กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--GIZ
ในภาพจากซ้าย
1) มร. บ็อบ นอร์แมน ผู้จัดการทั่วไปของ GreenPalm
2) มร. ไซม่อน เพอร์รี่ ผู้จัดการฝ่ายจัดหาวัตถุดิบ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
3) มร. อัลวี ฮาฟิซ กรรมการผู้จัดการ BSI Group ภูมิภาคอาเซียน
4) มร. ดาเนียล มาย ผู้อำนวยการโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืน องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
5) มร. โฟลเคอร์ สติมเลอร์ อุปทูต สถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย
ในพิธีมอบประกาศนียบัตร RSPO ของเกษตรกรรายย่อยแก่บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพชั้นนำของโลกคว้าสิทธิน้ำมันปาล์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ภายใต้ระบบการจองสิทธิและการอ้างสิทธิจากกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอิสระไทย 4 กลุ่มที่ผ่านการรับรองจาก RSPO เป็นรายแรกของโลก การซื้อสิทธิน้ำมันปาล์มที่ได้มาตรฐาน RSPO ในครั้งนี้ถือได้ว่าบริษัทฯ ให้การสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรรายย่อยและการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนโดยตรง
กลุ่มเกษตรกรรายย่อยทั้ง 4 กลุ่มนี้เป็นเกษตรกรรายย่อยนำร่องของโครงการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืนที่ทาง RSPO เพิ่งจะให้การรับรองในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โครงการระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคม 2552- มิถุนายน 2555) นี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และดำเนินงานโดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โครงการได้สนับสนุนการพัฒนาระบบการผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรรายย่อย ซึ่งมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน สามารถเพิ่มรายได้ราว 40 ล้านบาทต่อปี และต้นทุนการผลิตก็ลดลงอย่างน่าพอใจ นอกจากนั้นยังสามารถจำหน่ายน้ำมันปาล์มที่ได้มาตรฐาน RSPO ได้ราคาดีพิเศษอีกด้วย โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ร่วมโครงการซึ่งให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรเป็นอย่างดี ก็ได้รับผลตอบแทนทางการเงินจากอัตราการสกัดนำมันปาล์มที่สูงขึ้น พบว่าโอกาสขยายผลของโครงการในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยมีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับการรับรองแล้วมีเพียง 412 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวม 17,155 ไร่และผลิตทะลายปาล์มสดได้เพียง 52,000 ตัน/ปี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ GIZ
โทรศัพท์: 02 661 9273 ต่อ 33 อีเมล์: [email protected]