กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--กทม.
(เมื่อวานนี้)3 มี.ค. 48 เวลา 11.00 น.ในโอกาสบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ครบ 6 เดือน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะรองผู้ว่าฯ กทม.ทั้ง 4 คน คือ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ นายวัลลภ สุวรรณดี พญ.เพ็ญศรี พิชัยสนิธ และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ร่วมแถลงถึงทิศทางการดำเนินงานในระยะต่อไปที่ต้องการสร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวกรุงเทพมหานคร โดยมีคุณหญิงณฐนนท ทวีสิน ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย รองปลัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 6 คน ผู้อำนวยการสำนักและ สำนักงานเขต ร่วมในการแถลงข่าว
ผลสำรวจครั้งที่ 2 คนกรุงพอใจงานของผู้ว่าฯ เพิ่มขึ้น ด้านสิ่งแวดล้อมคว้าแชมป์สูงสุด 63.95%
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตนและคณะมีความตั้งใจในการเข้ามาบริหารงานและพัฒนากรุงเทพมหานคร โดยมีเป้าหมายให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าท่องเที่ยว และน่าลงทุน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข จึงได้นำปัญหาต่างๆ ที่พบเห็นและจากการสำรวจวิจัยมากำหนดเป็นนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ 7 ด้าน และอีก 1 ยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการแนวใหม่ โดยชูนโยบายเร่งด่วน 3 เรื่อง คือ ด้านความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และจราจร ทั้งนี้ภายหลังเข้ามาบริหาร กทม. เป็นเวลา 1 เดือน (ต.ค.47) ได้สำรวจประเมินความพึงพอใจของประชาชนในการบริการแต่ละด้านที่กทม.จัดให้ เพื่อเป็นข้อมูลปรับปรุงการทำงานและใช้เป็นฐานเปรียบเทียบในระยะ 3 เดือนถัดไป ซึ่งผลปรากฏว่าในการสำรวจครั้งแรกประชาชนมีความพึงพอใจต่อการบริการด้านความปลอดภัยสูงสุด สืบเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายเร่งติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างเพิ่มเติมในตรอกมืด ซอยเปลี่ยวต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ
สำหรับการบริการด้านสิ่งแวดล้อมในขณะนั้นประชาชนมีความพึงพอใจต่ำสุด จึงได้เร่งดำเนินการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ภายใต้โครงการ “กรุงเทพฯ บ้านเราใสสะอาด” ด้วยการระดมสรรพกำลังของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุ่มเททำงานบริการด้าน สิ่งแวดล้อม โดยมอบโครงการ “10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด” เป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่พี่น้องประชาชน พร้อมทั้งสำรวจเพื่อดำเนินการขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ซึ่งผลจากโครงการดังกล่าวทำให้ความพึงพอใจของประชาชนในการสำรวจครั้งที่ 2 (ม.ค.48)ในช่วง 3 เดือนถัดมา การบริการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับสูงสุด คือ 63.95% ซึ่งต่างจากเมื่อ 3 เดือนก่อนที่ประชาชนพึงพอใจการบริการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับสุดท้าย และสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาแยกขยะ มีการนำขยะรีไซเคิลไปใช้ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ เพื่อลดปริมาณขยะให้ได้อย่างน้อยปีละ 10% ตามเป้าหมาย อันจะเป็นการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และลดต้นทุนในการกำจัดขยะด้วย
อย่างไรก็ดี ในส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนอีกด้านหนึ่งนั้น คนกรุงเทพฯพึงพอใจ 60.49% แต่เชื่อว่าเมื่อโครงการต่างๆ ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ก็จะทำให้ความพึงพอใจของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น เช่น รถเมล์ด่วนพิเศษ(BRT) ที่จะเปิดบริการ 2 สายในเดือนต.ค. 48 โครงการระบบจราจรอัจฉริยะ ได้แก่ ป้ายจราจรอัจฉริยะ ที่จอดรถแท็กซี่อัจฉริยะ ที่จอดรถอัจฉริยะ และป้ายรถเมล์อัจฉริยะ ที่จะทยอยให้บริการได้ในเดือน พ.ค.นี้
ทั้งนี้ ผลการสำรวจความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารตามนโยบายกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 (มกราคม 2548) โดยศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ซึ่งจากการสอบถามความคิดเห็นประชาชนทั้งสิ้น 10,196 คน จากกลุ่มตัวอย่างทุกสาขาอาชีพ เพศ ระดับการศึกษา ช่วงอายุ และทุกศาสนา สรุปความพึงพอใจของชาวกรุงเทพฯ ที่มีต่อบริการรวมทุกด้านของ กทม.ในปัจจุบัน โดยรวมมีความพึงพอใจต่อการบริการทุกด้านมากกว่าเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา 58% โดยเฉพาะการบริการด้านสิ่งแวดล้อมพึงพอใจสูงสุด 63.95% รองลงมาคือความพึงพอใจต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่สำนักงานเขต 63.69% ด้านคุณภาพชีวิต 60.55% ด้านการจราจร 60.49% ด้านการศึกษา 59.70% ด้านความปลอดภัย 58.91% ด้านเศรษฐกิจ 53.53% และด้านสถาปัตยกรรมฯ 44.39% ทั้งนี้การสำรวจการรับทราบเกี่ยวกับโครงการตามนโยบายบริหารของกทม. 5 อันดับแรกที่ประชาชนรับรู้สูงสุด จาก 20 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการเล่นกีฬาสร้างสุขภาพ โครงการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างทุกพื้นที่ โครงการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน โครงการกรุงเทพฯ บ้านเราใสสะอาด และโครงการสายตรวจเพื่อนชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการรับรู้รับทราบข้อมูลข่าวสารทางสถานีโทรทัศน์ 53% และสื่อหนังสือพิมพ์ 23%
เป้าหมายต่อไป ดันกทม.ขึ้นอันดับหนึ่งด้านการบริการ
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า เป้าหมายสำคัญที่กทม.ต้องการสร้างความพึงพอใจให้แก่ชาวกรุงเทพฯมากยิ่งขึ้น คือ งานบริการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งมั่นให้ กทม.เป็นองค์กรบริการที่อยู่ในใจของประชาชน (SERVICE ORGANIZATION) เมื่อนึกถึงหน่วยบริการที่ดีให้นึกถึง กทม. ทั้งนี้ หลังจากได้ปรับปรุงศูนย์ กทม. 1555 ให้พร้อมเป็นศูนย์กลาง รับเรื่องราวต่างๆ จากประชาชนที่โทรเข้ามา เพื่อประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขและรายงานกลับภายใน 3 วันแล้ว ยังได้เตรียมความพร้อมของหน่วยที่จะเข้าบริการเข้าถึงพื้นที่ด้วย
ตั้งทีม BEST พร้อมบริการฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง
จัดตั้งหน่วยบริการเร่งด่วน กทม. หรือหน่วย BEST (BANGKOK EMERGENCY SERVICE TEAM) ประจำอยู่ทั้ง 50 สำนักงานเขต ซึ่งเป็นทีมปฏิบัติการในชุดเสื้อกั๊กสีเขียวสะท้อนแสง นำอุปกรณ์และวัสดุจัดซ่อมชนิดต่างๆ ครบชุด อาทิ เครื่องปั่นไฟ เลื่อยไฟฟ้า เครื่องเชื่อม ค้อน ตะปู พลั่ว จอบ ยางแอสฟัลต์ ปูน ทราย หิน ฝาบ่อพัก เป็นต้น เข้าถึงพื้นที่เป้าหมายทันทีเมื่อได้รับแจ้งฉุกเฉิน ผ่านสายด่วน กทม.1555 ภายในไม่เกิน 1 ชั่วโมง พร้อมประสานผู้แจ้งทราบเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ มีการบันทึกระยะเวลาตั้งแต่ รับแจ้งและเข้าถึงพื้นที่จนถึงการบริการฉุกเฉินเสร็จเรียบร้อย เพื่อประเมินผลการทำงานและความพึงพอใจของประชาชนจากการให้บริการของกรุงเทพมหานคร แต่หากประเมินสถานการณ์พื้นที่แล้วปัญหาดังกล่าวยุ่งยากหรือซับซ้อนเกินกว่าจะแก้ไขให้แล้วเสร็จใน ทันที จะแจ้งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงเข้ามาดำเนินการต่อไป อย่างไรก็ตาม หน่วย BEST ไม่เพียงดำเนินการแก้ไขความ เดือดร้อนเมื่อมีการแจ้งเรื่องร้องเรียนเท่านั้น แต่ยังมุ่งปฏิบัติการแก้ปัญหาความเดือดร้อนในเชิงรุก โดยเข้าสำรวจพื้นที่ในความดูแลและตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรับปรุงทันทีโดยประชาชนไม่ต้องร้องขอ ซึ่ง “หน่วย BEST” จะพร้อมให้บริการประชาชนชาวกทม.ตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป
พัฒนาบริการและขยาย ONE STOP SERVICE ครบ 50 เขต
ขยายบริการศูนย์ ONE STOP SERVICE ให้ครอบคลุมส่วนที่เหลืออีก 11 เขต เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน โดย 9 เขตจะให้บริการได้ภายในปี 2548 ซึ่งในวันที่ 4 มีนาคมนี้ มีกำหนดจะเปิดที่สำนักงานวัฒนา และวันที่ 11 มีนาคม จะเปิดที่สำนักงานเขตบางแค และทยอยเปิดที่เขตทวีวัฒนา ดอนเมือง สายไหม สะพานสูง บางบอน ทุ่งครุ และบางกอกน้อย ส่วนเขตคันนายาวและบางรัก จะให้บริการได้ในปี 2549 เมื่อมีความพร้อมด้านสถานที่ พร้อมกันนี้ก็จะนำปัญหาที่ประชาชนเสนอแนะมาพัฒนาการบริการให้ดียิ่งขึ้น โดยจัดระเบียบมาตรฐานสำหรับทุกสำนักงานเขต มีคู่มือการปฏิบัติงาน กำหนดเวลาปฏิบัติงานให้เหมือนกันทุกเขต ปรับปรุงระบบอุปกรณ์ให้ทันสมัยอยู่เสมอ ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ห้องน้ำ ที่จอดรถ อีกทั้งเพิ่มบริการใหม่ๆ เช่น การชำระภาษีแบบออนไลน์ข้ามเขต และเจรจาความร่วมมือกับธนาคารติดตั้งตู้ ATM รวมถึงการบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิสจ่ายค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีแบบ E-SERVICE นอกจากนี้จะจัดฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่มีความพร้อมจะให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีใจรักการบริการ (SERVICE MIND) เพื่อสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มาติดต่อให้มากยิ่งขึ้นด้วย
ส่งหน่วย SMS บริการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตถึงหน้าบ้าน
ส่วนการบริการด้านคุณภาพชีวิต ก็จะเพิ่มความเข้มข้นในประสิทธิภาพการบริการเชิงรุก โดยจะจัด “หน่วยเสริมสร้าง คุณภาพชีวิตเคลื่อนที่ หรือ SMS” (Social Mobile Service) เข้าไปให้บริการประชาชนในชุมชนและผู้ที่ด้อยโอกาสในพื้นที่ที่ขาดการเรียนรู้ให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ซึ่งจะพัฒนารถสวัสดิการทั้ง 9 คัน ให้ทันสมัยมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้เรียนรู้ มีห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมเด็ก อุปกรณ์กีฬา รวมทั้งจัดนันทนาการ เกมการละเล่นต่างๆ ให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างครอบครัวเข้มแข็ง พร้อมทั้งจัดนักสังคมสงเคราะห์บริการให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตและครอบครัวด้วย
ยกคุณภาพบริการสุขภาพให้ทั่วถึงและเท่าเทียม
จัดบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม โดยจะปรับปรุง คุณภาพการบริการในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 65 แห่ง ของกทม. ให้สามารถบริการได้หลากหลาย ตรงตามความต้องการของประชาชนยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากการปรับปรุงด้านกายภาพให้สะดวกต่อผู้ใช้บริการแล้ว ในโรงพยาบาลสังกัดกทม. จะให้บริการคลินิกครอบครัวอบอุ่น คลินิกบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดให้กลับเป็นคนดีของสังคม รวมทั้งพัฒนาการบริการของศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็กและสตรีให้สามารถดูแลช่วยเหลือผู้เสียหายได้เป็นอย่างดี ตลอดจนปรับปรุงระบบบริการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจร และระบบแจ้งเหตุ 199 ให้มีประสิทธิภาพเพื่อเป็นเครือข่ายระหว่างองค์กรต่างๆ ที่จะเข้าช่วยเหลือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเพื่อป้องกันการ สูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นอกจากนี้ทุกศูนย์บริการสาธารณสุข ยังเปิดคลินิกให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว และบริการตรวจรักษาดูแลสุขภาพสตรีตั้งแต่เดือนเมษายนนี้ พร้อมทั้งขยายเวลาเปิดคลินิกนอกเวลาราชการในวันเสาร์-อาทิตย์ ที่ศูนย์ฯสาธารณสุข 6 แห่ง ในเดือนมีนาคมนี้ ได้แก่ ศูนย์ฯ 8 บางนา, ศูนย์ฯ 18 บางคอแหลม, ศูนย์ฯ41 คลองเตย, ศูนย์ฯ 43 มีนบุรี, ศูนย์ 48 นาควัชระอุทิศ หนองแขม และศูนย์ฯ 63 สมาคมแต้จิ๋ว สาทร และจะเพิ่มประสิทธิภาพบริการเยี่ยมบ้านให้บริการรักษาผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เป็นอัมพาต ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ถึงบ้านด้วย
ปลูกจิตสำนึก “บริการด้วยใจ” แก่ข้าราชการ
หัวใจสำคัญของการบริการที่ดี คือ การที่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มีใจรักการบริการ และมีคุณภาพพร้อมทำงานเพื่อประชาชน ดังนั้นจึงต้องเน้นการพัฒนาคุณภาพของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ทุกระดับชั้น โดยจะต้องเข้ารับการฝึกอบรมเติมความรู้และทัศนคติที่ดีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มเข้ารับราชการ ไปจนกระทั่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ซึ่งทางสถาบันพัฒนาข้าราชการ กทม. จะเป็นผู้กำหนด หลักสูตรการฝึกอบรมและโครงการต่างๆ ซึ่งทุกหลักสูตรจะเน้นเรื่องการสร้างจิตสำนึกในการให้บริการแก่ประชาชน (Service Mind) เป็นหลัก ดังเจตนารมณ์ที่ว่า “เราทุ่มเท…เพื่อความสุขของคนกรุงเทพฯ”
สำหรับผลการดำเนินงาน 6 เดือนที่ผ่านมาของผู้ว่าฯ กทม.และคณะนั้น ได้จัดทำสรุปรวบรวมความคืบหน้า “ 6 เดือน ผลความก้าวหน้าแห่งพันธกิจของนายอภิรักษ์ฯ” เป็นรูปเล่มแท็ปลอยด์ 4 สี จำนวน 20 หน้า เพื่อมอบแก่สื่อมวลชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจกจ่ายไปยังชุมชน ประชาชน และผู้สนใจทั่วไป เพื่อรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินงานและใช้เป็นคู่มือ ติดตามการทำงานของคณะผู้บริหารชุดนี้ต่อไป ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อขอรับได้ที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต--จบ--