ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว ของธนาคารกรุงไทย ที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 1, 2012 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ สำหรับรายละเอียดอันดับเครดิต แสดงไว้ในส่วนท้าย อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุน อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ และอันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ที่เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หากมีความจำเป็น โดยมุมมองดังกล่าวพิจารณาจากการที่รัฐบาลถือหุ้นส่วนใหญ่ของธนาคาร พร้อมทั้งควบคุมกำกับอย่างใกล้ชิด รวมถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลในอดีต และความสำคัญของธนาคารต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้นฟิทช์มองว่าการที่รัฐบาลได้มีการใช้ KTB เป็นช่องทางในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในบางครั้ง เป็นการชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของธนาคารกับรัฐบาลมากกว่าเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น การสนับสนุนจากรัฐบาลเห็นได้จากการที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB ที่สัดส่วน 55% ได้ทำการใช้สิทธิเพิ่มทุนเต็มจำนวนในการเพิ่มทุนของธนาคารเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ KTB ได้ดำเนินการเพิ่มทุนประมาณ 35 พันล้านบาท โดยเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (rights offering) เพื่อมาใช้ในการขยายธุรกิจของธนาคาร การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของประเทศไทย (‘BBB’ /แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ และอันดับเครดิตภายในประเทศของ KTB อย่างไรก็ตามเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดอันดับเครดิตของธนาคารที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการเงิน (รวมถึงธนาคารที่มีหน้าที่ดำเนินการตามนโยบายรัฐเป็นครั้งคราว) ที่มีการถือหุ้นโดยรัฐต่ำกว่า 100% ในประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับเครดิตอยู่ในระดับสูง อันดับเครดิตของ KTB อาจไม่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของประเทศไทย หากอันดับเครดิตของประเทศไทยได้รับการปรับอันดับเพิ่มขึ้นไปในช่วงอันดับเครดิต ‘A’ ทั้งนี้เนื่องจากการความจำเป็นในการพึ่งพาธนาคารพาณิชย์จากภาครัฐเพื่อผลักดันนโยบายทางเศรษฐกิจอาจลดลง อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ของ KTB สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายธุรกิจภายในประเทศและสถานะทางการเงินของธนาคารที่ดีขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราส่วนทางการเงินบางด้านยังคงอ่อนแออยู่ KTB มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้นในปี 2554 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 จากการเติบโตของสินเชื่อที่สูง (ในระดับเดียวกันกับภาคธนาคารไทย) และรายได้ค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น จากการที่คาดว่าสินเชื่อจะยังคงมีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานทั้งปี 2555 ของ KTB น่าจะยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามธนาคารอาจมีความกดดันในการตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติม ส่วนหนึ่งเนื่องจาก KTB ยังมีอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับที่ต่ำ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อมีการปรับตัวที่ดีขึ้น อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ 4.2% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 (ณ สิ้นปี 2554 : 4.5% และ ณ สิ้นปี 2553 : 6.1%) จากการตัดจำหน่ายเป็นหนี้สูญ อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 70% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 (ณ สิ้นปี 2554 : 69% และ ณ สิ้นปี 2553 : 59%) แม้ว่าจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้น แต่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อ และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่อ่อนแอเมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์อื่น ในขณะที่ยังไม่มีสัญญานว่าคุณภาพของสินทรัพย์จะอ่อนแอลง การเติบโตของสินเชื่ออย่างรวดเร็วในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมาของ KTB ประกอบการสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ และการที่ธนาคารมีการให้สินเชื่อในอุตสาหกรรมที่มีวัฎจักรทางธุรกิจที่ผันผวนสูง อาจส่งผลให้ความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์เพิ่มขึ้นได้ในระยะกลาง ความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ KTB ยังคงอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย เนื่องจาการมีสาขาที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับภาครัฐ ในส่วนของอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของ KTB หากนับรวมการเพิ่มทุน น่าจะเพิ่มขึ้นจากระดับ 7.9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 มาอยู่ที่ระดับ 10% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ใหญ่ในประเทศ การปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของกำไร คุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนของธนาคาร อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับเพิ่มขึ้น ในทางกลับกัน การปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญของกำไร หรือแนวโน้มที่อ่อนแอลงของคุณภาพสินทรัพย์และเงินกองทุนของธนาคาร รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของสินเชื่อนโยบายที่มีคุณภาพต่ำ อาจส่งผลให้อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับลดลง อย่างไรก็ดีอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ ‘BBB’ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบเนื่องจากปัจจุบันนี้อันดับเครดิตดังกล่าวอยู่ในระดับอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ KTB เป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 18% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 สำหรับยอดสินเชื่อของธนาคาร สินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วนสูงที่สุด ตามด้วยสินเชื่อรายย่อย และ สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง เนื่องจาก KTB เป็นธนาคารที่ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยภาครัฐ ทำให้ KTB มีสินเชื่อให้ภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในจำนวนที่สูง KTB มี 1,046 สาขาในประเทศ และมีพนักงานประมาณเกือบ 20,000 ราย ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ KTB ดังต่อไปนี้: - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ ‘BBB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’ - อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating) ที่ ‘bbb-’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ ‘BBB’ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘B’ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘BBB(tha)’

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ