เห็นหอศิลป์ในสมัยที่ตนเป็นผู้ว่าฯกทม. ซึ่งตนได้ประชุมร่วมกับผู้ที่ทำงานด้านนี้ไปแล้ว และได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 คณะ เพื่อศึกษาและดำเนินงานเรื่องนี้ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ตรึงใจ บูรณสมภพ เป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ เคยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาโครงการพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิด้วย นอกจากการสร้างหอศิลป์แล้ว ตนเห็นว่าการส่งเสริมศิลปะ ควรจัดในรูปของกิจกรรม กระจายไปในพื้นที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อให้เยาวชน ประชาชนได้ร่วมกิจกรรมอย่างทั่วถึง
Bangkok Bond : ทางเลือกใหม่ในการพัฒนา
ต่อคำถามเกี่ยวกับ “Bangkok Bond” หรือการออกพันธบัตรในลักษณะพันธบัตรเทศบาลนั้น ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า Bangkok Bond จะเป็นทางเลือกใหม่ให้ กทม.มีงบประมาณไปพัฒนาด้านต่างๆที่จำเป็นมากขึ้น โดยไม่ต้องถูกกำหนดอยู่ภายใต้กรอบของงบประมาณประจำปี หรือต้องรอขอจัดสรรงบฯสนับสนุนจากรัฐบาล โดยการพัฒนาไม่ได้มุ่งเน้นแต่การพัฒนาด้านกายภาพ สาธารณูปโภค ถนนหนทางเท่านั้น แต่จะคำนึงถึงด้านอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม การศึกษา ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบงบประมาณของกทม.นั้น มีการวางแผนจัดทำงบประมาณประจำปีไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นการออก Bangkok Bond จึงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นในช่วงปีสุดท้ายในสมัยของตน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นห)--