กรุงเทพฯ--31 ต.ค.--หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
ใกล้ถึงวันสุดท้ายที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะจัดนิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร (BACC) ในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้แล้ว ศิลปินดังและบุคคลสำคัญของวงการศิลปะต่างชื่นชมและ เชิญชวนให้คนไทยมาร่วมชมปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในรอบ 70 ปีแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะไทยที่ยกระดับสู่มาตรฐานสากลอย่างสมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรก โดยจัดแสดงผลงานของศิลปินเกือบ 300 คน ที่คัดสรรโดยทีมภัณฑารักษ์ชั้นนำ คือ ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์, คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์, คุณกฤติยา กาวีวงศ์, คุณปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง และ คุณนิกันต์ วะสีนนท์ นำเสนอใน 9 แนวเรื่อง (Theme) ได้แก่ การแสวงหาความเป็นไทย, แรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา, พื้นที่ทางสังคมและการอุปถัมภ์ศิลปะ, จินตนาการกับความเหนือจริง, นามธรรมและปัจเจกชน, การต่อสู้ทางการเมืองและสังคม, เพศสภาพและความเป็นชายขอบ, จากท้องถิ่น สู่อินเตอร์, และ ศิลปะทดลองและสื่อทางวัฒนธรรม มีทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย งานจัดวาง และศิลปะแนวทดลอง โดยมีองค์ประกอบเบื้องหลังที่น่าสนใจมากมายที่ทุกฝ่ายเห็นว่าเป็นนิทรรศการครั้งสำคัญที่คนไทยไม่ควรพลาด
อ. เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ให้ข้อคิดว่า “ในฐานะที่เป็นคนวาดรูป หากมีองค์กรใดจัดนิทรรศการแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับวงการศิลปะ งานไทยเท่ฯ นี้ถือว่าเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งที่คนไทยไม่ควรพลาด เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์ศิลปะที่ให้การศึกษาแก่เยาวชนและคนไทยให้เห็นว่าศิลปะของเรามีพัฒนาการเป็นอย่างไร โดยส่วนตัวคิดว่าคงต้องใช้งบประมาณเยอะ เพราะเชื่อว่าของดีต้องแพง ต้องใช้การค้นคว้า การดำเนินการต่างๆ ที่มีรายละเอียดมาก นอกจากนี้งานศิลปะยังต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนให้ประชาชนสนใจ-เข้าใจในงานต่อไป ศิลปินจึงควรช่วยกันทำให้งานศิลปะได้รับการส่งเสริมจากฝ่ายต่างๆ ด้วย”
ด้าน อ. ช่วง มูลพินิจ ศิลปินอาวุโส ให้ความเห็นว่า “จัดได้ดีมาก มีงานศิลปะที่มีคุณค่ามากมายซึ่งงานหลายชิ้นไม่ค่อยมีใครได้มีโอกาสเห็นมาก่อนเพราะเป็น collection ขององค์กรหรือบุคคล ทั้งยังสามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจง่าย แต่นิทรรศการระดับนี้ไม่ได้จัดกันง่ายๆ เลย ถ้าไม่มาดูก็น่าเสียดายมาก” ส่วน คุณไม้ร่ม ธรรมชาติอโศก ศิลปิน ก็ชื่นชมผู้จัดงานเช่นกัน พร้อมทั้งกล่าวว่า “งานศิลปะเป็นสมบัติสาธารณะที่ช่วยยกระดับและพัฒนาจิตวิญญาณให้สูงขึ้น นิทรรศการนี้มีงานศิลปะที่มีคุณค่ามหาศาล และเป็นเรื่องดีที่มีการจัดเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่นำเสนอให้ผู้สนใจได้ทราบถึงเบื้องหลังหรือแรงบันดาลใจของศิลปิน และที่มาที่ไปในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย ช่วยให้เข้าใจงานศิลปะได้ดียิ่งขึ้น”
คุณภราเดช พยัฆวิเชียร รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “ศิลปะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับศิลปินเท่านั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา นิทรรศการครั้งนี้พยายามเชื่อมโยงให้เห็นว่าการพัฒนาประเทศผูกโยงกับงานศิลปะให้ผู้ชมเข้าใจในบริบทต่างๆ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในหลากแง่มุม ผ่านมิติของงานศิลปะหลายสาขา ประมวลผลงานจากหลายวาระ หลายสถาบัน-องค์กร โดยครอบคลุมช่วงเวลาถึง 70 ปี นอกจากนี้ เมืองไทยมีการเรียนการสอนหลายสถาบัน แต่ยังขาดโอกาสในการนำเสนอและเชื่อมโยงกัน ประกอบกับสถานที่จัดแสดงผลงานก็มีน้อย นิทรรศการครั้งนี้จึงเป็นการย่อห้องเรียนศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 มารวมกันไว้ในงานนี้ให้มีโอกาสเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างดี ส่วนผู้ที่ไม่มีความรู้ทางศิลปะก็สามารถชื่นชมความงาม ความสุนทรีย์ และสร้างสรรค์จินตนาการได้อย่างมีความสุข”
ในส่วนของกระบวนการจัดนิทรรศการนั้น ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ กรรมการมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และหัวหน้าภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ ให้ราย ละเอียดว่า “ทุกฝ่ายร่วมช่วยกันทำให้ ‘ไทยเท่ฯ’ มีความสมบูรณ์แบบในทุกกระบวนการตั้งแต่ขั้นเตรียมงาน ค้นคว้าหาข้อมูล วางกรอบความคิด กำหนดแนวเรื่อง คัดเลือกผลงาน สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอหรือการเล่าเรื่องให้น่าสนใจ การบริหารจัดการพื้นที่จัดแสดง จัดทีมนำชมทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ ฯลฯ เป็นงานใหญ่ที่ กทม. จัดสรรงบประมาณทั้งหมดเพื่อให้จัดได้อย่างเป็นระบบและมีคุณภาพในมาตรฐานสากล และผลที่ได้รับคือความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้อย่างน่าภาคภูมิใจ โดย กทม. ได้นำเสนอสิ่งที่ดีให้สังคมด้วยการเปิดพื้นที่จัดแสดงงานของ กทม. ให้สาธารณชนได้รับทั้งความรู้เชิงวิชาการและความงดงามทางศิลปะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีสุนทรียภาพ และมีพัฒนาการทางศิลปะที่กล่อมเกลาสังคมมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน”
นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 ได้รับความสนใจจากผู้ชมมากเป็นประวัติการณ์ โดย คุณลักขณา คุณาวิชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพ มหานคร (BACC) และเป็นหนึ่งในภัณฑารักษ์ของงานนี้ ให้ข้อมูลว่า “งานนี้นับว่าใหญ่ที่สุดที่เคยจัดมาสำหรับการนำเสนองานศิลปะร่วมสมัยของไทย โดยสามารถรวบรวมศิลปินได้มากที่สุดเท่าที่แต่ละแนวเรื่องจะเอื้ออำนวย เป็นงานที่มีจำนวนผู้ชมมากถึงประมาณ 60,000 คนในแต่ละเดือน ไม่นับรวมถึงหมู่คณะจากโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ และโรงเรียนนานาชาติ ตลอดจนโรงเรียนในเครือข่าย กทม. และมีการตอบรับที่ดีมาก ทาง BACC ได้เตรียมงานกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว โดยมีองค์ประกอบเบื้องหลังอีกมากมาย เช่น โครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยนหรือทำขึ้นใหม่สำหรับการจัดแสดงผลงานกว่า 300 ชิ้น ติดตั้งระบบไฟเพิ่มนับร้อยจุด วางโทนสีและการทาสีใหม่สำหรับแต่ละแนวเรื่อง การจัดเส้นทางให้ชมได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ยังต้องมีระบบขนส่ง ระบบประกันภัยที่ดี และต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเพิ่มอีกเท่าตัว เพราะผลงานส่วนใหญ่ มีมูลค่าสูง ซึ่งคงไม่บ่อยนักที่จะจัดนิทรรศการในระดับนี้”
ส่วน คุณพิทักษ์พล วิสุทธิ์อัมพร ผู้อำนวยการมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 ให้ความเห็นว่า “งานครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เพราะมีผู้รู้ทางศิลปะชุดที่ดีที่สุดชุดหนึ่งของเมืองไทย นำเราไปสู่การเรียนรู้ทั้งเรื่องของศิลปะ และการสะท้อนความรุ่งเรืองและสภาวการณ์ต่างๆ ของประเทศผ่านผลงานของศิลปินมากมายในช่วงเวลาอันยาวนาน ทั้งศิลปินชั้นครูและศิลปินที่สร้างผลงานในระดับนานาชาติ ซึ่งงานแทบทุกชิ้นได้รับอิทธิพลในยุคสมัยของศิลปินแต่ละคน ทั้งยังเป็นนิทรรศการที่รวมงานชิ้นเยี่ยมที่สุดใน รัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ก็ว่าได้ และเป็นการจัดแสดงที่สวยงามที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา ด้วยรูปแบบที่น่าสนใจ ในสถานที่แสดงงานที่ดีที่สุดในปัจจุบัน”
อีกผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญของงานนี้ คือ ผศ. วุฒิกร คงคา สาขาวิชาศิลปกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “ทางลาดกระบังได้ประสานงานกับ กทม. ตั้งแต่แรกที่เตรียมจัดโครงการนี้ เพราะเป็นเรื่องที่สนใจอยู่แล้ว ยินดีที่จะได้ทำงานสำคัญเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งสื่อสารให้สาธารณชนได้ทราบถึงที่มาที่ไป และวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะของไทยที่จัดทำอย่างเป็นระบบ ทั้งยังรวมถึงเหตุการณ์สำคัญในบริบทของซีกโลกตะวันออกและตะวันตก ได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดกับทีมภัณฑารักษ์ชั้นนำที่มีความรอบรู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้มีความสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งต่างก็มีแนวคิดที่สอดคล้องกันและช่วยเติมเต็มให้การดำเนินงานสมบูรณ์แบบทุกขั้นตอน ได้รวบรวมงานแทบครบทุกหัวข้อและทุกรูปแบบที่ศิลปินไทยทำขึ้น นักศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทที่ทำหน้าที่นำชมก็ได้เพิ่มพูนความรู้ไปด้วย”
พร้อมกันนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ยังได้รับมอบหมายจาก กทม. ให้ดำเนินการจัดทำหนังสือปกแข็งขนาด 250 หน้า พิมพ์สี่สีตลอดเล่ม จำนวน 1,500 เล่ม รวบรวมผลงานศิลปะในยุคสมัยของรัชกาลที่ 9 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะ “อัครศิลปิน” และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ด้านศิลปะในวงกว้าง โดยนำเสนอ 9 แนวเรื่องในลักษณะเดียวกันกับการจัดทำนิทรรศการครั้งนี้ อันเป็นการต่อยอดขยายผลให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยบทความของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ภัณฑารักษ์ และศิลปินระดับแนวหน้าของเมืองไทยผู้มีผลงานเป็นที่ยอมรับในเรื่องที่เกี่ยวข้อง โดยถ่ายทอดความคิดเกี่ยวกับงานแต่ละแนวเรื่องได้อย่างชัดเจนเหมาะสม พร้อมรายละเอียดของผลงานศิลปะต่างๆ และส่วนที่เป็นเรื่องของ Timeline ซึ่งจะเป็นผลงานที่มีคุณค่าทางวิชาการอีกเล่มหนึ่งของวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย มีกำหนดจัดพิมพ์แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้ โดยหน่วยงาน องค์กร หรือสถาบันการศึกษาที่สนใจ สามารถติดต่อขอรับหนังสือได้ที่สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
นิทรรศการ “ไทยเท่ จากท้องถิ่นสู่อินเตอร์” ศิลปะในสมัยรัชกาลที่ 9 จัดที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้นที่ 3, 4, 5, 7, 8 และ 9 จนถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน ศกนี้ ตั้งแต่เวลา 10.00 — 21.00 น. (หยุดวันจันทร์) ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย