กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์
พีเจ้น ประเทศญี่ปุ่น เดินหน้ารุกตลาดต่างประเทศมากขึ้น วางไทยเป็นฐานผลิตส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก เล็งขยายการลงทุนด้านเทคโนโลยี และพัฒนาเครื่องจักร มั่นใจเพราะไทยอยู่ในลำดับที่ 4-5 ของเอเชีย ยอดขายประมาณ 500 ล้านบาท พร้อมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่กระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน ชูกลยุทธ์ “Global Brand” เจาะตลาดทั่วโลก พร้อมดันสินค้าพรีเมียมช่วยเพิ่มยอดขาย
นายฮิโรยูกิ มัสซุนาริ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ บริษัท พีเจ้น คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า พีเจ้นในประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มธุรกิจเมื่อปี 1957 และมีการวาง positioning เพื่อตอบโจทย์คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเองแม้ทำงานนอกบ้าน ส่งผลให้บริษัทฯ เร่งทำตลาดจุกนมและขวดนมเป็นหลัก พีเจ้นจึงนับเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในตลาดยุคนั้น และครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 80% โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินธุรกิจภายใต้จุดยืนในการพัฒนาวิจัยผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และขยายไลน์สินค้าอื่นๆ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่ โดยมีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่คุณแม่เริ่มตั้งครรภ์จนถึงลูก3 ขวบ เช่น เบบี้ ไวพส์ เครื่องปั้มนม แผ่นซับน้ำนม เป็นต้น พร้อมได้ได้เล็งเห็นช่องทางการขยายธุรกิจไปสู่ Category ผู้สูงอายุ ที่ได้ทำตลาดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น
กลยุทธ์การตลาดของบริษัทฯ ในปีนี้ บริษัทฯ มุ่งขยายธุรกิจต่างประเทศด้วยการเพิ่มจำนวนสินค้าและความหลากหลายมากขึ้นกว่า 80 ประเทศทั่วโลก พร้อมกันนี้จะมุ่งพัฒนาให้แบรนด์พีเจ้นเป็น Global Brand (แบรนด์ระดับโลก) มากขึ้น เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากที่สุด ซึ่งเรามั่นใจใน R&D (การวิจัยและการพัฒนา) ของขวดนมและจุกนม ว่าจะสามารถขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น
สำหรับประเทศไทย ได้มีแผนจะขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากเมืองไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญและเปิดมานานที่สุดในอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ซึ่งจุกนมมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 60% ดังนั้นในอนาคตบริษัทฯ จึงวางแผนที่จะลงทุนด้านเทคโนโลยีเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังผลิต โดยจะมีการลงทุนในเร็วๆ นี้ คือ จุกนม ขวดนม และแผ่นซับน้ำนม ซึ่งจะขยายในกลุ่มเป้าหมายคุณแม่เกรดซี หรือกลุ่ม Mass ให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังจะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดและขยายกลุ่มเป้าหมายไปที่ผู้สูงอายุในอนาคตด้วย โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาความแตกต่างของตลาด แต่นับว่าไทยมีเทรนด์ตลาดในทิศทางเดียวกับญี่ปุ่น
นายฮิโรยูกิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ขณะนี้เมืองไทยจะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำแต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน แม้จะทำให้ต้นทุนขยับขึ้นไปบ้างแต่ต้นทุนในไทยก็ยังนับว่าถูกกว่าในญี่ปุ่นและเกาหลี อีกทั้งแรงงานไทยก็มีคุณภาพมากเมื่อเทียบกับแรงงานประเทศอื่น เพราะเราได้คำนึงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นหลัก รวมทั้งบริษัทฯ ยังได้วางแผนและเตรียมรับมือกับการเปิด AEC ซึ่งเราเล็งเห็นว่าตลาดในอาเซียนมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้น แต่ต้องขึ้นอยู่กับ GDP และนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะตลาดในประเทศไทยซึ่งนับเป็นศูนย์กลางของกลุ่มอาเซียน คาดว่าน่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายธุรกิจของบริษัทได้เป็นอย่างดี” ขณะเดียวกันแนวโน้มอัตราการเกิดของเด็กที่ลดน้อยลง จึงต้องมีการปรับนโยบายโดยรวม โดยจะมุ่งขยายตลาดในกลุ่มพรีเมียมเพิ่มมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จุกเสมือนการให้นมมารดา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง และเพิ่มนโยบายธุรกิจต่างประเทศขยายตลาดให้กว้างขึ้นโดยเฉพาะประเทศที่มีศักยภาพแต่ยังไม่ได้เข้าไปเพิ่มยอดขาย”
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัท พีเจ้น คอร์ปอเรชั่นฯ 50% ของรายได้ทั้งหมดเป็นธุรกิจต่างประเทศ มีการเติบโตโดยเฉลี่ย 10-20% และเมื่อคิดสัดส่วนธุรกิจต่างประเทศ 100% จะเป็นประเทศในกลุ่มเอเชีย 30% (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยจีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด และไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 4-5 ของเอเชีย มียอดขายประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มยอดขายในประเทศไทยให้เป็น 2 เท่าใน 10 ปี และ 3 เท่าใน 20 ปี ทั้งนี้นอกจากการนำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายแล้วไทยยังเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออกที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมี 2 โรงงาน คือ บริษัท พีเจ้น อินดัสทรีส์(ประเทศไทย) จํากัด ผลิตสินค้ากระดาษส่งออก เช่น เบบี้ไวพส์ แผ่นซับน้ำนม เป็นต้น และบริษัท ไทยพีเจ้น จํากัด ผลิตสินค้าเกี่ยวกับพลาสติกเป็นหลัก เช่น จุกนม ขวดนม อะไหล่พลาสติก เป็นต้น ทั้ง 2 โรงงานมีรายได้รวม 1.9 พันล้าน