ปภ.ประสานจังหวัดจัดการน้ำ รับมือภาวะฝนทิ้งช่วง

ข่าวทั่วไป Thursday November 8, 2012 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานจังหวัดบูรณาการบริหารจัดการน้ำบนฟ้า น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง พร้อมสั่งระดมรถสูบน้ำระยะไกลเข้าประจำแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง เพื่อสนับสนุนภารกิจสูบน้ำและนำน้ำแจกจ่ายช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า หลายจังหวัด ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วง โดยขณะนี้มีจังหวัดที่ได้ประกาศให้พื้นที่บางแห่งเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ฝนทิ้งช่วง) รวม 7 จังหวัด 52 อำเภอ 338 ตำบล 3,349 หมู่บ้าน ได้แก่ กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ หนองคาย หนองบัวลำภู และมุกดาหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยผู้ที่ได้รับกระทบจากการขาดแคลนน้ำ ได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) โดย ปภ. ได้ประสานจังหวัดบริหารจัดการน้ำตามมาตรการสำคัญ ดังนี้ 1.มาตรการน้ำบนฟ้า ประสานสำนักฝนหลวงและการบินเกษตรออกปฏิบัติการจัดทำฝนหลวง ในพื้นที่ต่อเนื่องทันทีที่สภาพอากาศเอื้ออำนวยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงให้เร่งขุดลอกและจัดหาพื้นที่รองรับน้ำให้สามารถนำน้ำฝนมาใช้งานและไม่ปล่อยให้น้ำไหลระบายทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ 2.มาตรการน้ำบนผิวดิน ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการเครื่องสูบน้ำและรถบรรทุกน้ำสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ เน้นการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำผิวดิน โดยขณะนี้ ปภ. ได้ระดมรถสูบน้ำระยะไกล ซึ่งมีแรงดันในการสูบน้ำระยะ 3 กิโลเมตร จำนวน 12 คัน พร้อมรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำเข้าประจำจุดที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงอย่างหนัก อาทิ กาฬสินธุ์ อุดรธานี มหาสารคาม สกลนคร เพื่อสนับสนุนภารกิจสูบน้ำและนำน้ำแจกจ่ายช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย และ 3. มาตรการน้ำใต้ดิน ประสานกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการขุดเจาะบ่อบาดาลใหม่และเป่าล้างบ่อน้ำบาดาลที่มีอยู่เดิมให้สามารถนำน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้งานได้ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลและอยู่นอกเขตชลประทาน นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า ปภ.จะได้ประสานข้อมูลการบริหารจัดการน้ำและการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอ และควบคุมมิให้สถานการณ์ขาดแคลนน้ำรุนแรงมากขึ้น สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาฝนทิ้งช่วง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ