กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น
ฮอร์ติเอเชียแนะเพิ่มโอกาสการแข่งขัน ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรเน้นเทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการคุณภาพ มุ่งการผลิตสินค้าเกษตรมาตรฐาน GAP
ฮอร์ติเอเชีย (Horti ASIA) ร่วมผลักดันเกษตรกรไทยสร้างผลผลิตคุณภาพ เน้นการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมการจัดการ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิต และการแข่งขันของพืชสวนไทย สู่ตลาด สากล เพื่อรับมือกับการเป็นประชาคมอาเซียน ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง
จากการสัมมนาเกษตรกรก้าวหน้า ในหัวข้อ “ก้าวหน้า ก้าวไกล ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปศุสัตว์ และพืชผล” ครั้งที่ 2 ที่จังหวัดระยอง ซึ่งจัดโดยบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ Horti ASIA ระบุว่าแนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถขายผลผลิตให้ได้ราคา ยกระดับไปสู่การตอบสนองความต้องการของตลาด จำเป็นต้องพัฒนาไปจากการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาเพียงแค่สภาพดินฟ้าและอากาศ สู่การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตรเข้ามาร่วมปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตที่สูญเปล่า ไม่ว่าจะเกิดจากการขาดการจัดการอย่างเป็นระบบระหว่างการเพาะปลูกหรือหลังการเพาะปลูกก็ตาม
นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้สดส่งออกเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นับเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาทต่อปี ในด้านผลไม้สด ไทยส่งออกเป็นอันดับ 6 ของโลก ส่งออกผักเป็นอันดับที่ 15 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% จากตลาดรวมทั้งหมด โดยมีเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ครองอันดับสอง และสามตามลำดับ (ข้อมูลจาก Food and Agriculture Organization of the United Nations (FAOSTAT) ในด้านตลาดของไม้ดอก ไม้ประดับและกล้วยไม้ ประเทศไทยก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับที่ 20 ของโลก โดยมีกล้วยไม้เป็นสินค้าชูโรงที่ครองส่วนแบ่งของตลาดเป็นอันดับที่สองรองจากประเทศเนเธอร์แลนด์”
ปัจจุบันแต่ละประเทศเริ่มพัฒนาศักยภาพของตนเพื่อเตรียมรับมือกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้ รวมถึงตลาดสินค้าเกษตร ทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลผลิตทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม โดยสำหรับสินค้าเกษตรที่จะทำการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ นั้น จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน การผลิตที่ปลอดภัย GAP (Good Agricultural Practice) และมีคุณภาพที่ดี เพื่อตอบสนองตลาดในด้านความปลอดภัยของอาหาร และลดการกีดกันด้านการค้า
ผู้ใหญ่สมควร ศิริภักดี เจ้าของสวนผลไม้ผู้ใหญ่สมควร ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และได้รับสมญานามว่า ‘หมอดินระยอง’ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาการเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรเชิงเดี่ยวก่อให้เกิดปัญหาทางการเกษตรมากมาย การใช้สารเคมี ในการจัดการเพาะปลูกต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินถูกทำลายต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารในดิน เกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงจะได้รับผลผลิตเท่าเดิม ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดต้นทุนทางการผลิตที่สูง ได้ราคาผลผลิตที่ไม่คุ้มทุน ยังส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ทั้งแม่น้ำลำคลอง เกิดการปนเปื้อนสารเคมี ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่เห็นกันได้ชัดเจนคือ ดินเสื่อมคุณภาพ
เกิดความไม่สมดุลของระบบนิเวศสภาพแวดล้อมถูกทำลายเสียหายจนยากจะเยียวยาให้กลับมาคืนดังเดิม นอกจากนั้นการตรวจพบสารเคมีปนเปื้อนในผลผลิตเกินปริมาณเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เกิดภัยจากสารพิษสะสมในร่างกายของผู้บริโภค รวมไปถึงสินค้าที่ถูกตีกลับ ทำให้เกิดความสูญเสียต่าง ๆ”
“หากเรามีการจัดการในการเพาะปลูกที่ดี และเหมาะสม นั่นหมายถึง ลดการใช้สารเคมี และหันมาใช้วิธีธรรมชาติ ตามแนวทางของเกษตรอินทรีย์มากขึ้น เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยพืชสด หรือน้ำหมักชีวภาพแทนปุ๋ยเคมี หรือ การใช้สมุนไพร ในการกำจัด ศัตรูพืช สิ่งต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติยังคงอุดมสมบูรณ์ตามเดิม เมื่อดินดี น้ำดี ผลผลิตก็มีคุณภาพ ลดการพึ่งพา สารเคมี ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตไปได้มาก ที่สำคัญที่สุดเมื่อการจัดการเกษตรของเราปลอดสารเคมีในทุกกระบวนการ ผลผลิตของเราก็จะผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิต หรือ GAP ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้า สินค้าเป็นที่ต้องการในตลาด และราคาจำหน่ายก็ดีขึ้นตามไปด้วย” ผู้ใหญ่สมควร กล่าวสรุป
ด้านนายสมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวน จังหวัดจันทบุรี กล่าวถึงมาตรฐาน GAP เพิ่มเติมว่า “สำหรับมาตรฐาน การผลิตที่เหมาะสม หรือ GAP นั้น จะครอบคลุมในทุกๆ กระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่การเริ่มเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยว จนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว เกษตรจะต้องมีการจัดการเพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตให้สมบูรณ์ที่สุดจนกว่าจะขนส่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งจะต้องเป็นไปตามวิธีธรรมชาติ หรือหากจำเป็นต้องใช้สารเคมี ก็ควรใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมตามที่มาตรฐานกำหนด นอกจากนี้สินค้าเกษตรทุกชิ้นจะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ถึงที่มาที่ไปตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนสิ้นสุดกระบวนการขนส่งได้ อาทิเช่น แหล่งที่มาของเมล็ดพันธุ์ วันที่เริ่มปลูก วันที่ใส่ปุ๋ย วันที่เก็บเกี่ยว เป็นต้น”
“นวัตกรรมการเก็บเกี่ยว ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อผลไม้สุกพร้อมเก็บเกี่ยว อย่างในกรณีผลไม้ยืนต้นอย่าง มังคุด ทุเรียน เงาะ ซึ่งเป็นผลไม้หลักของชาวสวนทางภาคตะวันออก หากแต่เริ่มต้นตั้งแต่การวางแผนการปลูก ระยะห่างของต้น ความสูง ของลำต้น เพื่อความสะดวกในการเก็บเกี่ยว การตัดแต่งลำต้น เพื่อให้ต้นไม้นั้นได้รับธาตุอาหารที่สมบูรณ์ และแสงแดดส่องถึง เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน มังคุด ในพื้นที่ภาคตะวันออก มักประสบปัญหากับต้นทุนการผลิตสูง ทั้งจากค่าสารเคมีป้องกันกำจัด ศัตรูพืช และการขาดแคลนแรงทำให้ค่าแรงแรงงานสูงขึ้น ดังนั้นศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีจึงได้ทำการศึกษาวิจัยในการออกแบบสวนทุเรียนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียน เรียกว่า การทำทุเรียนกางแขนโดยดำเนินการในทุเรียนพันธุ์หมอนทอง และการออกแบบสวนมังคุดที่ปรับเปลี่ยนทรงต้นมังคุดต้นเตี้ยที่มีความสูงเพียง 3 เมตร และให้มีการนำรถเข้ามาบรรทุก เก็บเกี่ยวผลผลิตระหว่างร่องได้”
“สำหรับท่านใดที่มีความสนใจในการเสริมสร้างองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเกษตร สามารถติดตามการสัมมนาเกษตรกรก้าวหน้าได้ในอีก 2 ภูมิภาค หรือสามารถเข้าชมงานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือ Horti ASIA ได้ ในระหว่างวันที่ วันที่ 9 - 11 พฤษภาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ซึ่งหากเกษตรกร และผู้ประกอบการทั้งหลาย สามารถเข้าถึงนวัตกรรม และเทคโนโลยี ต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานระดับโลกได้ และนำไปปรับปรุง พัฒนาการผลิตของตน ก็เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจพืชสวนไทย จะสามารถ ปรับตัว เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้โดยง่าย” นางลัดดากล่าวสรุป
รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน Horti ASIA 2013 www.hortiasia.net
เกี่ยวกับ บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด
เป็นบริษัทชั้นนำที่เกิดจากการจับมือระหว่างสองบริษัทมืออาชีพด้านการสร้างสรรค์ และบริหารงานแสดงสินค้าระดับสากล คือ บริษัท ทีซีซี เอ็กซิบิชั่นส์ แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด และบริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ ยุโรป มีความเชี่ยวชาญในการจัดงานแสดงสินค้าที่เอื้อให้การพบปะทางการค้า และการเจรจาทางธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการจัดงานแสดงสินค้า นิทรรศการ และการประชุม ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เป็นผู้จัดงาน VIV Asia งานแสดงเทคโนโลยีปศุสัตว์ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ การขยายพันธุ์ การเลี้ยง และการแปรรูปเนื้อสัตว์ และงาน Horti ASIA งานแสดงเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาค เอเชีย
บริษัทฯ มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และสำนักงานสาขาที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และสำนักงานธุรกิจนานาชาติในกรุงเทพมหานคร บริษัทฯ เป็นเจ้าของงานแสดงสินค้าในเบลเยี่ยม จีน อินเดีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ รัสเซีย ไทย ตุรกี เวียดนาม พม่า และอินโดนิเซีย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.vnuexhibitionsap.com