นายกฯ ทักษิณเน้นจุดแข็งเศรษฐกิจไทยในงาน “ไทยแลนด์ โฟกัส 2004”

ข่าวทั่วไป Tuesday September 21, 2004 14:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ตอกย้ำถึงความสำเร็จในการบริหารประเทศตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี สร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนและผู้บริหารกองทุนจากต่างประเทศในความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ สังคม และประกาศว่าจะเป็นรัฐบาลชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งจะอยู่ครบวาระ 4 ปี
ในการกล่าวสุนทรพจน์ต่องาน “ไทยแลนด์ โฟกัส 2004” ซึ่งจัดโดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เครดิตสวิส เฟริ์ส บอสตัน และเอบีเอ็น แอมโร ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น ในวันนี้ (20 กันยายน 2547) นายกฯ ทักษิณได้เน้นผลงานและจุดแข็งในการบริหารโดยเฉพาะการฟื้นตัวของตลาดหลักทรัพย์กำไรของบริษัทจดทะเบียนรวมมากกว่า 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ความแข็งแกร่งในพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยโดยรวม ซึ่งพร้อมจะรับกับความผันผวนในสถานการณ์โลก เช่นปัญหาราคาน้ำมันแพง การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และการก่อการร้าย
แม้ปัญหาต่างๆ นี้จะเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยง เพราะหลายๆ ประเทศก็ต้องเผชิญด้วยเช่นกัน แต่นายกฯ ทักษิณก็ย้ำให้นักลงทุนมั่นใจว่ารัฐบาลมีขีดความสามารถด้านการวางแผน กำหนดนโยบาย การบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน และรักษาอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในปีนี้จะยังคงสูงกว่า 6 เปอร์เซ็นต์
“ไทยแลนด์ โฟกัส 2004” ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน ผู้จัดการกองทุน และนักธุรกิจการเงิน การธนาคาร ทั้งในและนอกประเทศกว่า 200 คน และรัฐมนตรีเศรษฐกิจ นำโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะย้ำให้เห็นว่าประเทศไทยเหมาะสำหรับเป็นแหล่งลงทุน เนื่องจากมีความพร้อมทุกด้าน
นายกฯ ทักษิณได้ชี้ให้เห็นการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2546 ซึ่งคึกคักอย่างมากเพราะดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นถึง 117 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นกว่า 148 เปอร์เซ็นต์ และเป็นการเพิ่มที่สูงที่สุดในโลกทั้ง 2 ด้าน
นายกฯ ทักษิณเน้นถึงความสำคัญของตลาดทุนและศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนาตราสารการเงิน และไทยพร้อมจะเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมทั้งภาคพื้นดิน การขนส่งสินค้าทางเรือ และธุรกิจการบิน ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการปี 2548
“ช่วงที่รัฐบาลเริ่มทำงานและแนะนำนโยบายใหม่ๆ หลายอย่าง ก็มีคำตัดสินล่วงหน้าว่าจะล้มเหลว แต่ใน ที่สุดรัฐบาลก็สามารถบริหารจัดการได้สำเร็จแม้จะต้องเผชิญปัญหาหนักๆ หลายอย่างเช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก สงครามในอิรัก และที่สำคัญคือปัญหาการก่อการร้าย ซึ่งเป็นเครื่องวัดความสามารถของรัฐบาล” นายกฯ ทักษิณกล่าว
นายกฯ ทักษิณชี้ให้เห็นความสำเร็จด้านการมุ่งส่งสินค้าออก และความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดก็คือ ประเทศไทยไม่ได้เน้นเฉพาะด้านค่าแรงถูก หรือสินค้าราคาต่ำอีกต่อไป แต่แสดงให้เห็นการปรับปรุง คุณภาพการออกแบบของสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
นอกจากนั้น นายกฯ ทักษิณยังกล่าวอีกว่าปัญหาด้านหนี้ต่างประเทศและภายในประเทศก็ยังคงอยู่ในระดับไม่น่าเป็นห่วง และกล่าวอีกว่าผู้ที่มักวิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลด้านเศรษฐกิจน่าจะไปหางานอื่นทำจะดีกว่า
“หนี้ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศได้ลดจาก 80 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อ 3 ปีก่อน จนเหลือน้อยกว่า 50 พันล้านเหรียญสหรัฐ แม้จะจ่ายหนี้คืนต่างประเทศ รวมทั้งไอเอ็มเอฟ ประเทศไทยก็ยังมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 43 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่ากับมูลค่าสินค้านำเข้าในระยะเวลา 5 เดือน” นายกฯ ทักษิณกล่าว
สิ่งที่นายกฯ ทักษิณตอกย้ำให้นักลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารการเงินก็คือ เอสแอนด์พี ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้ปรับระดับสำหรับประเทศไทยจาก BBB เป็น BBB บวก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศเป็นอย่างมาก
“รัฐบาลสามารถใช้จ่ายเงินงบประมาณจนถึงระดับ 89.9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีการใช้เงินงบประมาณแบบขาดดุลในปีที่ผ่านมา” นายกฯ ทักษิณกล่าว
ในประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ นายกฯ ทักษิณยังชี้ให้เห็นถึงการจัดเก็บภาษีจากภาคชนบทซึ่งมีอัตราเพิ่ม 18 เปอร์เซ็นต์ เทียบกับภาคในตัวเมืองซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า การใช้นโยบายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศมิได้ล้มเหลว
นอกจากนั้นก็จะเป็นการเพิ่มรายได้ และการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบมีความมั่นคง และรัฐบาลได้เตรียมการลงทุนอีกมากมายในด้านการพัฒนาสาธารณูปโภค มาตรการเพิ่มผลผลิต การเพิ่มขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรม เครือข่ายการคมนาคม และการขนส่งมวลชน รวมทั้งการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน
นายกฯ ทักษิณยังชี้ว่ารัฐบาลคาดว่าจะชนะสงครามกับความยากจนในปี 2552 หลังจากได้ดำเนินการขั้นต้น เช่นการลงทะเบียนคนจน และนโยบายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
ประเด็นอื่นๆ ซึ่งนายกฯ ทักษิณบอกกล่าวผู้เข้าร่วมงานก็คือ บรรยากาศเหมาะสมสำหรับการลงทุน ความสามารถในการจัดการ นโยบายที่แน่นอน และการบริหารโดยยึดหลักธรรมาภิบาล การมีวินัยด้านการเงิน การคลัง การควบคุมกำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ ด้านตลาดเงินและตลาดทุน นับว่าจะเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในการดึงดูดนักลงทุน
ติดต่อส่วนสื่อมวลชนสัมพันธ์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร
ลดาวัลย์ กันทวงศ์ โทร. 0-2229 — 2036 /
กุลวิดา จินตกะวงส์ โทร. 0-2229 — 2037/
ณัฐพร บุญประภา โทร. 0-2229 — 2049--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ