กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สำนักงานเลขานุการกองทัพเรือ
กลุ่มของคนที่อยู่ในวัยทำงานจนถึงวัยสูงอายุ มักจะประสบปัญหาเรื่องปวดเอวอยู่บ่อย ๆ ซึ่งอาจจะเกิดจากการนั่งผิดท่า นั่งทำงานนานเกินไปไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ส่วนใหญ่มักเกิดจากปวดกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น ซึ่งหายเองได้ ซึ่งอาการของโรคปวดเอวแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ ๑ เกิดจากสาเหตุนอกกระดูกสันหลัง เช่น โรคในช่องท้อง ได้แก่ นิ่วถุงน้ำดี ตับอ่อนอักเสบ นิ่วไต เป็นต้น
กลุ่มที่ ๒ ปวดเอวในคนหนุ่มอายุ ๒๐ - ๕๐ ปี ปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง ชาขา จะปวดมากเวลานั่ง หรือก้ม กลุ่มนี้เป็นหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท
กลุ่มที่ ๓ ปวดเอวในคนสูงอายุมากกว่า ๖๐ ปี จะปวดขาและชาขาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ๒ ข้าง มีอาการมากเวลายืน หรือเดิน จะเดิน ๆ หยุด เพราะปวดชาขามาก นั่งพักจะดีขึ้น และเดินต่อใหม่ กลุ่มนี้เป็นกระดูกหลังเสื่อม กระดูกโยก และกระดูกงอก ช่องกระดูกสันหลังตีบแคบทับเส้นประสาทขา
การรักษาของกลุ่มที่ ๒ และกลุ่มที่ ๓ รักษาด้วยการประคับประคองให้ยารับประทาน และทำกายภาพบำบัด ส่วนใหญ่ ๖๐ - ๗๐% ก็ได้ผลดี มีบางส่วนที่รักษาแบบประคับประคองแล้วไม่หาย ต้องผ่าตัด ส่วนกลุ่มที่ ๒ หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทก็ผ่าตัดเอาส่วนที่ทับเส้นประสาทออกก็หาย และกลุ่มที่ ๓ กระดูกงอก ช่องกระดูกสันหลังตีบแคบ และกระดูกโยกต้องผ่าตัดเอากระดูกที่ทับเส้นประสาทออกเชื่อมกระดูก และดามโลหะที่กระดูกสันหลังเพื่อเสริมความแข็งแรง
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตามควรเพิ่มความระมัดระวังเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการปวดต่างๆ จะดีที่สุด
(ข้อมูลจาก ศูนย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเจ้าพระยา)--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--