กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--วว.
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ รศ.ดร.จันทรา ชัยพานิช รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) ลงนามความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ และความร่วมมือในโครงการสร้างภาคีบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ณ ห้องประชุม กวท. วว.เทคโนธานี จ.ปทุมธานี
นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า วว.รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ มฉก. รวม 2 โครงการ ได้แก่ ความร่วมมือทางวิชาการในการพัฒนาบุคลากรด้านเภสัชศาสตร์ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานจะได้สนับสนุนด้านวิชาการในรูปแบบของการฝึกปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มพูนทักษะด้านเทคโนโลยีเภสัชกรรมและเภสัชอุตสาหกรรม การสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิด้านเภสัชศาสตร์ให้แก่นักศึกษา สนับสนุนข้อมูลด้านวิชาการและวิชาชีพ สนับสนุนให้มีการวิจัยและเผยแพร่ผลงานวิจัย ซึ่งความร่วมมือทางวิชาการด้านเภสัชศาสตร์นี้มีระยะเวลาความร่วมมือ 6 ปี
ส่วนอีกโครงการหนึ่ง คือ โครงการสร้างภาคีผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก เพื่อร่วมกันผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ซึ่งประกอบด้วยการเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม โดยการกำกับดูแล และให้คำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ แนะนำการทำงานอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการใช้ห้องปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้และทำงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ได้ปริมาณและคุณภาพที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและชุมชน
รศ.ดร.จันทรา ชัยพานิช รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางมหาวิทยาลัยฯ รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับ วว.ในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการวิจัยและพัฒนานั้นท่านอธิการบดี มฉก. ให้การสนับสนุนบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้ทำวิจัยเป็นอย่างมาก การได้ร่วมมือกับ วว.จะช่วยเสริมความเข้มแข็งในด้านวิจัยให้แก่มหาวิทยาลัยฯ ซึ่งในครั้งนี้เริ่มจากความร่วมมือด้านการวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ และเชื่อว่าจะขยายความร่วมมือไปยังคณะอื่นๆ อาทิเช่น คณะการแพทย์แผนจีน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะกายภาพบำบัดฯ เพื่อให้ครบวงจรต่อไป
อนึ่ง มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรตินับเป็นมหาวิทยาลัย ลำดับที่ 31 ที่เข้าร่วมในโครงการสร้างภาคีบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก กับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ (วว.) โดยมุ่งเน้นผลิตบัณฑิตใน 12 สาขาวิทยาการ ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาเทคโนโลยีอาหาร สาขาเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สาขาจุลชีววิทยา สาขาสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา สาขาพลังงาน สาขาเทคโนโลยีวัสดุ สาขาวิศวกรรม สาขาเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ และสาขาเคมี ปัจจุบันมีนักศึกษาเข้าร่วมในโครงการ ในระดับปริญญาโท 208 คน ปริญญาเอก 23 คน รวม 231 คน และมีบัณฑิตที่เกิดจากโครงการแล้ว ในระดับปริญญาโท 144 คน ปริญญาเอก 14 คน รวมทั้งสิ้น 158 คน