กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ไอแอม พีอาร์
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงาน "มุมนมแม่" ของ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนองพระปณิธาน “ให้นมแม่เป็นอาวุธ สร้างสุขให้เด็กไทย” อันเป็นหนึ่งในกิจกรรมภายใต้ โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว
เมื่อวันจันทร์ที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทอดพระเนตรการดำเนินงาน "มุมนมแม่" ของ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตเครื่องสำอางมิสทิน เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่พนักงานหญิงที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และที่กำลังวางแผนจะมีบุตรในอนาคต ให้สามารถเลี้ยงลูกได้อย่างต่อเนื่อง อันจะนำไปสู่ความมั่นคงเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไทย ณ อาคารเบทเตอร์เวย์ ถนนรามคำแหง สะพานสูง กรุงเทพฯ
แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจัดทำมุมนมแม่ของบริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางขายตรงมิสทิน เกิดขึ้นภายใต้ “โครงการการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2554” เพื่อสนองพระปณิธานของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อันเป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้ "โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว" และพระดำริเรื่องแม่ทำงานที่ทรงสนับสนุนให้แม่ทำงานมีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ต่อเนื่อง โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“มิสทิน เป็นองค์กรเอกชนที่เข้าร่วมโครงการการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดสวัสดิการให้แก่พนักงานหญิงซึ่งมีประมาณ 2,200 คน ให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานขึ้น ให้ลูกมีสุขภาพแข็งแรง ประหยัดค่าใช้จ่ายจากการที่ไม่ต้องซื้อนมผสม ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดย มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำการจัดตั้งมุมนมแม่และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สนับสนุนสื่อความรู้และประชาสัมพันธ์ และให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรต่างๆ ด้านกรมสวัสดิการฯ จะเป็นผู้เชิญชวนคัดเลือก และให้คำแนะนำแก่สถานประกอบกิจการที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมติดตามประเมินผลการจัดทำมุมนมแม่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครที่เข้าร่วมโครงการแล้วประมาณ 300 แห่ง” ประธานมูลนิธิฯ กล่าว
นายดนัย ดีโรจนวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า มิสทินตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำมุมนมแม่ในสถานที่ทำงานอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่องทางที่จะช่วยให้พนักงานและบุตรมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานด้วย
“มิสทินได้เริ่มจัดทำมุมนมแม่ในสำนักงานใหญ่ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีวัตถุประสงค์กระตุ้นให้พนักงานหญิงเห็นความสำคัญและหันกลับมาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่เด็กได้มีโอกาสกินนมแม่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโต ความเฉลียวฉลาดทางสติปัญญาและความแข็งแรง อีกทั้งยังสร้างความผูกพันและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแม่กับลูกให้เกิดขึ้นในครอบครัว เด็กเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศต่อไปในอนาคต เมื่อเห็นพนักงานสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ และสามารถเป็นต้นแบบ และแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนพนักงานหญิงคนอื่นๆ ได้ในอนาคตอันใกล้นี้ มิสทิน จัดเตรียมแผนขยายนโยบายฯ เพิ่มในสำนักงานสาขาทั่วประเทศ ต่อไป” นายดนัยอธิบาย
โครงการการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สถานประกอบกิจการ พ.ศ.2554 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เพื่อใช้ในการจัดทำมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการเอกชน ซึ่งจะช่วยให้แม่ทำงานได้มีโอกาสเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวใน 6 เดือนแรก หลังจากนั้นจึงให้นมแม่ร่วมกับอาหารตามวัยจนลูกอายุถึง 2 ปีได้ประสบความสำเร็จ
นางพรธิดา พัดทอง ผู้ประสานงานโครงการสนับสนุนส่งเสริมและคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ เปิดเผยว่า “องค์การยูนิเซฟเห็นความสำคัญของการสนับสนุนให้จัดมีมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการเป็นอย่างมาก เพราะมุมนมแม่จะเป็นพื้นที่และโอกาสที่ช่วยให้แม่ทำงานได้ทำหน้าที่แม่อย่างสมบูรณ์แบบ ทั้งการเป็นมุมให้ความรู้ที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จ และเป็นมุมปั๊มเก็บน้ำนมเพื่อให้ลูกน้อยได้มีโอกาสกินนมแม่อย่างเพียงพอ อีกทั้งสถานประกอบกิจการจะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศอีกด้วย”
ทางด้าน แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และกรมสวัสดิการฯ ได้ร่วมกันส่งเสริมให้มีการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการแล้วจำนวน 906 แห่งทั่วประเทศ และมีเป้าหมายขยายเพิ่มอีก 120 แห่ง ภายในปี 2556 จึงขอเชิญชวนสถานประกอบกิจการที่มีลักษณะ “เป็นสำนักงาน” เข้าร่วม โครงการจัดตั้งมุมนมแม่ ในปัจจุบันมีพนักงาน มีความสนใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ทางมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ มีความยินดีให้คำแนะนำและสนับสนุนชุดสื่อความรู้การจัดตั้งมุมนมแม่ในที่ทำงาน
และข่าวดี สำหรับสถานประกอบกิจการ ที่จัดตั้งมุมนมแม่ ได้สำเร็จแล้ว ขณะนี้มูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ได้จัด “โครงการคัดเลือกมุมนมแม่ต้นแบบในสถานประกอบกิจการ” พ.ศ. 2556 ขึ้น โดยเปิดรับสมัครเข้ารับการคัดเลือกแล้ว ตั้งแต่บัดนี้ จนถึง วันที่ 20 ธันวาคม 2555 เพื่อคัดเลือกและประกาศเกียรติคุณสถานประกอบกิจการที่ สามารถจัดตั้งมุมนมแม่ได้ประสบความสำเร็จ และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่สถานประกอบกิจการอื่นๆ ต่อไป
จึงขอเชิญชวน “สถานประกอบกิจการ สามารถส่งเข้าร่วมประกวดในโครงการได้ จะต้องมีคุณสมบัติคือ สถานประกอบกิจการที่มี ลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป จัดตั้งมุมนมแม่ได้สำเร็จ และปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินประเมินตนเอง โดยสถานประกอบกิจการที่ผ่านการคัดเลือก จะต้องจัดแสดงผลงาน และรับโล่รางวัล “มุมนมแม่ต้นแบบ” ในงาน ประชุมวิชาการนมแม่แห่งชาติ ครั้งที่ 4 ปี 2556 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2556 นี้” เลขาธิการมูลนิธิฯ กล่าวสรุป
สถานประกอบกิจการที่สนใจสามารถติดตามรายได้ละเอียดได้ที่ มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย โทรศัพท์ 0—2354—8404 หรือมือถือ 08—1831-2202 และ 08—1831-2264 และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซด์ www.thaibreastfeeding.org