กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยืนยันอันดับเครดิตของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมทั้งหุ้นกู้ไม่มีประกัน THAI08OA และ THAI10OA ของบริษัทที่ระดับ “AA-” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาทที่ระดับ “AA-” โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระเงินกู้การเช่าดำเนินงานซึ่งมีต้นทุนสูง อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงการมีผลประกอบการที่มีกำไรในระดับที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง สถานะผู้นำธุรกิจการบินภายในประเทศและสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจการบินระหว่างประเทศในเส้นทางที่บินเข้าและออกจากกรุงเทพฯ รวมทั้งการได้รับประโยชน์จากการเป็นสมาชิก Star Alliance ซึ่งเป็นเครือข่ายพันธมิตรสายการบินที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงการที่บริษัทเป็นสายการบินแห่งชาติที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสายการบินอันเนื่องมาจากภาวะอุปทานส่วนเกิน ความเสี่ยงจากราคาน้ำมันที่ผันผวน รวมถึงภาระหนี้สินของบริษัทที่ค่อนข้างสูง แม้แผนการปรับปรุงฝูงบินจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท ทว่าการลงทุนจำนวนมากเพื่อการดังกล่าวจะต้องใช้แหล่งเงินทุนบางส่วนจากการกู้ยืม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายที่บริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานในระดับที่ดีไว้ได้อย่างต่อเนื่องจากความต้องการบริการขนส่งทางอากาศที่ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นและการสนับสนุนจากรัฐบาลในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยแม้จะประสบกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงและค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็สามารถลดภาระดังกล่าวได้บางส่วนจากการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมชดเชยน้ำมันเชื้อเพลิงจากผู้ใช้บริการ
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทการบินไทยก่อตั้งในปี 2503 โดยการร่วมทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐบาลไทยกับ Scandinavian Airlines System เพื่อให้บริการการบินระหว่างประเทศ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐของไทยถือหุ้นในบริษัท 54% ซึ่งบริษัทได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในด้านการเงินและการดำเนินงานในฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจและสายการบินแห่งชาติ ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจการบินทวีความเข้มข้นขึ้นหลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินนโยบายเปิดเสรีธุรกิจการบินตั้งแต่ปี 2541 โดยอนุญาตให้สายการบินของไทยทุกแห่งสามารถให้บริการในทุกเส้นทางการบินที่ประเทศไทยได้รับสิทธิ บริษัทมีส่วนแบ่งบริการการบินทั้งตลาดในประเทศและตลาดระหว่างประเทศรวมประมาณ 53% จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการของท่าอากาศยานกรุงเทพในปี 2546 บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในประเทศที่เข้มแข็งประมาณ 84% ในปี 2546 ซึ่งลดลงเล็กน้อยจาก 87% ในปี 2545 โดยแม้จะได้รับผลกระทบจากสายการบินต้นทุนต่ำซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปลายปี 2546 แต่บริษัทก็ยังคงความเป็นผู้นำเพราะมีคุณภาพเครื่องบินและบริการที่เหนือกว่าคู่แข่ง ในส่วนของตลาดระหว่างประเทศทั้งขาเข้าและขาออกจากกรุงเทพฯ นั้น บริษัทมีส่วนแบ่งประมาณ 43% ซึ่งสูงกว่าสายการบินอันดับรองคือสิงคโปร์แอร์ไลน์ ซึ่งมีส่วนแบ่งเพียง 5% ทั้งนี้ คาดว่าบริษัทจะยังคงครองส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้ได้เพราะบริษัทยังคงสิทธิในการบินและการลงจอดในสนามบินในประเทศต่างๆ อยู่
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทการบินไทยมีแผนการลงทุนเป็นจำนวนเงินที่สูงมากในช่วงปี 2548-2553 เพื่อขยายฝูงบินจาก 83 ลำเป็น 102 ลำ ซึ่งจะทำให้เพิ่มปริมาณที่นั่งโดยสารจาก 69,398 ล้านที่นั่ง-กิโลเมตรในปี 2547 เป็น 98,229 ล้านที่นั่ง-กิโลเมตรในปี 2553 ซึ่งเติบโตเฉลี่ย 6% ต่อปี รวมทั้งเพื่อปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในเครื่องบิน ตลอดจนใช้ก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกของบริษัทที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยบริษัทจะใช้แหล่งเงินทุนทั้งจากเงินสดจากการดำเนินงานและทั้งจากการกู้ยืมเพิ่ม แม้การลงทุนดังกล่าวจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัท แต่ก็จะทำให้ภาวะหนี้สินของบริษัทที่มีสูงอยู่แล้วยิ่งสูงมากขึ้น แม้ว่าอัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อโครงสร้างเงินทุน (ที่ปรับปรุงเรื่องการเช่าดำเนินงานแล้ว) ของบริษัทจะดีขึ้นโดยลำดับนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจ โดยลดลงจาก 94% ในปี 2542 เป็น 68% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2547 แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม สัดส่วนเงินกู้ยืมดังกล่าวจะดีขึ้นหากบริษัทตีค่ามูลค่าเครื่องบินส่วนที่ได้ลงบัญชีเอาไว้โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในระบบเดิมก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ในปี 2540
บริษัทมีผลประกอบการที่ดีแม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจและเหตุการณ์ก่อการร้ายที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจัดจำหน่าย (ที่ปรับปรุงเรื่องการเช่าดำเนินงานแล้ว) ต่อรายได้รวมอยู่ระหว่าง 24%-29% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากค่าแรงที่ต่ำในสัดส่วนประมาณ 19% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ของสายการบินบางแห่งโดยทั่วไปอยู่ที่ 25%-40% ของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ส่วนต้นทุนเชื้อเพลิงนั้นเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินงานของสายการบินทุกแห่งรวมทั้งของบริษัท โดยต้นทุนเชื้อเพลิงเฉลี่ยของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 อยู่ที่ 1.02 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน เพิ่มขึ้น 16% จากต้นทุนเฉลี่ยในปี 2546 ทั้งนี้ ต้นทุนเชื้อเพลิงคิดเป็น 23% ของค่าใช้จ่ายดำเนินงานของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2547 ซึ่งเพิ่มขึ้น 18% ในปี 2545 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของราคาน้ำมัน ทริสเรทติ้งกล่าว--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--