กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ภายหลังจากคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายศึกษาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยเห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าวใน 2 ประเด็นหลักคือ กรณีขอบเขตการบังคับใช้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิจารณาเห็นว่า การกำหนดข้อยกเว้นในร่างมาตรา 7 ในเรื่องการให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและการให้ประทานบัตรตามกฎหมายว่าด้วยแร่ให้ไม่อยู่ภายใต้บังคับของร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ เป็นการไม่สมควร เนื่องจากการให้สัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและการให้ประทานบัตรตามกฎหมายว่าด้วยแร่นั้น ถือเป็นการอนุญาตให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติของประเทศโดยมุ่งแสวงหาผลกำไร จึงควรมีการควบคุมตรวจสอบอีกขั้นตอนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าเรื่องดังกล่าวมีกฎหมายกำหนดกระบวนการพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนและการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินโครงไว้อย่างเพียงพอแล้ว ก็ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขในร่างมาตรา 7 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติฉบับนี้มาใช้บังคับแก่การเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในเรื่องนั้น คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จึงเห็นควรให้มีการตัดข้อยกเว้นของร่างมาตรา 7 วรรคหนึ่งออก แต่ยังคงหลักเกณฑ์ในร่างมาตรา 7 วรรคหนึ่งไว้
สำหรับมาตรา 7 วรรคสอง ของร่างพระราชบัญญัติฯ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พิจารณาเห็นว่า การกำหนดข้อยกเว้นมิให้นำพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มาใช้บังคับหากมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์ไว้เป็นการเฉพาะ ก็หมายความว่าฝ่ายนิติบัญญัติได้มอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารกำหนดกระบวนการพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินโครงการได้ เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการกำหนดหลักเกณฑ์โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติอีก คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จึงเห็นชอบกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวที่กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเว้นไม่ให้นำร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้มาใช้กับกรณีที่ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐซึ่งกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ
ทั้งนี้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเพิ่มเติม ให้กระบวนการพิจารณาและกระบวนการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยกำหนดให้คณะกรรมการฯ ดังกล่าวทำหน้าที่พิจารณาและกลั่นกรอง การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในพระราชกฤษฎีกา
ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นควรให้มีการเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในข้อยกเว้นของร่างมาตรา 7 วรรคสอง “ในกรณีที่กิจการของรัฐในเรื่องใดมีกฎหมายกำหนดกระบวนการพิจารณาการให้เอกชนร่วมลงทุนและการกำกับดูแลและติดตามผลการดำเนินโครงการไว้อย่างเพียงพอแล้วจะตราพระราชกฤษฎีกาโดยให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนเพื่อยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติฉบับนี้มาใช้บังคับแก่การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐในเรื่องนั้นก็ได้”
กรณีคุณสมบัติของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตั้งข้อสังเกตว่าการกำหนดให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ ควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้หรือมีความเชี่ยวชาญ อาทิเช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ในสาขานิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน การบัญชี หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถปฏิบัติงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ดังนั้นคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เห็นควรให้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ในข้อยกเว้นของร่างมาตรา 9 “การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา 8 ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในสาขานิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน การบัญชี หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อโดยวิธีการสรรหา ” นอกจากนี้เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐครบถ้วน โปร่งใส และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อีกทั้งสนับสนุนการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน จึงจำเป็นต้องมีการตราร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวโดยเร็ว
ติดต่อ:
สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔