กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล
อีกไม่นานออสเตรเลียจะเป็นประเทศแรกที่กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งหมดต้องจำหน่ายในซองบรรจุภัณฑ์แบบเรียบ (plain packaging) ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2555 นี้เป็นต้นไป ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรายจะต้องผลิตซองบุหรี่แบบเดียวกันทุกยี่ห้อ กล่าวคือ พื้นที่ร้อยละ 75 ด้านหน้าของซองและร้อยละ 90 ด้านหลังของซองจะเป็นรูปภาพเตือนอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพ และยี่ห้อผลิตภัณฑ์จะใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันหมดอยู่บริเวณส่วนที่เหลือของซอง ซึ่งจะต้องเป็นซองสีเขียวมะกอกเท่านั้น โดยผู้ผลิตจะไม่สามารถใช้รูปโลโก้ที่มีชื่อเสียง สิ่งอื่นๆ ที่ใช้สร้างตราสินค้า เครื่องหมายการค้า หรือสีใด ๆ บนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบได้เลย
รัฐบาลออสเตรเลียให้เหตุผลว่าการใช้ตราสินค้าบนซองผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นการทำให้ผู้สูบบุหรี่สูบบุหรี่มากขึ้นและยิ่งส่งเสริมให้เกิดการสูบบุหรี่ในระยะยาว อย่างไรก็ดี การให้เหตุผลดังกล่าวมีผู้โต้แย้งว่าการสร้างตราสินค้าเป็นเพียงการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้ตราสินค้าต่างๆ และจะต้องไม่นำเรื่องความจงรักภักดีต่อตราสินค้ามาทำให้เกิดความสับสนกับลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งเสพติด
อย่างไรก็ดี แม้ออสเตรเลียจะได้ดำเนินมาตรการเกี่ยวกับบุหรี่และซองบุหรี่ดังกล่าว แต่เมื่อไม่นานมานี้ ศาลในสหรัฐอเมริกามีคำวินิจฉัยว่า ระเบียบที่กำหนดให้ผู้ผลิตบุหรี่ต้องแสดงภาพคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพลงบนซองบุหรี่ที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากศาลเห็นว่าองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้เสนอให้ออกระเบียบดังกล่าว ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าการแสดงภาพ คำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ที่มีขนาดครึ่งหนึ่งของซองบุหรี่นั้นจะลดการสูบบุหรี่ได้ โดยกล่าวว่า “องค์การอาหารและยาไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานใดเลยแม้แต่น้อย...ว่าภาพคำเตือนจะมีผล ‘โดยตรง’ ในการช่วยลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ชาวอเมริกันได้” นอกจากนี้ ศาลในสหรัฐอเมริกายังเห็นว่า ประเทศที่ใช้มาตรการแสดงภาพคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ เช่น ประเทศไทย ก็ยังไม่มีข้อมูลที่สนับสนุนมาตรการดังกล่าว โดยกล่าวว่า “น่าแปลกที่ประเทศเหล่านี้ไม่มีข้อมูลที่แสดงว่าอัตราการสูบบุหรี่ในประเทศลดลง ซึ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการแสดงคำเตือนลักษณะดังกล่าวไม่ได้ผลมากนักในเรื่องการรณรงค์ให้เลิกบุหรี่และลดจำนวนผู้สูบรายใหม่”
ประเทศไทยมีมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับยาสูบที่เข้มงวดมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น ซองผลิตภัณฑ์ยาสูบต้องแสดงภาพเตือนเกี่ยวกับอันตรายของการสูบบุหรี่ที่กินพื้นที่ถึงร้อยละ 55 บริเวณด้านหน้าและด้านหลังซอง มาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ส่วนใหญ่ และห้ามโฆษณาและทำการตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยสิ้นเชิง และเมื่อรัฐบาลออสเตรเลียออกกฎหมายดังกล่าวแล้ว กระทรวงสาธารณสุขไทยมีท่าทีว่าอาจจะพิจารณากำหนดให้ใช้ซองบุหรี่แบบเรียบเช่นกัน นอกจากนี้ ร่างพระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่จะกำหนดมาตรการเข้มงวดมากขึ้น รวมถึงให้รัฐกำหนดรูปแบบบรรจุภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลักดันให้มีการบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบในประเทศไทย
ในระหว่างที่เรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อยุติ มีประเด็นข้อกฎหมายและปัญหาในทางปฏิบัติที่สำคัญบางประการซึ่งต้องพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ
ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ว่า “สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินย่อมได้รับความคุ้มครอง” และบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม เนื่องจากรัฐมิได้ประเมินผลกระทบจากการออกกฎหมายเพื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เครื่องหมายการค้าบนผลิตภัณฑ์ยาสูบกับปัญหาสังคมจากการสูบบุหรี่ การห้ามในลักษณะนี้จึงอาจเป็นมาตรการที่ไม่ได้สัดส่วนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นประเด็นที่อาจมีข้อโต้เถียงได้สิทธิใช้เครื่องหมายการค้าและมูลค่าของเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้าให้ประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าในแง่มูลค่าสินทรัพย์ มูลค่าในการอนุญาตให้ใช้สิทธิ มูลค่าในการโอนสิทธิ รวมถึงค่านิยมทางการค้า (goodwill) ที่สำคัญคือ เครื่องหมายการค้ายังเป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่างระหว่างสินค้าของผู้ประกอบการรายหนึ่งกับสินค้าของผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง จึงเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้บริโภคในประเทศไทย โดยทำให้สาธารณชนและผู้บริโภคในประเทศสามารถแยกแยะได้ว่าสินค้าจากผู้ประกอบการรายหนึ่งต่างจากสินค้าจากผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลเพียงแค่การที่สินค้าหนึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดข้อถกเถียง ไม่ได้หมายความว่า สาธารณชนทั่วไปและเจ้าของเครื่องหมายการค้าไม่ควรได้รับประโยชน์จากหน้าที่อันสำคัญของเครื่องหมายการค้าในการบ่งชี้ถึงคุณภาพของสินค้านั้น
ในการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เจ้าของเครื่องหมายการค้าจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive rights) ในอันที่จะใช้และอนุญาตให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้านั้นในประเทศไทย การห้ามมิให้ใช้เครื่องหมายการค้ากับผลิตภัณฑ์ยาสูบย่อมมีผลเป็นการห้ามมิให้เจ้าของเครื่องหมายการค้าใช้เครื่องหมายการค้าของตนและยังก่อให้เกิดความเสี่ยงที่เครื่องหมายการค้าจะถูกเพิกถอนเนื่องจากไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้า (non-use) อีกด้วย
อันที่จริงแล้ว ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศตามพิธีสารมาดริด (Madrid Protocol) ต่อไปบริษัทในประเทศไทยจึงสามารถเลือกใช้ระบบยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศซึ่งจะมีขึ้นใหม่ดังกล่าวได้เมื่อธุรกิจของบริษัทเติบโตขยายตัวไปตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยแต่เดิมถูกเพิกถอนไม่ว่าด้วยเหตุผลใด รวมถึงกรณีถูกเพิกถอนเนื่องจากมิได้ใช้เครื่องหมายการค้า จะทำให้การจดทะเบียนระหว่างประเทศสิ้นผลไปด้วย (Central Attack) และเครื่องหมายการค้าเดียวกันในประเทศอื่น ๆ จะถูกเพิกถอนไปด้วยเช่นกัน
พันธกรณีของรัฐไทยตามสนธิสัญญาต่างๆ ขององค์การการค้าโลก (WTO)
เครื่องหมายการค้าอันมีค่าของผู้ประกอบการนั้น นอกจากจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายไทยแล้ว ยังได้รับการคุ้มครองตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ รวมถึงความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือ “ความตกลงทริปส์” (Agreements on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) ขององค์การการค้าโลกอีกด้วย ทั้งนี้ การออกกฎหมายระเบียบข้อบังคับไทยเพื่อควบคุมการใช้เครื่องหมายการค้าย่อมจะก่อให้เกิดคำถามเรื่องพันธกรณีของรัฐไทยตามข้อกำหนดต่าง ๆ แห่งความตกลงทริปส์ รวมทั้งบทบัญญัติในข้อ 20 ซึ่งห้ามมิให้ขัดขวางการใช้เครื่องหมายการค้าในทางการค้าอย่างไม่เหมาะสม
ขณะนี้ประเทศออสเตรเลียกำลังแก้ไขปัญหาจากการบัญญัติกฎหมายเพื่อบังคับใช้ซองบุหรี่แบบเรียบกับองค์การการค้าโลก เนื่องจากมีประเทศถึงสามประเทศที่ยื่นคำขอต่อองค์การการค้าโลกเพื่อปรึกษาหารือกับออสเตรเลียอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบของออสเตรเลีย ทั้งนี้ ในเรื่องมาตรการซองบุหรี่แบบเรียบของประเทศออสเตรเลียนี้ คณะกรรมการระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลกได้ตกลงตั้งคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยคำฟ้องของประเทศยูเครนแล้วเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 การแพ้คดีที่องค์การการค้าโลกและคดีระหว่างประเทศคดีอื่น ๆ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาย่อมอาจส่งผลให้กฎหมายดังกล่าวของออสเตรเลียตกไปและออสเตรเลียอาจต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งประเทศไทยก็เคยมีประสบการณ์เช่นนี้มาแล้วเมื่อครั้งที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอบังคับให้แสดงภาพคำเตือนเกี่ยวกับอันตรายต่อสุขภาพบนผลิตภัณฑ์สุรา และมีหลายประเทศ (รวมทั้งออสเตรเลีย) ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อเสนอดังกล่าวต่อองค์การการค้าโลก
เครื่องหมายการค้าช่วยต่อต้านสินค้าปลอม
นับตั้งแต่ พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา ประเทศไทยอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษของสหรัฐอเมริกา (USTR’s Priority Watch List) เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามากที่สุดในโลก ทุกวันนี้ สินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้าสามารถพบเห็นได้ง่ายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม การออกกฎระเบียบเรื่องซองบุหรี่แบบเรียบจะยิ่งทำให้การตรวจสอบสินค้าบุหรี่ที่เป็นสินค้าปลอม สินค้าลอบนำเข้า หรือสินค้าที่จำหน่ายโดยผิดกฎหมายในลักษณะอื่น ๆ ทำได้ยากมาก เนื่องจากจะส่งผลให้ไม่มีสิ่งที่สามารถบ่งชี้ผลิตภัณฑ์อีกต่อไป หากซองบุหรี่ทุกซองมีลักษณะเหมือนกันและไม่มีสิ่งที่ใช้ป้องกันการปลอมแปลงได้ กรมศุลกากรจะไม่สามารถแยกแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าปลอมกับสินค้าของแท้ได้อีก ซึ่งคงจะยิ่งทำให้ผู้ละเมิดสิทธิเลียนแบบสินค้าได้ง่ายขึ้น และมีการขายสินค้าผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นอีก ทั้งยังจะก่อให้เกิดความสับสนในหมู่ผู้บริโภคว่าสินค้าใดเป็นของแท้หรือของปลอม และทำให้รัฐบาลมีรายได้ภาษีลดลงจากการที่สินค้าผิดกฎหมายไม่ต้องเสียภาษีอีกด้วย
ในภาพรวม ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้แนวทางจัดการประเด็นปัญหาข้างต้นที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและก่อให้เกิดผลดีในทางปฏิบัติ มิใช่ดำเนินมาตรการตามประเทศใดประเทศหนึ่งซึ่งใช้มาตรการที่สุดโต่ง หรือให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่ขาดความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นผู้กำหนดทิศทาง ทั้งนี้ ประเทศออสเตรเลียมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม และกฎหมายแตกต่างจากประเทศไทย หน่วยงานของรัฐไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาว่า มาตรการที่จะกำหนดนั้นจะไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของปวงชนชาวไทย หรือเป็นการขัดขวางมาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย อีกทั้งไม่เป็นการฝ่าฝืนพันธกรณีด้านการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศไทยหรือก่อให้เกิดการลักลอบนำเข้าบุหรี่และการปลอมสินค้าบุหรี่ในประเทศไทยอย่างคาดไม่ถึง
บทความนี้จัดทำโดยนายอลัน แอดค๊อก หุ้นส่วน และรองผู้อำนวยการแผนกทรัพย์สินทางปัญญา และนายเจมส์ เอแวนส์ ที่ปรึกษา สำนักงานกฎหมายติลลิกีแอนด์กิบบินส์ สำนักงานกฎหมายติลลิกีแอนด์กิบบินส์เป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ลูกความทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้ง ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กรุณาส่งความเห็นมาที่นายแอนดรูว์ สเตาท์เลย์ ที่ andrew.s@tilleke.com
ติดต่อ:
คุณแอนดรูว์ สเตาท์เลย์
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและการพัฒนาธุรกิจ
Director, Marketing and Business Development
โทรศัพท์: +66 2653 5547
อีเมล์: andrew.s@tilleke.com