กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 99.98% โดย บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารทิสโก้ที่ระดับ “A” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารที่ระดับ “A” และ “A-” ตามลำดับด้วยเช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหาร การมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดี และการดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีสินทรัพย์คุณภาพดีและความสามารถในการรักษาระดับกำไรไว้ได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตถูกลดทอนลงจากเครือข่ายของธนาคารที่มีอยู่จำกัดเมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ตลอดจนระดับของสัดส่วนหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ นอกจากนี้ ธนาคารยังเผชิญภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคาร และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก โดยปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรและความสามารถในการแข่งขันของธนาคารได้ในระยะยาว ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนความคาดหวังว่าธนาคารทิสโก้จะสามารถดำรงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์และมีผลประกอบการที่ดีได้ในระยะกลาง แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และการดำรงเงินกองทุนที่เพียงพอ ทั้งนี้ ความสามารถในการรักษาจุดแข็งของธนาคาร การมีฐานทุนที่แข็งแกร่งมากขึ้น และการรักษาเสถียรภาพของแหล่งเงินทุนไว้ได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่ออันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคาร
ทริสเรทติ้งรายงานว่า ธนาคารทิสโก้ได้พัฒนาบุคลากรระดับผู้บริหาร โดยมีการบริหารงานด้วยความระมัดระวัง ส่งผลให้ธนาคารสามารถเติบโตในตลาดกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 10 จากธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อ 2.5% และเงินรับฝาก 1.0% ธนาคารขยายสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตถึง 33% ในปี 2553, 24% ในปี 2554 และ 20% สำหรับครึ่งปีแรกของปี 2555 ยอดสินเชื่อ ณ เดือนมิถุนายน 2555 มีจำนวน 203.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จาก 179.6 พันล้านบาทในปี 2554 โดยเพิ่มขึ้นทั้งสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย ธนาคารยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อเอาไว้ได้ โดยเป็นผู้ให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 จากจำนวน 17 แห่ง ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 13% ณ เดือนมีนาคม 2555
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ผลประกอบการของธนาคารทิสโก้ปรับตัวดีขึ้น กำไรสุทธิในปี 2554 จำนวน 2,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปีก่อน อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 1.36% และ 17.00% ตามลำดับในปี 2553 เป็น 1.41% และ 20.22% ในปี 2554 กำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2555 เท่ากับ 1,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปีก่อน ผลประกอบการที่ดีขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม รวมทั้งการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายด้านเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงในปี 2554 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2555 จากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดสูงขึ้นจากการแข่งขันระดมเงินทุนอย่างมาก นอกจากนี้ ต้นทุนค่าธรรมเนียมจากฐานเงินฝากและตั๋วแลกเงินยังเพิ่มขึ้นจากการบังคับใช้เกณฑ์ใหม่ในปี 2555 ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารได้อีกด้วย
คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารทิสโก้ยังคงแข็งแกร่งจากการมีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีสินเชื่อด้อยคุณภาพทั้งสิ้น 2.4 พันล้านบาท ลดลงจาก 2.6 พันล้านบาทในปี 2551 อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 2.52% ในปี 2551 มาอยู่ที่ 1.18% ในเดือนมิถุนายน 2555 โดยเป็นระดับต่ำที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 3.37% ธนาคารดำรงเงินกองทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญไว้อย่างเพียงพอ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ประกอบด้วยสินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) คิดเป็นเพียง 0.18 เท่าของเงินกองทุนซึ่งรวมค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และดีกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 0.47 เท่า
ด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่อง ธนาคารทิสโก้มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระดับหนึ่ง โดยธนาคารยังคงพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากลูกค้ารายใหญ่ซึ่งอาจเกิดความผันผวนได้ง่ายกว่าเงินทุนที่ได้จากลูกค้ารายย่อย ในปี 2554 เงินทุนส่วนใหญ่ของธนาคารมาจากผู้ฝากเงินและผู้ให้กู้ยืมรายใหญ่ (เงินฝากหรือตั๋วแลกเงินที่มากกว่า 10 ล้านบาท) คิดเป็น 73% ของฐานเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน ซึ่งสภาพคล่องของธนาคารอาจอ่อนแอลงหากลูกค้ารายใหญ่หลายรายทำการเบิกถอนเงินในคราวเดียวกัน
เงินกองทุนของธนาคารทิสโก้ยังคงเพียงพอสำหรับการขยายธุรกิจและรองรับผลขาดทุนที่มิอาจคาดการณ์ได้ในระยะกลาง ธนาคารคำนวณเงินกองทุนสำหรับความเสี่ยงด้านเครดิตด้วยวิธี Internal Rating Based Approach (IRB) ภายใต้เกณฑ์ Basel II ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและเงินกองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2555 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงเท่ากับ 9.40% และ 14.34% ตามลำดับ ลดลงจาก 9.88% และ 14.91% ในปี 2554 อันเป็นผลจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของระบบที่ระดับ 11.35% และ 15.84% ตามลำดับ แต่ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระดับ 4.25% และ 8.50% ทริสเรทติ้งกล่าว
ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) (TISCOB)
อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ในโครงการ Medium-term Debenture
- TISCO133A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,324.3 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
- TISCO133B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
- TISCO134A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 503.9 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A
- TISCO192A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A-
- TISCO195A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A-
- TISCO205A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A-
- TISCO20DA: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 คงเดิมที่ A-
- TISCO223A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 คงเดิมที่ A-
- หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2565 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive (บวก)