กรุงเทพฯ--1 พ.ย.--ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่งลักษณ์” ประจำเดือนกันยายน - ตุลาคม โดยผลการประเมินดีขึ้นเกือบทุกด้าน แต่ด้านเศรษฐกิจยังแย่เหมือนเดิม
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 6 ตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่ง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 — 29 ตุลาคม 2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,209 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 6 ด้าน พบว่า ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 81.0 ไม่ผ่าน ร้อยละ 19.0 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 69.1 ไม่ผ่าน ร้อยละ 30.9 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 46.8 ไม่ผ่านร้อยละ 53.2 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 67.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 32.8 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 67.0 ไม่ผ่าน ร้อยละ 33.0 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 84.0 ไม่ผ่าน ร้อยละ 16.0
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับการสำรวจช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 55 พบว่า แม้ครั้งนี้คนอีสานจะประเมินให้ผลงานแต่ละด้านผ่าน แต่ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ชาวอีสานกว่าร้อยละ 53.2 ประเมินว่า “ไม่ผ่าน” เช่นเคย (ครั้งก่อนประเมินว่าไม่ผ่านร้อยละ 52.9) อย่างไรก็ตาม ด้านภาพรวมการทำงาน ถือว่าได้ผลประเมินสูงสุดในการประเมินช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยผลประเมินด้านการเมือง ด้านสังคม อาชญากรรมและยาเสพย์ติด และด้านการต่างประเทศ ล้วนมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะและภัยธรรมชาติได้ผลการประเมินดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อน แต่ยังไม่เท่ากับผลการประเมินช่วงต้นปี
เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.7 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (จากเดิมร้อยละ 43.8 ถือว่าได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้น) และอีกร้อยละ 29.8 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ (จากเดิมร้อยละ 36.7) ส่วนผู้ที่จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ มีร้อยละ 9.7 (จากเดิมร้อยละ 9.3) และอีกร้อยละ 6.6 ตอบว่าจะไม่เลือกพรรคใด
ในส่วนของการประเมินการทำงานของฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานกว่าร้อยละ 54.3 ให้คะแนนว่าไม่ผ่าน (การประเมินครั้งก่อน ไม่ผ่านร้อยละ 61.2 ถือว่าทำงานดีขึ้น) โดยให้เหตุผล เช่น เป็นการค้านแบบไม่มีเหตุผล ขาดความน่าเชื่อถือ สร้างความแตกแยก หรือใส่ความรัฐบาล เป็นต้น ส่วนอีกร้อยละ 45.7 ที่ประเมินให้ผ่าน ให้เหตุผล เช่น มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เป็นการทำงานตามหน้าที่ได้ดี และแสดงถึงการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น
สำหรับผลการสำรวจนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำเดือน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 56.2 (จากเดิมร้อยละ 39.2 ถือว่าผลงานเข้าตาประชาชนมากขึ้น) รองลงมาคือ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ร้อยละ 11.8 ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้คะแนนร้อยละ 8.2 นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้คะแนนร้อยละ 3.7 โดยมีกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานร้อยละ 9.7 ที่ตอบว่าไม่มีนักการเมืองคนใดที่มีผลงานที่โดดเด่นเลย นอกจากนี้ เมื่อถามถึงบุคคลที่กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานคิดว่า มีความเหมาะสมในการขึ้นมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แทนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 47.7 ระบุว่าต้องการให้เป็น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รองลงมา ร้อยละ 15.5 ต้องการให้ ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง มาดำรงตำแหน่งแทน ส่วนอันดับสาม ระบุว่าไม่มีความเห็น ร้อยละ 9.9 นอกจากนี้ยังมีชื่อนายจาตุรนต์ ฉายแสง ร้อยละ 9.8 พล.ต.อ. เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ร้อยละ 9.3 และนายจตุพร พรหมพันธุ์ ร้อยละ 6.1 ขณะที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ผู้ที่คาดการณ์ว่าจะได้เป็นหัวหน้าพรรค กลับได้เสียงสนับสนุนเพียงร้อยละ 1.8 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด คือ ด้านเศรษฐกิจ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน ปัญหาค่าครองชีพ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ราคาน้ำมัน ค่าแรง และหนี้สิน โดยชาวอีสานกว่าร้อยละ 64.6 เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุดและเป็นด้านที่ให้รัฐบาลสอบตก รองลงมาคือปัญหายาเสพย์ติด ร้อยละ 10.1 และด้านปัญหาการเมือง ร้อยละ 3.6 ที่เหลือเป็นปัญหาอื่น ๆ เช่น การทุจริตคอรัปชั่น ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
“ผลการประเมินในครั้งนี้ พบว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้ผลการประเมินสอบผ่านเกือบทุกด้าน และมีแนวโน้มของผลการประเมินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ซึ่งเป็นด้านที่กระทบกับความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนโดยตรง รัฐบาลยังคงมีคะแนนประเมินผ่านต่ำกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตามปัญหาด้านต่างๆ ค่อยๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ทั้งปัญหาการเมือง ปัญหาสังคม-ยาเสพย์ติด ปัญหาภัยธรรมชาติ และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยพรรคเพื่อไทยและนายกยิ่งลักษณ์ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากชาวอีสานเหนียวแน่น และส่วนใหญ่ต้องการให้นายกยิ่งลักษณ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทนนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ที่ลาออกไป อย่างไรก็ดี เพื่อรักษาความนิยมเอาไว้ต่อไป ครม.ชุดใหม่จะต้องเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้เห็นผลที่เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคประชาชน เช่นการเพิ่มรายได้ และลดค่าครองชีพลง เป็นต้น” ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 55.8 เพศชาย ร้อยละ 44.2 ส่วนใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 30.9 รองลงมาอายุ 46-55 ปี ร้อยละ 29.1 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 16.7 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 13.4 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 10.0 โดยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ38.5 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 61.5
ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 40.8 รองลงมามัธยมต้น ร้อยละ 22.8 ปริญญาตรี ร้อยละ 15.4 มัธยมปลาย / ระดับปวช. ร้อยละ 11.5 อนุปริญญา / ปวส. ร้อยละ 8.0 ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 1.5
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 41.2 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.5 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.1 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 9.1 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 8.5 อาชีพ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 6.1 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 5.8 และอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 0.7
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้อยู่ที่5,001-10,000 บาท ร้อยละ 39.9 รองลงมารายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 31.3 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 14.3 รายได้ 15.001-20,000 บาท ร้อยละ 7.1 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.3 และมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.2