กรุงเทพฯ--9 พ.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
นายแพทย์นิพนธ์ โพธ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากข่าวการตรวจพบเบนโซเอไพรีนปนเปื้อนในผงปรุงรสของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตจากประเทศเกาหลีใต้เมื่อประมาณปลายเดือนตุลาคม 2555 ทำให้หลายประเทศเกิดความตื่นตัวและเฝ้าระวังสินค้าชนิดนี้โดยการเรียกเก็บออกจากท้องตลาด กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกันดำเนินการเฝ้าระวังบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ Nongshim ที่นำเข้าจากเกาหลีใต้ โดย อย. ได้ส่งตัวอย่างบะหมี่จำนวน 5 ตัวอย่างมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
สำหรับวิธีการตรวจหาสารเบนโซเอไพรีนในอาหารแต่ละชนิดจำเป็นต้องตรวจสอบความถูกต้องของวิธีวิเคราะห์ก่อนโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เคยพัฒนาวิธีวิเคราะห์มาตรฐานในการตรวจหาสารดังกล่าวในอาหารประเภทปิ้งย่างมาแล้วจึงได้นำวิธีการตรวจสอบนี้มาประยุกต์ใช้ในการตรวจสอบหาสารดังกล่าวที่อาจปนเปื้อนในผงปรุงรสบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปได้ ซึ่งในขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์นั้นจะเริ่มจากการสลายตัวอย่างกำจัดสิ่งเจือปนอื่นออกไป และตรวจวัดปริมาณสานเบนโซเอไพรีน ซึ่งต้องใช้เวลานานประมาณ 18 ชั่วโมง แต่ได้กำชับให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจวิเคราะห์ให้ทราบผลเร็วขึ้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทาง รมว.สาธารณสุข ให้ความสำคัญ และอยู่ในความสนใจของประชาชน ดังนั้นจึงคาดว่าจะทราบผลการตรวจวิเคราะห์ภายใน 2 วัน
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า สารเบนโซเอไพรีน เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่ำ แม้จะมีการทดลองพบว่าสารนี้มีผลก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่พบข้อมูลที่เพียงพอว่าจะทำให้ก่อมะเร็งในคน ที่ผ่านมาได้ทำการวิเคราะห์การปนเปื้อนสารนี้จากอาหารหลายชนิด ได้แก่ ไก่ย่าง ปลาดุกย่าง และหมูปิ้งโดยเก็บตัวอย่างจากตลาดสดในเขตกรุงเทพมหานครจำนวน 42 แห่งได้ตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 101 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์พบว่าไก่ย่าง 35 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 11 ตัวอย่าง (ร้อยละ 31) ปริมาณที่พบ 0.5-0.7 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมปลาดุกย่าง 36 ตัวอย่าง พบการปนเปื้อน 29 ตัวอย่าง (ร้อยละ 81)ปริมาณที่พบ 0.5-3.2ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมและหมูปิ้ง 30 ตัวอย่างพบการปนเปื้อน 12 ตัวอย่าง (ร้อยละ 40)ปริมาณที่พบ น้อยกว่า 0.3-1.3 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมโดยมีค่าเฉลี่ยการตรวจพบสารเบนโซเอไพรีนต่ำกว่า 1 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ การได้รับสารเบนโซเอไพรีนอย่างต่อเนื่องอาจทำให้เกิดความเป็นพิษต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้ ถึงแม้ว่าสารเบนโซเอไพรีน ที่ตรวจพบในอาหารปิ้งย่างจะมีปริมาณน้อยแต่การได้รับสารนี้สะสมในร่างกายก็อาจเกิดอันตรายได้ดังนั้นผู้จำหน่ายอาหารปิ้งย่างจึงไม่ควรใช้ไฟแรงและใช้เวลาในการปิ้งย่างนานเกินไปควรตัดแต่งอาหารส่วนที่ไหม้เกรียมออกส่วนผู้บริโภคควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารปิ้งย่างที่ไหม้เกรียมและอย่าบริโภคอาหารประเภทเดิมซ้ำๆควรบริโภคอาหารหลากหลายและมีประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเองและในกรณีกินปลาดุกย่างซึ่งพบสารเบนโซเอไพรีนมากกว่าอาหารปิ้งย่างอีก 2 ชนิด ก็ควรลอกหนังออกและทานแต่เนื้อก็สามารถลดความเสี่ยงจากการได้รับสารเบนโซเอไพรีนที่อยู่บนหนังที่ไหม้เกรียมได้
ติดต่อ:
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
โทรศัพท์ 0-2591-0208-14 ต่อ 99017, 99081
โทรสาร 0-2591-1707