กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
ผลไม้เป็นแหล่งของสารอาหารสำคัญที่ร่างกายต้องการ เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระและสารพฤกษเคมีที่ช่วยในการทำงานของร่างกาย ป้องกันโรคเรื้อรังและชะลอวัย แต่ผลไม้ทุกชนิดจะมีความเด่นขององค์ประกอบที่ออกฤทธิ์ต่อร่างกายต่างๆกันไม่ว่าจะเป็นชนิดและปริมาณ ข้อมูลจาก อาจารย์ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพ (สหรัฐอเมริกา) กรรมการมูลนิธิคุณแม่คุณภาพ เปิดเผยว่า ในบรรดาผลไม้ทั้งหลาย นักวิจัยพบว่า พรุนเป็นผลไม้ที่ถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ว่าเป็นยอดผลไม้ที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น บำบัดอาการท้องผูก ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัยและป้องกันโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ ลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง ส่งเสริมสุภาพหัวใจ กระดูก ระบบย่อย และระบบภูมิคุ้มกัน ทั้งนี้เพราะพรุนมีไขมันต่ำและมีสารอาหารสำคัญสูง เช่น คาร์โบไฮเดรต วิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร พรุนมีโพแทสเซียมสูง ช่วยลดความดันโลหิตจึงให้ประโยชน์ต่อหลอดเลือดหัวใจ พรุนมีใยอาหารสูงมาก ช่วยเพิ่มการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารและมีฤทธิ์ในการระบายท้องและบำบัดอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี จึงควรพิจารณาใช้พรุนเป็นสิ่งแรกในการบำบัดอาการท้องผูกเรื้อรัง นอกจากนี้พรุนยังช่วยส่งเสริมสุขภาพของระบบย่อยและควบคุมระบบขับถ่าย เพราะถ้าระบบขับถ่ายเป็นปกติดีก็จะสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ได้อีกด้วย การรับประทานพรุนไม่เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดเท่าผลไม้ชนิดอื่นๆที่รับประทานกันทั่วไป เนื่องจากพรุนมีใยอาหารชนิดละลายน้ำได้สูงกว่าผลไม้ชนิดอื่นๆ อีกทั้งยังมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ และพรุนยังมีน้ำตาลแอลกอฮอล์หรือซอร์บิทอลสูง ซึ่งน้ำตาลแอลกอฮอล์ให้แคลอรีต่ำกว่าน้ำตาลซูโครสที่บริโภคกันในชีวิตประจำวันถึงครึ่งหนึ่ง พรุนจึงเป็นแหล่งพลังงานที่ดีของร่างกายที่ไม่ทำให้น้ำตาลขึ้นสูงมาก ฉะนั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้เป็นเบาหวาน งานวิจัยในระยะหลังรายงานว่าพรุนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอวัยเสื่อมก่อนเวลาอันควร ช่วยป้องกันมะเร็ง ลดระดับน้ำตาล ลดไขมันในเลือด
พรุนคือพลัมแห้งมาจากพลัมหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ Prunus domestica, Prunus salicina และ Prunus americana ผลพลัมมีถิ่นกำเนิดจากบริเวณคอเคซัสในเอเชียตะวันตก ชาวอินเดียใช้พรุนเป็นยาร่วมกับยาอื่นๆ ในการรักษาอาการตกขาวจากช่องคลอด (Leukorrhoea) รอบเดือนไม่ปกติ อ่อนแรงหลังจากการแท้งบุตร พรุนถูกจัดเป็นอาหารที่เสริมสร้างสุขภาพ เนื่องจากมีสารอาหารมากมายที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น โพแทสเซียม แมกนีเซียม ใยอาหารที่ละลายน้ำได้ และละลายน้ำไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กและวิตามินเอ สารต้านอนุมูลอิสระที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็ง เช่น สารโพลีฟีนอลในปริมาณมาก จึงมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระสูง ป้องกันดีเอ็นเอถูกทำอันตราย ลดการอักเสบและป้องกันมะเร็งโดยยับยั้งการกลายพันธุ์และสารก่อมะเร็ง การบริโภคพรุนและผลิตภัณฑ์พรุนสม่ำเสมอจึงอาจช่วยป้องกันมะเร็งได้
ผักผลไม้เป็นแหล่งสารต้านอนุมูลอิสระประเภทวิตามินซี วิตามินอี และแคโรทีนอยด์ และสารโพลีฟีนอล (polyphenol) ซึ่งจะแสดงออกทางสี และรส เช่น รสขมและรสอื่นๆ สำหรับพฤกษเคมีและสารประกอบโพลีฟีนอลเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคและนักวิจัยทางโภชนาการให้ความสนใจอย่างมาก นักวิจัยพบว่าฤทธิ์แอนติออกซิแดนท์ในผลไม้มีความสัมพันธ์กับปริมาณรวมของสารประกอบโพลีฟีนอล อาหารที่ดีที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพประกอบไปด้วยสารเหล่านี้นานาชนิดที่จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคต่อร่างกาย สารโพลีฟีนอลมีมากมายในพืชถึง 4,000 species พบในผัก ผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล พลัม แบล็คเบอรี บลูเบอรี แคนตาลูป เชอรี แครนเบอรี องุ่น แพร์ ราสเบอรี และ สตรอเบอรี ที่พบในผัก เช่น บร็อคโคลี กะหล่ำปลี ซาเลอรี หอม และ ผักชี นอกจากนี้ยังมีมากใน ไวน์แดง ช็อคโกแลต ชาเขียว น้ำมันมะกอก bee pollen และ เมล็ดพืชต่างๆ
พบว่าในพลัมและพรุนชนิดต่างๆมีปริมาณสารโพลีฟีนอลสูงถึง 282-922 มก./100 กรัม สารโพลีฟีนอลที่พบในพรุนในปริมาณมากคือ กรดไฮดรอกซีซินนามิก (hydroxycinnamic acids) ซึ่งอยู่ในรูปกรดนีโอคลอโรเจนิก (neochlorogenic acids หรือ 3-0-caffeoyl-quinic) และกรดคลอโรเจนิก (chlorogenic acids หรือ 5-0-caffeoylquinic acid), Caffeic acid, Coumaric acid, Rutin นอกจากนี้พรุนยังมี โปรแอนโธไซยานิดิน(Proanthocyanidin) และฟลาโวนอยด์พิกเมนท์ (flavonoid pigments) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง กระบวนการทำให้พลัมแห้งจะเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากปฏิกิริยา melanodins สารโพลีฟีนอลในพรุนมีฤทธิ์ประมาณ 23% ของฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทั้งหมด
ล่าสุดนักวิจัยยังพบว่าพรุนมีสาร Cryptochlorogenic acid (4-O-caffeoylquinic acid) ในปริมาณค่อนข้างสูง สารเหล่านี้มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดฤทธิ์อนุมูลอิสระในรูป superoxide anion radical จึงช่วยป้องกันไขมันถูกทำลาย เพราะเซลเมมเบรน เซลสมอง และโมเลกุลของคอเลสเทอรอลล้วนประกอบไปด้วยไขมันเป็นส่วนใหญ่ซึ่งง่ายต่อการเกิดปฏิกริยาออกซิเดชัน สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านั้นจึงช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ โดยป้องกันแอลดีแอลคอเลสเทอรอลจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่น นอกจากนี้ยังพบว่าฤทธิ์แอนติออกซิแดนท์ของกรดคริปโตคลอโรจีนิค (Cryptochlorogenic acid) ในพรุนนั้นสูงกว่าวิตามินซีและอี
งานวิจัยจาก Tufts University in Boston จัดให้พรุนมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงเป็นอันดับ 1 โดยวัดจากค่า ORAC (Oxygen Radical Absorbency Capacity) โดยที่ค่า ORAC ของพรุน (5,770 หน่วย/ 100 กรัม) สูงเป็น 2 เท่าของผลไม้ที่มีค่า ORAC สูงอันดับต้นๆอย่างเช่น บลูเบอรี่และลูกเกด ค่า ORAC ของพรุนยังสูงกว่าพลัมสดมาก (949 หน่วย/ 100 กรัม) จึงจัดได้ว่าพรุนเป็นหนึ่งในยอดผลไม้ที่ส่งเสริมสุขภาพอย่างแท้จริง Dr. Ronald Prior และ Dr. Guohua Cao แนะนำว่าเราควรได้รับสารสารต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับค่า ORAC 3,000-5,000 หน่วย/วัน เพื่อให้เพียงพอกับการต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย