ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย” ที่ระดับ "BBB" และ "BBB-" ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 2, 2012 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันของบริษัทที่ระดับ “BBB-” โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาว (Power Purchase Agreement — PPA) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer — SPP) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์จาก บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) (DA) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากรายการระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องกันในกลุ่ม รวมถึงการปรับโครงสร้างกิจการโดยการซื้อทรัพย์สินของกิจการภายในกลุ่ม ความต้องการใช้เงินจำนวนมากเพื่อลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 800 เมกะวัตต์ และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจต่าง ๆ นอกจากนี้ อันดับเครดิตดังกล่าวยังมีข้อจำกัดจากสถานะอันดับเครดิตองค์กรที่ระดับ “BBB” ของ DA ด้วย โดย DA และผู้ถือหุ้น มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทรวมกันคิดเป็น 36.2% ณ เดือนกรกฎาคม 2555 ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งยังคาดว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากการลงทุนใหม่ทยอยให้ผลตอบแทนตามลำดับ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหมายว่าการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มจะแล้วเสร็จโดยเร็ว ในขณะที่การโอนย้ายทรัพย์สินและรายการระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องกันควรจะลดลงเหลือเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจปกติเท่านั้น ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายเป็นผู้นำในธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา DA และบริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างภายในกลุ่มเพื่อผลักดันให้บริษัทเป็นหลักในธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม DA บริษัทได้ซื้อโรงไฟฟ้าจำนวน 6 โรงจากกลุ่ม DA ในราคารวม 4,378 ล้านบาทซึ่งโรงไฟฟ้าทั้ง 6 โรงเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวล ปัจจุบันบริษัทจึงเป็นเจ้าของและดำเนินการโรงไฟฟ้าถ่านหินและชีวมวลรวมจำนวน 8 โรง ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 493 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 880 ตันภายใต้โครงการ SPP โรงไฟฟ้าของบริษัทตั้งอยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา นอกจากธุรกิจไฟฟ้าแล้ว บริษัทยังลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและธุรกิจอื่นด้วย โดยบริษัทได้ลงทุนใน บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ เอทานอล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังด้วยกำลังการผลิต 500,000 ลิตรต่อวัน บริษัท เอ็นพีเอส โอเชี่ยน สตาร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเรือขนส่งถ่านหินทางทะเลขนาด 52,000 ตัน และ บริษัท อินเตอร์ สตีวีโดริ่ง 5 จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจทุ่นขนถ่ายสินค้ากลางทะเลเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการขนส่งถ่านหิน นอกจากนี้ ยังได้ขยายการลงทุนไปสู่การจำหน่ายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรม 304 ธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำมันรำข้าว และธุรกิจให้บริการทำวิจัยและพัฒนาการทดลองทางด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ บริษัทยังได้ลงทุนซื้อสิทธิในการทำเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซียมูลค่า 396 ล้านบาทด้วย ในปี 2554 ธุรกิจไฟฟ้ายังเป็นแหล่งรายได้และแหล่งกำไรหลักของบริษัท โดยประมาณ 90% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากธุรกิจไฟฟ้า ในขณะที่ 5% มาจากธุรกิจการจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม และอีก 5% มาจากธุรกิจการให้บริการทำวิจัย ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายมีสัญญา PPA อายุ 25 ปีกับ กฟผ. คิดเป็นสัดส่วน 62% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัท บริษัทจำหน่ายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำส่วนที่เหลือให้แก่กลุ่ม DA ภายใต้สัญญาระยะยาวและจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา โรงไฟฟ้าของบริษัทได้รับการออกแบบให้ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินและชีวมวล แม้การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจะสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนและมีความยืดหยุ่นในการเลือกใช้เชื้อเพลิง แต่โรงไฟฟ้าชีวมวลก็ต้องการการบำรุงรักษามากและมีความเสี่ยงจากการสึกหรอของเครื่องจักรอุปกรณ์ในอัตราที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซเป็นเชื้อเพลิง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 ผลการดำเนินงานของธุรกิจไฟฟ้าทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากมีการปิดโรงไฟฟ้าใหญ่หนึ่งหน่วยเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่นาน 1.5 เดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของค่าไฟฟ้าที่จำหน่ายให้แก่ กฟผ. ช่วยลดผลกระทบจากปริมาณไฟฟ้าที่ลดลง รายได้รวมของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายจึงทรงตัวอยู่ที่ระดับ 5,397 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 24.5% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2555 จาก 23.7% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรที่ดีขึ้นเป็นผลจากราคาขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และราคาไอน้ำที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ต้นทุนเชื้อเพลิงส่วนใหญ่โดยเฉพาะถ่านหินนั้นค่อนข้างทรงตัว แม้ว่าอัตรากำไรจะดีขึ้น แต่ EBITDA ของบริษัทยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1,287 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 เนื่องจากมีผลขาดทุนตามวิธีส่วนได้เสียจำนวน 56 ล้านบาทจากบริษัทร่วมทุนคือ บริษัท คันนา จำกัด อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.8 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2555 คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายจะปรับตัวดีขึ้นในระยะสั้นถึงปานกลางเนื่องจากต้นทุนถ่านหินซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 35%-40% ของต้นทุนการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ในระดับที่ต่ำ นอกจากนี้ การปรับค่าไฟฟ้าผันแปรหรือค่า Ft (Fuel Transfer) ในอัตรา 0.48 บาทต่อหน่วยจะมีผลเต็มที่ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 และอาจ ต่อเนื่องถึงปี 2556 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรของบริษัทมีความเสี่ยงจากโครงการเอทานอลซึ่งจะเริ่มการผลิตระยะแรกได้ภายในสิ้นปี 2555 ปัจจุบันอุตสาหกรรมเอทานอลประสบปัญหาอุปทานส่วนเกิน ในขณะที่ราคาวัตถุดิบมันสำปะหลังปรับตัวขึ้นเนื่องจากถูกแทรกแซงจากนโยบายรับจำนำและรับซื้อสินค้าเกษตรของรัฐบาลในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด การแทรกแซงราคาดังกล่าวส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของเอทานอลที่ผลิตจากมันสำปะหลังลดลงไปอีกเมื่อเทียบกับเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาล อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงต่อไปอีก 2-3 ปี บริษัทมีแผนการลงทุนรวมมูลค่า 35,000 ล้านบาทที่จะต้องดำเนินการต่อเนื่องใน 5 ปีข้างหน้าซึ่งเป็นงบลงทุนทั้งสำหรับการบำรุงรักษาและการขยายธุรกิจ โดยแผนการลงทุนประกอบด้วย การก่อสร้างโรงไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ หรือ IPP (Independent Power Producer) ซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงจำนวน 1 แห่ง โรงไฟฟ้า SPP ซึ่งใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 2 แห่ง และโรงงานเอทานอล นอกจากนี้ ยังรวมถึงการขยายกำลังการผลิตน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน และการพัฒนาเหมืองถ่านหินด้วย ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า SPP จะเปิดดำเนินการในปี 2557-2558 ส่วนโรงไฟฟ้า IPP อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุมัติรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โดยคาดว่าโครงการจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2559-2560 การก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ล่าช้ากว่าแผนเดิม 4 ปีซึ่งส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการบังคับใช้กฏระเบียบใหม่ในช่วงแรกของโครงการ ทริสเรทติ้งมีความกังวลต่อรายการระหว่างบริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง บริษัทย่อยแห่งหนึ่งของบริษัทได้ให้เงินกู้ยืมจำนวน 1,718 ล้านบาทแก่บริษัทที่เกี่ยวข้อง 3 แห่งในอัตราดอกเบี้ย 7.2% ต่อปี และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย ไอพีพี จำกัด (NPSIPP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้ทำสัญญาซื้อที่ดินกับบริษัทที่เกี่ยวข้องจำนวน 2,020 ไร่ มูลค่า 2,568 ล้านบาท ที่ดินแปลงดังกล่าวจะใช้สำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP โดย NPSIPP ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน 2,422 ล้านบาทสำหรับการซื้อที่ดินแปลงนี้ ราคาซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวสูงกว่าราคาที่ดินที่ผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินไว้ที่ 1,041 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวมีเงื่อนไขว่าบริษัทสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณพื้นที่ของที่ดินที่จะซื้อและราคาซื้อขายสุดท้ายจะอ้างอิงจากราคาประเมินล่าสุดซึ่งจะมีการสรุปหลังจากที่ NPSIPP ได้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องและได้ลงนามในสัญญา PPA แล้ว นอกจากนี้ NPSIPP ยังได้ซื้อที่ดินจำนวน 807 ไร่จากบริษัทที่เกี่ยวข้องแห่งหนึ่งในราคา 1,077 ล้านบาทเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำรองสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินราคาอิสระได้ประเมินราคาที่ดินแปลงดังกล่าวไว้ที่ 41 ล้านบาท โดยผลต่างของราคาซื้อขายตามสัญญากับมูลค่ายุติธรรมของที่ดินได้ถูกบันทึกไว้เป็นส่วนหักในส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลายจำกัด (มหาชน) (NPS) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB อันดับเครดิตตราสารหนี้: NPS145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ BBB- NPS156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ BBB- แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ