กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--วช.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กำหนดจัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลงานการวิจัย เรื่อง “การวิจัยเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของประเทศไทย” ในวันอังคารที่ 28 กันยายน 2547 ณ ห้องจูปิเตอร์ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีนายสันทัด โรจนสุนทร ประธานกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา เวลา 09.00 น.
ประเทศไทยประสบกับปัญหาการตรวจพบสารตกค้างในสินค้ากุ้งจากสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2545 สร้างความเสียหายต่อชื่อเสียงของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการชะลอตัวทางด้านการผลิตและการตลาดอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการจัดระบบการเลี้ยงในฟาร์มไม่เหมาะสม เกษตรกรยังมีความเคยชินกับการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงกุ้ง ไม่มีการตรวจสอบสารตกค้างกันอย่างจริงจัง การขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ ลูกกุ้งขาดคุณภาพติดโรคง่าย กุ้งแคระแกร็นเลี้ยงไม่โต ต้นทุนการผลิตสูง ปัญหาราคากุ้งตกต่ำ เป็นต้น จากปัญหาดังกล่าวหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ให้ความร่วมมือแก้ไขกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเจรจาทางการค้าเพื่อลดภาวะกดดันและการผ่อนปรนการตรวจสอบสารตกค้างในสินค้ากุ้งจากประเทศไทย ปรับระบบการเลี้ยงกุ้งให้ปลอดสารตกค้าง ตลอดจนให้ความรู้แก่เกษตรกรและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสารตกค้างก่อนจะส่งสินค้ากุ้งออกไปต่างประเทศ
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัย
เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของประเทศไทยทั้งระบบและครบวงจร ในปีงบประมาณ 2546 โดยมีชุดโครงการวิจัยทั้งหมด 7 ชุดโครงการ คือ ชุดโครงการรวบรวมวิเคราะห์และสังเคราะห์งานวิจัยกุ้งทะเลของประเทศไทย ชุดโครงการวิจัยอาหารกุ้งกุลาดำเพื่อนำไปสู่การผลิตกุ้งปลอดภัย ปลอดสารพิษและเอื้อต่อสิ่งแวดล้อม ชุดโครงการวิจัยโรคและการใช้ยาในกุ้ง ชุดโครงการวิจัยการพัฒนาวิธีการและเครื่องมือตรวจวัดสารตกค้างในกุ้ง ชุดโครงการวิจัยแผนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการผลิตและการส่งออกกุ้งกุลาดำ โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาการเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมอย่างยั่งยืน และโครงการจัดทำหนังสืออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศไทย ซึ่งขณะนี้ชุดโครงการวิจัยทั้ง 7 ชุดโครงการ ได้รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว สำนักงานฯ จึงได้จัดการสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการวิจัยในครั้งนี้ขึ้น เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคมผู้เลี้ยงและส่งออก ได้นำผลงานวิจัยไปประยุกต์ใช้ประโยชน์ รวมทั้งสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ จะได้ช่วยกันเผยแพร่ผลงานวิจัยดังกล่าวให้มีการนำไปใช้แก้ปัญหาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งอย่างกว้างขวางต่อไป โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วย นักวิชาการจากภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ผู้ประกอบการค้าเคมีภัณฑ์ อุปกรณ์และอาหารกุ้ง จำนวนประมาณ 300 คน--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--