กรุงเทพฯ--5 พ.ย.--ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารกรุงไทยจับมือดั๊บเบิ้ลเอ ช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้กับเกษตรกร ปล่อยสินเชื่อ KTB Micro Bank เพื่อเกษตรกรผู้ปลูกและดูแลต้นกระดาษ วงเงิน 500 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งทุนหมุนเวียน โดยเกษตรกรที่ดูแลต้นกระดาษตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปและได้รับการคัดเลือก สามารถขอสินเชื่อได้วงเงินรายละ 200,000 บาท
นายธีรินทร์ เต่าทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญในการสนับสนุนด้านการเงินแก่ลูกค้าในระดับฐานรากของประเทศ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยลดปัญหาการกู้เงินนอกระบบ และทำให้ผู้ค้ารายย่อยมีต้นทุนการค้าที่ต่ำลง รวมทั้งสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อยในภาคเกษตร โดยธนาคารกรุงไทยได้ร่วมกับดั๊บเบิ้ล เอ สนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกร เพื่อนำไปเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการปลูกและดูแลต้นกระดาษ รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ ภายใต้โครงการ สินเชื่อ KTB Micro Bank เพื่อเกษตรกรผู้ปลูกและดูแลต้นกระดาษ โดยเกษตรกรที่ดูแลต้นกระดาษตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป สามารถขอสินเชื่อกับธนาคารได้ ในวงเงินรายละไม่เกิน 200,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 26 เดือน และสามารถติดต่อขอสินเชื่อได้ที่ทุกสาขาของธนาคารกรุงไทยกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นทางเลือกทางการเงินแก่เกษตรกรในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่มีภาระดอกเบี้ยสูง ซึ่งจากการสำรวจร่วมกับธนาคารกรุงไทยพบว่า ยังมีเกษตรกรเป็นจำนวนมากที่ประสบปัญหาดังกล่าว ดั๊บเบิ้ล เอ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เปิดตัวสินเชื่อ KTB Micro Bank เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกและดูแลต้นกระดาษ สามารถนำต้นกระดาษอายุ 1 ปี และ 2 ปี มาเป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อกับธนาคาร ทั้งนี้เกษตรกรต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกปลูกต้นกระดาษกับดั๊บเบิ้ล เอ มีการดูแลรักษาต้นกระดาษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี โดยบริษัท จะเป็นผู้ยืนยันจำนวนต้นกระดาษที่จะใช้เป็นหลักทรัพย์ให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ ยังได้เปิดตัวแคมเปญ ปลูกปุ๊บ ก็ได้ออมปั๊บ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้พื้นที่ว่างบนคันนามาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยมี ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ เป็นพรีเซนเตอร์ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรทั้งสมาชิกเดิมและสมาชิกใหม่ ร่วมปลูกต้นกระดาษในปีหน้าไม่น้อยกว่า 200 ล้านต้น
ฝ่ายสื่อสารองค์กรและภาพลักษณ์
โทร. 0-2208-4174-7