เปิดข้อเสนอ คปก.ร่างกฎหมายฟอกเงิน ทบทวนความผิดมูลฐาน วางระบบตรวจสอบถ่วงดุล

ข่าวทั่วไป Friday November 2, 2012 14:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. .... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการตราพระราชบัญญัตินี้เพื่อลดผลกระทบจากการจัดลำดับของ FATF ที่จะมีต่อสถาบันการเงิน ภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และมีความเห็นว่าประเทศไทยควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายจึงมีความเห็นและข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่..) พ.ศ. ....ใน 3 ประเด็นสำคัญคือ 1. กรณีการกำหนด “ความผิดมูลฐาน” เพิ่มเติมเพื่อให้ครอบคลุมความผิดร้ายแรง 20 ประเภทที่ FATF กำหนด คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายไม่เห็นพ้องกับการกำหนดให้ความผิดที่สามารถยอมความได้เป็นความผิดมูลฐาน เช่น ความผิดบางฐานที่เกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาตามร่างมาตรา 3 (13) หรือที่เกี่ยวกับทรัพย์ตามร่างมาตรา 3 (18) เพราะความผิดมูลฐานที่เข้าข่ายพระราชบัญญัตินี้ควรมีกรอบฐานความผิดที่ชัดเจนและสมควรมุ่งเน้นไปยังอาชญากรรมร้ายแรง มีลักษณะซับซ้อนไม่ควรหมายรวมถึงความผิดอันยอมความได้ตามกฎหมายอาญา ขณะเดียวกันคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายขอเสนอให้ทบทวนการกำหนดความผิดมูลฐานตาม ร่างมาตรา 3 (15) เนื่องจากข้อความดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะยกเว้นไม่ใช้บังคับกับกลุ่มบุคคลที่ภาครัฐกำลังดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา อาทิ กลุ่มบุคคลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างชุมชนกับเขตป่า และการแก้ปัญหาของกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น ซึ่งจะไม่สอดคล้องกับหลักการสำคัญของกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน นอกจากนี้เสนอให้ทบทวนข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ตัดบทบัญญัติมาตรา 4 วรรคสามของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ความผิดมูลฐานที่เข้าข่ายพระราชบัญญัตินี้ควรมีกรอบฐานความผิดที่ชัดเจน และโดยที่มาตรการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามพระราชบัญญัตินี้มีผลในการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนอกเหนือ ไปจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จึงสมควรมุ่งให้มีผลบังคับเอากับผู้กระทำความผิดรายใหญ่หรือผู้ก่ออาชญากรรมร้ายแรงมีลักษณะซับซ้อนและเกี่ยวพันกับการทำธุรกรรมหรือเอกสารทางการเงิน จึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2.การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายยังไม่เห็นความจำเป็นตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ ที่ให้ตัด “ธุรกรรมที่มีความซับซ้อนผิดไปจากการทำธุรกรรมในลักษณะเดียวกันที่ทำกันอยู่ตามปกติ” และ “ธุรกรรมที่ขาดความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ” ออกจากบทนิยาม “ธุรกรรม ที่มีเหตุอันควรสงสัย” ตามร่างมาตรา 5เพราะลักษณะธุรกรรมข้างต้น เป็นข้อบ่งชี้ประการหนึ่งถึงปัจจัยที่เป็นเหตุอันควรสงสัยในการทำธุรกรรมเพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับข้อบ่งชี้และพฤติการณ์แวดล้อมประการอื่นได้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายมีข้อสังเกตเกี่ยวกับความชัดเจนในการกำหนดความสัมพันธ์ของโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินกับองค์กรหรือหน่วยงานที่มีบทบาทในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจอยู่เดิม เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น และมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่มีการกำหนดมาตรการเชิงลงโทษต่อผู้ประกอบธุรกิจที่มีหน้าที่รายงานตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรการดังกล่าวควรมีหลักเกณฑ์และกระบวนการในการพิจารณากลั่นกรองที่เปิดเผยและให้ผู้ได้รับผลกระทบมีโอกาสชี้แจง รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และกระบวนการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบธุรกิจจนเกินสมควร 3.การดำเนินมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่า ควรมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลจากคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยให้คณะผู้เชี่ยวชาญจัดทำรายงานคู่ขนานเพื่อร่วมทบทวนและประเมินถึงประสิทธิผลและความชอบด้วยกฎหมายในการดำเนินมาตรการต่างๆตามพระราชบัญญัตินี้โดยให้รายงานต่อรัฐสภาควบคู่ไปกับการรายงานสรุปผลการดำเนินงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินโดยรายงานอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชน นอกเหนือไปจากระบบการตรวจสอบถ่วงดุลภายในองค์กรที่มีอยู่แล้ว ติดต่อ: สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ