กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ จัดโชว์งานแอนิเมชั่นระดับโลกจากงานซิกกราฟ อเมริกา

ข่าวทั่วไป Monday September 27, 2004 13:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--เอซีเอ็ม ซิกกราฟ
กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ จัดโชว์งานแอนิเมชั่นระดับโลกจากงานซิกกราฟ อเมริกา หวังปลุกกระแสคนรักแอนิเมชั่น ประกาศพร้อมพัฒนาศักยภาพดิจิตอล คอนเท้นท์ของไทย
กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟร่วมกับพันธมิตร คือ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย บริษัทเจ. อี. ออสติน แอสโซซิเอท และหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต M.S. (CAAD) จัดงาน “ซิกกราฟ แอนิเมชั่น สกรีนนิ่ง หมายเลข 1” ขึ้นในบ่ายวันพฤหัสที่ 23 กันยายน ณ ห้องประชุม 701 ชั้น 7 ศูนย์ศึกษาสาทรธานี มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อเปิดให้นิสิต นักศึกษาและคณาจารย์ตลอดจนผู้ที่สนใจงานแอนิเมชั่น ได้มีโอกาสร่วมชมภาพยนตร์แอนิเมชั่น เรื่อง “ไรอัน” ที่ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดในงานซิกกราฟปีนี้ และได้รับการยกย่องอย่างมากจากคนในวงการถึงเทคนิคและเนื้อหาในการนำเสนอ ถือเป็นกิจกรรมเปิดตัวกลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟสู่สาธารณะ พร้อมเจตนารมย์ขององค์กรในการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิตอล คอนเท้นท์ของไทยสู่ระดับสากล
นางสาวอารยา เช้ากระจ่าง ประธานกรรมการ กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า
“จากวัตถุประสงค์ของกลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ ที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถทางด้านศิลปะการออกแบบภาพกราฟฟิกด้วยคอมพิวเตอร์ให้แก่บุคคลที่มีความสนใจทางด้านนี้โดยเฉพาะนิสิตนักศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าว และการที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานซิกกราฟที่สหรัฐอเมริกาปีที่แล้ว รวมถึงล่าสุดในเดือนสิงหาคมปีนี้ ทำให้ทราบว่าคุณภาพของนิสิต นักศึกษาไทยนั้น ยังต้องการการพัฒนาเรื่องของความรู้และการสนับสนุนจากมืออาชีพอยู่มาก หากพวกเค้ามีโอกาสได้รับข่าวสารเทคโนโลยี และได้เห็นผลงานที่หลากหลายจากต่างประเทศ เป็นความรู้เรื่องการออกแบบ เทคนิคที่ใช้ การนำเสนองาน และเวทีที่ได้แสดงศักยภาพเพื่อการแข่งขันและพัฒนาการสร้างสรรค์งานอย่างไม่มีขีดจำกัด เชื่อว่าอีกไม่นาน เวทีการประกวดต่างประเทศ อย่างงานซิกกราฟที่จัดขึ้นทุกปี คงได้มีชื่อของคนไทยปรากฏบนเวทีสากลอีกครั้ง ดังเช่นในอดีตแอนิเมเตอร์ไทยเคยสร้างชื่อเสียงบนเวทีนี้ ด้วยรางวัลบนเวทีนี้ในงานซิกกราฟประจำปี 2541 มาแล้ว
ในกิจกรรม “ซิกกราฟ แอนิเมชั่น สกรีนนิ่ง หมายเลข 1” ที่กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ จัดขึ้นนี้ ได้ฉายภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ได้รับรางวัลจิวรี่ส์ อวอร์ดส บนเวทีงานซิกกราฟ ประจำปี 2547 จากผลงานที่ส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น จำนวน 643 ชิ้น คือ งานแอนิเมชั่น เรื่อง “ไรอัน” ของนายคริส แลนเดร็ท มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวประวัติของนายไรอัน ลาร์กิ้น แอนิเมเตอร์ที่มีชื่อเสียงของประเทศแคนาดา ที่สร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชั่นอันโด่งดังเมื่อ 30 ปีที่แล้ว งานของเค้าเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าแอนิเมเตอร์ทั้งหลายในวงการต่อมา นอกจากนี้แอนิเมชั่นเรื่องนี้ยังได้รับการกล่าวขวัญในเรื่องของเทคนิคการนำเสนอว่าเป็นการผสมผสานที่ยอดเยี่ยมของเทคนิคแอนิเมชั่นแนวใหม่เข้ากับการนำเสนอรูปแบบสารคดีอีกด้วย
นับเป็นครั้งแรกของไทยที่มีการจัดแสดงภาพยนตร์แอนิเมชั่นที่ได้รางวัลระดับโลกนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการบริหารของกลุ่มซิกกราฟ สหรัฐอเมริกาเป็นอย่างดี พร้อมทั้งนำผลงานแอนิเมชั่นเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อิเล็คทรอนิคส์ จำนวนกว่า 20 เรื่องของปีที่แล้วมาฉายให้ดู”
นางสาวอารยากล่าวอธิบายถึงงานซิกกราฟว่า “งานซิกกราฟที่จัดขึ้นทุกปีในสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นเวทีที่แอนิเมเตอร์ทั่วโลกต่างพยายามสร้างสรรค์ผลงานเด่นๆ ของตนเองส่งเข้ามาให้คณะกรรมการดำเนินงานในแต่ละปีพิจารณา เพียงเพื่อให้ผลงานของตนเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกคัดเลือกเข้าแสดงภายในงานด้วย เนื่องจากงานซิกกราฟที่จัดขึ้นทุกปีนี้ เป็นเวทีที่กลุ่มคนในวงการแอนิเมชั่นและนักออกแบบคอมพิวเตอร์ต่างเฝ้ารอชมผลงานจากแอนิเมเตอร์ทั่วโลกที่ผ่านการคัดเลือก เพราะเป็นผลงานที่แสดงถึงฝีมือและเทคนิคใหม่ๆ มาประชันกันอย่างเต็มที่นั่นเอง
เป็นโอกาสดีที่นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ในสถาบันการศึกษาและผู้ที่สนใจในการพัฒนาด้านศิลปะการออกแบบภาพกราฟฟิกด้วยคอมพิวเตอร์ จะได้เห็นผลงานเหล่านี้ และมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซักถามและพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพนี้ด้วยกันภายในงาน ถือเป็นเส้นทางลัดที่ดีในการสร้างเครือข่ายเพื่อร่วมกันพัฒนาศักยภาพของบุคคลากรด้านคอมพิวเตอร์กราฟฟิก และงานดิจิตอล คอนเท้นท์ของประเทศไทย
โดยเฉพาะการจัดงานครั้งนี้ กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งจากพันธมิตรทั้ง 3 คือ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย บริษัทเจ. อี. ออสติน แอสโซซิเอท และ หลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต M.S. (CAAD) ซึ่งถือว่าต่างเป็นตัวแทนของทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาที่มีเจตนารมย์เดียวกันในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมนี้อย่างมั่นคง”
นายสันติ เลาหบูรณะกิจ รองประธาน กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ และหนึ่งในคณะอนุกรรมการแอนิเมชั่นและมัลติมีเดีย ของสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า
“กิจกรรมลักษณะนี้ เป็นหนึ่งในเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญต่อการศึกษาและพัฒนาบุคคลากรสู่อุตสาหกรรมดิจิตอล คอนเท้นท์ ตามที่เราได้เคยนำเสนอเป็นแผนยุทธศาสตร์ต่อรัฐบาล หวังว่าการเปิดโลกทัศน์ของนิสิตนักศึกษา คณาจารย์และบุคคลที่สนใจงานด้านนี้ ผ่านงานแอนิเมชั่นคุณภาพที่หลากหลายจากเวทีในระดับสากลผ่านการคัดเลือกแล้วจากมืออาชีพในอเมริกา ผลที่เกิดขึ้นคงไม่ใช่แค่การเปิดช่องทางถ่ายทอดองค์ความรู้เท่านั้น แต่จะจุดประกายความสนใจและกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ต่อมาด้วย
หากกิจกรรมลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสร้างชุมชนของสมาชิกและผู้ที่สนใจ มาแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นการยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมนี้ในที่สุด ทั้งภาครัฐบาล เอกชน สถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการ ต่างหวังให้ทุกส่วนได้มีส่วนในความร่วมมือระหว่างกัน กิจกรรมนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แต่อาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างหากผู้ที่ร่วมกิจกรรมในวันนี้ ได้รับแรงบันดาลใจไปสร้างสรรค์ผลงานของตน”
นายสุวิชา มิ่งขวัญ ผู้จัดการ โครงการยกระดับความสามารถในการแข่งขันสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวถึงเบื้องหลังความช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้ว่า
“สิ่งสำคัญในการดำเนินงานของสถาบันคีนันแห่งเอเซีย คือ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นให้การสนับสนุนทั้งในระดับบุคคล ระดับองค์กร และในระดับภูมิภาคเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จสู่เป้าหมาย หนึ่งในวิธีการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องถึงในปีนี้ คือ โครงการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรบริษัทเจ. อี. ออสติน แอสโซซิเอท โดยระบุความช่วยเหลือในการพัฒนาเชิงกลุ่ม ที่เรียกว่า “คลัสเตอร์” ขึ้น อาทิ เครือข่ายการปฏิรูปการผลิตพืชผักปลอดภัยจากสารพิษ, เครือข่ายธุรกิจการค้าอัญมณีและการเจียรนัยพลอย, เครือข่ายธุรกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายธุรกิจสื่อผสมในกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
สำหรับเครือข่ายธุรกิจสื่อผสมในกรุงเทพมหานครนั้น สถาบันฯ ได้สร้างเครือข่ายในวงการการศึกษาและผู้ประกอบการขึ้นในระดับหนึ่ง เช่น ปีนี้ได้มีการประสานความร่วมมือให้กับอุตสาหกรรมดิจิตอล คอนเท้นท์มากขึ้น ผ่านกลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟและสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสัมมนาหัวข้อ “Moving Towards Digital Content Community” ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีประธานและคณะผู้บริหารจากสมาคมซิกกราฟ จากสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์มาร่วมเสวนาและหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้วย รวมถึงสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้
เราหวังว่านโยบายการส่งเสริมการเติบโตทางอุตสาหกรรมดิจิตอล คอนเท้นท์อย่างยั่งยืนและการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้ นอกจากลดช่องว่างที่เกิดขึ้นในยุคเทคโนโลยีดิจิตอลแล้ว ยังเน้นการเข้ามามีบทบาทร่วมกันระหว่างเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ให้สมดั่งปรัชญาของสถาบันฯ ที่ว่า “เพื่อนความรู้ของท่าน” นั่นเอง”
นายแฟรงค์กี้ โรแมน หัวหน้าโครงการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน บริษัทเจ. อี. ออสติน แอสโซซิเอท ผู้สนับสนุนทุนจัดกิจกรรมนี้ อธิบายถึงรายละเอียดโครงการที่ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเซียว่า
“โครงการที่กล่าวถึงเป็นโครงการที่ดำเนินการโดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อม 4 ด้าน ตามแนวคิดของศาสตราจารย์ไมเคิล พอร์ตเตอร์ รวมถึงการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ข้อได้เปรียบ ตลาดและคู่แข่ง ฯลฯ เพื่อนำไปใช้กำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม โดยเริ่มการพัฒนาเชิงกลุ่มแบบ “คลัสเตอร์” คือ กลุ่มในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ และหนึ่งในนั้น คือ เครือข่ายธุรกิจสื่อผสมในกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของไทยในอุตสาหกรรมนี้สู่ระดับสากล ซึ่งรายงานจากการศึกษาที่เกิดขึ้นในปีนี้ พบว่า ปัจจัยที่สำคัญในการผลักดันขีดความสามารถของคนไทยในอุตสาหกรรมนี้ คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ในทักษะเฉพาะด้านนี้ การถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการสร้างสรรค์งานดิจิตอล คอนเท้นท์ ซึ่งรายละเอียดนี้ได้นำเสนอแก่ทางรัฐบาลแล้ว เพื่อเป็นแนวทางในการสนับสนุนต่อไป
ดังนั้น การมอบทุนสนับสนุนกิจกรรมให้แก่กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟในวันนี้ ถือเป็นความร่วมมือเบื้องต้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อกลุ่มนิสิตนักศึกษาในการเตรียมตัวเองให้พร้อมเข้าสู่การประกอบวิชาชีพด้านนี้อย่างมีคุณภาพทัดเทียมระดับสากลในอนาคตอันใกล้”
นางสาวอารยา เช้ากระจ่าง ประธานกรรมการ กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ กล่าวสรุปในตอนท้ายของงานว่า
“ในฐานะที่กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ มีเจตนาหลักในการเป็นองค์กรที่สนับสนุนงานคอมพิวเตอร์กราฟฟิก และเทคนิคอินเตอร์แอคทีฟที่นำไปใช้ในการพัฒนางานดิจิตอล คอนเท้นท์ในประเทศไทย เราอยากให้กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟนี้ เป็นตัวกลางและช่องทางในการสื่อสารและประสานความร่วมมือระหว่างกันของสมาชิกในกลุ่มและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันนำไปสู่การพัฒนาระดับความสามารถและศักยภาพของบุคคลากรและผลงานในอุตสาหกรรมดิจิตอล คอนเท้นท์ของประเทศไทย
ผู้ที่สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกหรือติดตามข้อมูลของเราได้ที่ www.bangkoksiggraph.org เรายินดีและพร้อมรับคำแนะนำในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น”
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มบางกอก เอซีเอ็ม ซิกกราฟ
คุณวรภา เตชะสุริยวรกุล โทร. 0-1310-4755--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ