(ต่อ1) วอเนอร์ เสนอเรื่องย่อภาพยนตร์ The Polar Express

ข่าวเทคโนโลยี Monday September 27, 2004 14:35 —ThaiPR.net

นอกเหนือจากการเสริมแต่งแสงและเงาแล้ว แอนิเมเตอร์ด้านคอมพิวเตอร์เอ็ฟเฟ็ค ได้เป็นผู้รับผิดชอบงานที่ละเอียดอ่อนมากอย่างเช่นภาพแสงจันทร์ที่ส่องผ่านสายหมอก หรือควันที่ม้วนตัวอย่างช้าๆ ออกมาจากปล่องรถไฟ งานศิลป์ที่ทำให้มีรอยจีบยับย่นบนเสื้อ หรือการเคลื่อนไหวของปอยผมเด็กที่ดูสมจริงและเป็นธรรมชาติ
“แต่การแสดงอารมณ์ทางสีหน้าเป็นงานของนักแสดงมนุษย์ทั้งหมด” เซเมคคิสให้ความกระจ่าง “ไม่มีใครสร้างภาพพวกนั้น คอมพิวเตอร์ไม่ได้สร้างการแสดง นักแสดงเป็นคนทำ คอมพิวเตอร์เป็นผู้ใส่การแสดงและห่อหุ้มความเป็นภาพยนตร์เข้าไป”
แม้ว่าจะได้รับการอธิบายที่ฟังดูง่ายในแต่ละขั้นตอน แต่งานสร้างภาพของเรื่อง The Polar Express นั้นไม่ได้เป็นเส้นตรงอย่างเดียวในการทำงาน ขั้นตอนงานครีเอทีฟจำนวนมากที่ตามมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงดำเนินไปไม่มากก็น้อยตลอดการทำงานสร้างในช่วงสองปีครึ่ง : งานเขียน, ออกแบบ, สตอรี่บอร์ด และลำดับภาพ และตลอดเวลานั้นทีมอาร์ติสท์และวิศวกร CG ทำงานด้านการสแกน บันทึก และสร้างภาพ
“ขั้นตอนการสร้างนั้นเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จนดูเหมือนการเตรียมงานก่อนถ่ายทำยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปตลอดทั้งเรื่อง” ราลสตันทบทวนให้ฟัง “เราสามารถเปลี่ยนและปรับปรุงแก้ไขทุกอย่าง แบบที่เราไม่อาจทำได้ในหนังไลฟ์แอ็คชั่น มันเป็นวิธีที่แตกต่างสำหรับบ็อบในการทำงาน และเขามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน มันเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่มีวันจบสิ้น”
“นี่เป็นความแตกต่างจากหนังทั่วไป ซึ่งจะต้องมีการรื้อฉากและเก็บเครื่องแต่งตัวในตอนจบการทำงาน” แฮงค์สบอก “ฝันของเราอยู่ในการทำงานเสมอ”
งานสร้างสรรค์ไร้ขีดจำกัด: การเปลี่ยนงานสร้างภาพยนตร์ในอนาคต
เมื่อพิจารณาถึงอิสระในการสร้างสรรค์ที่เซเมคคิสได้รับจากการใช้ Performance Capture ใน The Polar Express, โรเบิร์ต เซเมคคิส พยายามที่จะนำขั้นตอนมาเสนอเป็นมุมมอง “ข่าวดีก็คือทุกอย่างเป็นไปได้ ข่าวร้ายก็คือทุกอย่างเป็นไปได้” เขากล่าวติดตลก
แต่เมื่อตัดเรื่องที่พูดเล่นออกไป ความคาดหมายก็กลายเป็นจริง
“มันยกระดับผลงานของเราในฐานะผู้กำกับการแสดง” เซเมคคิสอธิบายให้ฟัง “เพราะมันทำให้เราทำได้ทุกอย่าง ข้อจำกัดเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ก็คือจินตนาการของคนทำหนัง เพราะเราสามารถสร้างภาพประเภทไหนออกมาก็ได้ ผมสามารถสร้างช็อตตระการตา โดยมีเด็กตัวเล็กๆ นั่งอยู่บนหลังคารถไฟที่กำลังแล่นตะบึงอยู่ในหิมะ และผมก็ไม่ต้องกังวลว่าผมจะต้องทำอย่างไร ผมไม่ต้องกลัวว่าเด็กจะตกจากรถไฟ หรือว่ากล้องจะถูกน้ำแข็งเกาะ หรือรถไฟจะวิ่งตรงตำแหน่งหรือไม่ ผมสามารถควบคุมองค์ประกอบเหล่านี้ได้อย่างสิ้นเชิง สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือเราต้องพิมพ์เรื่องลงไปในคอมพิวเตอร์ และมีหนังออกมาอีกด้านหนึ่ง”
ด้วยทางเลือกที่มากขนาดนั้น จึงทำให้สามารถคัดเลือกเนื้องานได้ ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่ากริ่งเกรง อย่างเช่นฉากขั้วโลกเหนือเป็นต้น : “ยกตัวอย่างที่ผมมีฉากความยาว 3 นาที พวกนักแสดงได้ทำงานจบอย่างดีเยี่ยมแล้ว เวลาดีมาก บทพูดลงตัว ทุกอย่างถูกใส่ลงไปในฉาก การตัดสินใจก็คือ โอเค ผมจะถ่ายแบบไหน ? ผมสามารถจะถ่ายได้นับพันหรือช็อตเดียว และไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงยกเว้นการถ่ายทอดวัตถุดิบออกมาเป็นภาพยนตร์ เราต้องรักษากฎอย่างเคร่งครัดในแง่นั้น
“ถ้าพูดให้ตรงประเด็นเล้ว” เขาพูดอย่างล้อเลียน “ไม่มีข้อแก้ตัวที่เราจะไม่ทำให้ทุกช็อตออกมาดีเยี่ยม”
จากมุมมองของนักแสดง เซเมคคิสเชื่อว่า การทำงานกับการจับภาพเคลื่อนไหวที่มีความซับซ้อนในระดับนี้ ทำให้มีอิสระพอๆ กัน จากความต้องการที่คล้ายคลึงกัน “ลองนึกดูว่า” เขาบอก “พวกเขาสามารถแสดงได้โดยไม่ต้องกังวล ในทุกๆ นาทีว่าจะต้องยืนให้ตรงจุด หรือเอนเข้าหาไฟ หรือเดินด้วยความเร็วเท่านั้นเท่านี้ เพราะกล้องจะตามไม่ทัน หรือมีกลไกน่ากลัวต่างๆ ที่นักแสดงจะต้องใช้ พวกเขาสามารถเพ่งสมาธิการใช้พลังงานในฉาก โดยไม่ต้องสะดุดกับจังหวะของการแสดง”
ข้อแลกเปลี่ยนก็มีน้อยมาก “ผมคิดว่าอย่างเดียวที่ทอมคิดถึงก็คือการที่ต้องยึดติดกับเครื่องแต่งกาย” ผู้กำกับการแสดงทบทวน “เขาต้องจำไว้ว่านายตรวจสวมแว่นสายตา และเมื่อเขาเป็นนายตรวจเขาจะต้องไม่ลืมแตะกระบังหมวก หรือจัดแต่งคอเสื้อของเขา ซึ่งเขาน่าจะทำได้โดยสัญชาติญาณถ้าหากเขากำลังสวมชุดนั้นอยู่จริงๆ”
จากมุมมองของผู้ที่ทำอาชีพนี้มากว่า 30 ปี เซเมคคิสยอมรับคลื่นลูกใหม่ของการสร้างหนัง ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ “ผมว่าเรากำลังจะเห็นผู้สร้างรุ่นใหม่ หันมาใช้ระบบนี้” เขาทำนาย “ตอนนี้เราทำได้โดยไม่ต้องใช้เลนส์ ไม่ต้องใช้ฟิล์ม ไม่จำเป็นต้องย้ายหรือปรับไฟเพื่อสร้างภาพต่างๆ เพราะมันสามารถทำให้เสร็จได้ด้วยตัวเลข 1 และ 0 ในโลกดิจิตัลในคอมพิวเตอร์ ขั้นตอนปกติที่มีอายุเป็นร้อยปี ในการถ่ายทำ น้ำยาเคมี กลไก ที่เราใช้บันทึกภาพในหนังกำลังจะเปลี่ยนไป เวลาที่ผู้ชมได้เห็น The Polar Express ในโรงดิจิตัล จะไม่มีฟิล์ม — ไม่มีการใช้ฟิล์มเลยแม้แต่ขั้นตอนเดียว”
“ต้องมีการเปลี่ยนวิธีที่หนังถูกจินตนาการและถ่ายทำ” เขากล่าวสรุป “มันจะเป็นภาษาที่ได้รับอิทธิพลจากงานศิลป์วิดีโอเกมและอินเตอร์เน็ต — วิธีการใหม่เอี่ยมของการที่เราใช้ภาพในการสื่อสาร”
บอกบทให้กับนักแสดง
องค์ประกอบสำคัญสำหรับการสร้างภาพยนตร์นั้นยังคงเดิม โดยไม่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางเทคนิค สิ่งที่เป็นแรงขับของทุกอย่างนั้น แน่นอนว่าคือการแสดงของเหล่าดารา
สำหรับขั้นตอนอย่าง Performance Capture ซึ่งขึ้นอยู่กับความละเอียดอ่อนของการแสดงอารมณ์อย่างมาก หรือความสำคัญของการเหลือบมอง การยักไหล่ หรือการเบือนหน้า เพื่อสื่อความหมายจำนวนมาก สิ่งนี้ต้องใช้บรรดานักแสดงที่มีทักษะและความล้ำลึกเป็นพิเศษ
ในช่วงของการระดมสมองตอนต้นๆ ทอม แฮงค์สคาดไว้ว่าเขาจะรับบทของตัวละครชายที่เป็นผู้ใหญ่สองสามตัว แต่หลังจากที่ได้พบว่าขั้นตอนการถ่ายทำด้วย Performance Capture สร้างอะไรได้บ้าง เซเมคคิสได้เสนอให้แฮงค์สพิจารณาบทของตัวละครหลัก เด็กชายตัวน้อย “ในเมื่อเรามีเครื่องมือแสนวิเศษอยู่ที่ปลายนิ้วของเรา ผมก็คิดว่าทำไมต้องให้เด็กอายุ 8 ขวบมาเล่นเป็นเด็ก 8 ขวบ ในขณะที่เรามีนักแสดงที่มืฝีมือระดับทอม ให้มาถ่ายทอดบทบาทนี้ ด้วยประสบการณ์หลายต่อหลายปีของเขา” ผู้กำกับฯ อธิบาย “เขาว่า ‘ฟังดูดีนะ เราทำได้ไหม?’ และแน่นอนว่า เราลองทดสอบดู”
ส่วนหนึ่งนั้นต้องมีการปรับเปลี่ยนสัดส่วน สำหรับผู้ใหญ่ที่จะรับบทเด็ก ต้องมีการปรับเปลี่ยนฉากและอุปกรณ์ประกอบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น 160% กว่าปกติ เพื่อให้ภาพการแสดงของผู้ใหญ่ถูกจัดเก็บและนำไปใส่ลงในฉากเสมือนจริงได้อย่างเหมาะสมเป็นธรรมชาติ ระหว่างการแสดงจริง อุปกรณ์น้อยชิ้นที่สุดในสัดส่วนที่ใหญ่กว่าปกติเช่นกัน มักจะถูกสร้างเพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับนักแสดง
นอกเหนือจากสัดส่วนที่สามารถใช้หลอกตาได้ด้วยการใช้อุปกรณ์ประกอบฉากและการคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์ ตัวทอม แฮงค์สเองเป็นผู้ที่สร้างสัดส่วนของการแสดงอารมณ์ที่น่าเชื่อถือให้กับตัวละคร ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ศิลปิน CGI ไม่อาจเทียบได้
ในการตรวจสอบฟุตเตจของการทดสอบขั้นต้น แฮงค์สรู้สึกว่ากิริยาท่าทางและการเคลื่อนไหวของเขานั้นไม่เหมาะสมกับอายุอย่างที่ควรจะเป็น และต้องปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น “เขาเข้าถึงมากขึ้น ทำท่าทางอย่างเด็กมากขึ้น และเหมือนขึ้นอีก” สตาร์คีย์อธิบาย “ไม่ได้ดูเกินความจริงแต่เป็นธรรมชาติ ราวกับเขาอายุ 8 ขวบ ความเป็นมืออาชีพของทอมมีมากเสียจนเขาปรับแต่งการแสดงของเขาโดยใช้ช็อตทดสอบขั้นแรก ตำแหน่งและเวลาของเขาแม่นยำมาก”
ท้ายที่สุด แฮงค์สได้แสดงในบทนำถึง 5 ตัวด้วยกัน : เด็กฮีโร่บอย, พ่อของเด็ก, นายตรวจ, โฮโบผู้ลึกลับ และซานตาคลอส หรือที่เขาอธิบายว่า “ตัวละครหลักที่เป็นผู้ใหญ่เพศชายที่เด็กชายต้องร่วมแสดงด้วย ตัวละครทั้งหมดมีน้ำหนักที่มีความหมายของเรื่อง พวกเขาผุดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของตัวเด็กชายเอง”
เช่นเดียวกับที่เซเมคคิสได้กล่าวไว้ตั้งแต่แรกแล้ว มันเป็นเรื่องสับสนที่ต้องแสดงในชุดโม-แคพโดยไม่มีเครื่องแต่งกายหรือฉากที่สมบูรณ์ นักแสดงต้องจำไว้ว่าหน้าต่างอยู่ตรงไหน ตัวละครของเขาอาจเดินเท้าเปล่า หรือติดกระดุมเสื้อแจ็คเก็ตที่ไม่ได้มีอยู่จริงๆ ในตอนนั้น — หรือในกรณีที่แฮงค์สเล่นกับฮีโร่บอย เขาควรจะสูงสักเท่าไหร่ แล้วคูณด้วยเลขจำนวนห้า เพื่อประมาณจำนวนของรายละเอียดที่นักแสดงจะเก็บไว้เป็นแบบในหัวของเขา
ในการทำงานกับ “สภาพไร้เครื่องแต่งกายอย่างน่าหงุดหงิด” แฮงค์สเล่า “ผมพบว่าผมต้องเปลี่ยนบางอย่างจากตัวละครหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง และในเมื่อผมไม่สามารถถอดชุดโม-แคพออกได้ สิ่งที่เลือกได้อย่างเดียวคือรองเท้า ผมใส่รองเท้าสำหรับวิ่งเวลารับบทเด็กชาย และเปลี่ยนเป็นรองเท้าบู๊ตคู่อื่นๆ เวลาเป็นนายตรวจ โฮโบ และซานต้า มันมีผลกับการทรงตัวและการเคลื่อนไหว และในผลสุดท้ายกับบุคลิกของผม”
ในเวลาที่ต้องเป็นตัวแทนของซานตาคลอสนั้น แฮงค์สมีความคิดจำเพาะเกี่ยวกับโทนและเสียงที่เขาอยากจะแสดงออกมา “การผสมทั้งการล้อเลียนภาพที่เราเห็นกันมาจนโต และความลึกลับที่แท้จริง” เขาอธิบาย “เขาไม่ได้ทำสียง ‘โฮ โฮ โฮ’ ออกมาจากสุดปอดทุกครั้ง ถึงแม้เขาจะหัวเราะ ซานต้ารู้ดีถึงพลังในการออกเดินทางตอนคริสต์มาสอีฟเพื่อแจกของขวัญให้กับเด็กๆ ทั่วโลก เขาทำแบบนั้นมาเป็นพันๆ ปี และแม้แต่เขาก็มีส่วนร่วมในการแสดงด้วย”
ผู้ที่ร่วมงานกับทอม แฮงค์สในขั้นตอนของโม-แคพ คือไมเคิล เจเตอร์ ผู้ล่วงลับ เขาได้แสดงในสองบทบาทของช่างเครื่อง สตีมเมอร์ และสโมกกี้ — พี่น้องฝาแฝดที่มีบุคลิกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งเตี้ยและอ้วนกลม ในขณะที่อีกคนสูงและผอมเหมือนถั่วฝักยาว สองพี่น้องซึ่งมีจิดใจดีและช่างพูดทั้งคู่ และโดยการใช้เพลงเป็นสื่อแนะนำการทำงานของรถไฟให้กับเด็กชาย พวกเขาขอความช่วยเหลือในการเปลี่ยนหลอดไฟหน้าที่ขาด ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจยิ่งขึ้น และยังเป็นการให้ความรู้มากกว่าที่เขาเคยจินตนาการไว้
เจเตอร์ทดสอบบทของทั้งสองตัวละคร เตรียมที่จะรับบทใดบทหนึ่ง แต่อย่างที่สตาร์คีย์ทบทวนให้ฟังว่า “บ็อบตื่นเต้นมากจนเขาตกลงเลือกไมเคิลสำหรับทั้งสองบทในตอนนั้นเลย”
นักแสดงบทของตัวละครชื่อดัง ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของทั้งทีมงานและเพื่อนดารา เสียชีวิตหลังจากที่เสร็จจาการทำงานภาพยนตร์เพียงไม่นานต่อมา “มันเป็นโศกนาฏกรรมที่โหดร้ายและมีมีใครคาดคิด” เซเมคคิสกล่าว เขาสั่งให้หยุดพักการทำงานเมื่อได้รับทราบข่าวนี้ในขณะอยู่ในกองถ่าย ภาพยนตร์เรื่อง The Polar Express เป็นผลงานแสดงเรื่องสุดท้ายของเจเตอร์
สำหรับบทของเด็กหญิงที่ผูกมิตรกับเด็กชายบนรถไฟ ทีมผู้สร้างได้เลือกให้โนน่า เกย์ ผู้ที่เพิ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Image Award จากผลงานแสดงในเรื่อง The Matrix Reloaded และ The Matrix Revolutions เซเมคคิสยอมรับอย่างอบอุ่นว่า “โนน่าเป็นคนที่ยอดเยี่ยมมาก ความสามารถของเธอในการที่จะเข้าใจตัวละครและแสดงออกมาในวิธีที่ดูมีสเน่ห์น่าเอ็นดูเหมือนอย่างที่เราต้องการจริงๆ”
ตามที่ทีมผู้สร้างจินตนาการเอาไว้ เด็กหญิงเป็นเด็กน้อยที่เข้มแข็งและมีความสามรถ เกิดมาเพื่อเป็นผู้นำ แต่ไม่เคยรู้ถึงพรสวรรค์ที่มีมาโดยกำเนิดของเธอ ไม่ว่าคนรอบข้างเธอจะเห็นได้อย่างชัดเจนก็ตาม เมื่อร่วมบุกบั่นฝ่าฟันอันตรายกับเด็กชายในระหว่างเส้นทางไปขั้วโลกเหนือ ในที่สุดเธอก็เริ่มสำนึกได้และเห็นความเป็นไปได้ ซึ่งแอบซ่อนอยู่ในตัวเธอมานานแล้ว
ปีเตอร์ สโคลารี ผู้ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงหลายรางวัลเอ็มมี่ มารับบทเป็นตัวละครที่รู้จักกันในชื่อโลนลี่บอย ซึ่งรถไฟได้หยุดรับเขาจากถิ่นยากจนของเมือง ดูเหมือนเขาจะเป็นผลผลิตของบ้านที่ไร้ความสุข โลนลี่บอยเป็นคนที่หวาดระแวงต่อทุกสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเมตตาและความสนใจจากคนอื่นๆ เขาขึ้นรถไฟด้วยความไม่เต็มใจ เหมือนกับว่าไม่แน่ใจว่าเขาสมควรได้รับเกียรตินั้นหรือไม่ และเมื่อขึ้นรถแล้วก็ยังปลีกตัวไปจากเด็กที่เต็มไปด้วยความเริงร่าคนอื่นๆ
“ปีเตอร์สร้างความรู้สึกที่เหมือนกับ บัสเตอร์ คีตัน ให้กับบทบาทนี้” เซเมคคิสเล่า “เขามีความเศร้าล้ำลึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแสดงออกทางสีหน้าของเด็กชาย ปีเตอร์สื่อถึงวิญญาณที่แสนเศร้าของเด็กคนนี้ด้วยความอ่อนไหวอย่างเต็มเปี่ยม”
เด็กอีกคนหนึ่งบนรถไฟ รู้จักกันในชื่อเด็กแสนรู้ ซึ่งรับบทโดยเอ็ดดี้ ดีเซน ผู้มากความสามารถ “ผมเขียนบทตัวละครของเด็กแสนรู้โดยมีสียงของเอ็ดดี้ก้องอยู่ในหัว” เซเมคคิสเผย ก่อนจะพูดถึงเพื่อนร่วมงานของเขาด้วยเสียงหัวเราะ “เขาสามารถแสดงความยโสอย่างน่ารำคาญแบบนั้นได้โดยไม่ต้องพยายามมากเกินไป มันเป็นเรื่องน่าเอ็นดูในแง่หนึ่ง แต่น่ารำคาญ น่ารำคาญจริงๆ” เด็กแสนรู้ไม่ได้เป็นเด็กร้ายกาจ แต่ต้องการความถ่อมตัวอย่างมาก
ชาร์ลส เฟลชเชอร์ เพื่อนร่วมงานเก่าแก่ของเซเมคคิส ทำงานภาพยนตร์และโทรทัศน์มากว่า 30 ปี บางทีเราอาจรู้จักเขาดีในเสียงของตัวการ์ตูนที่น่ารักอย่าง โรเจอร์ แร็บบิท มาร่วมทีมดาราใน Polar เป็นนายพลเอลฟ์ เขาไม่เพียงแต่มีหน้าที่ผลิตของเล่นที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ แต่ยังคอยติดตามพฤติกรรมเกเรและแสนดีของเด็กๆ ให้กับซานต้า ด้วยระบบควบคุมทั่วโลกที่น่าประทับใจ
นอกเหนือจากการเก็บภาพการแสดงของดาราหลัก ทั้งในฉากแบบเดี่ยว คู่ หรือกลุ่ม การทำงานของ Performance Capture ไปไกลเกินกว่ามาตรฐานของโม-แคพ จนทำให้ทีมผู้สร้างของ Polar สามารถบันทึกฉากร้องเพลงและเต้น ซึ่งมีผู้เต้นหลายคน ใน “ฉากช็อคโกแล็ตร้อน” ไว้ได้ทั้งฉาก
ระหว่างเส้นทางสู่ขั้วโลกเหนือ เด็กชายและบรรดาเพื่อนใหม่ของเขาได้รับแจกเครื่องดื่มโกโก้ร้อนจนควันขึ้นฉุยจากบริกรบนรถไฟ ซึ่งพุ่งทะยานเข้ามาพร้อมเพลงและโลดแล่นไปตามความกว้างและยาวของตัวรถด้วยขายาวๆ ของพวกเขา เต้นอย่างสนุกสนานไปรอบๆเด็กๆ และที่นั่ง พร้อมทั้งมีถาดที่ใช้เสริฟร่อนอยู่เหนือหัวพวกเขา ในการสร้างฉากนี้กองทัพนักเต้นได้รับการออกแบบท่าทางและซักซ้อมกัน สำหรับการแสดงไลฟ์แอ็คชั่น โดย จอห์น คาร์ราฟา นักออกแบบท่าเต้นแห่งบรอดเวย์ ที่ได้รับการแนะนำจากโทนี่ ก่อนได้รับการเก็บเป็นภาพดิจิตัล และใส่ลงไปในรถไฟเสมือนจริง ไม่มีโกโก้กระฉอกออกมาแม้แต่หยดเดียว
ซาวน์ดแทร็คของ The Polar และ บทบาทไม่คาดฝันของร็อคเกอร์ สตีเวน ไทเลอร์
นับแต่ที่อลัน ซิลเวสตรี ผู้ประพันธ์เพลง ได้สร้างสรรค์เพลงประกอบให้กับภาพยนตร์เรื่อง Romancing the Stone เมื่อปี 1984 เขาและโรเบิร์ต เซเมคคิสก็ได้ร่วมกันทำงานระหว่างผู้ประพันธ์/ผู้กำกับฯ ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากเป็นเวลายาวนานที่สุดในวงการภาพยนตร์ สองในห้ารางวัล ASCAP ของซิลเวสตรีนั้นมาจากภาพยนตร์ของ: What Lies Beneath และ Cast Away นอกจากนั้นเขายังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลจากผลงานเรื่อง Who Framed Roger Rabbit? และ Back to the Future และในปี 1995 ผลงานเพลงประกอบเรื่อง Forrest Gump ทำให้เขาได้เข้าชิงทั้งรางวัลออสการ์และลูกโลกทองคำ ภาพยนตร์เรื่อง The Polar Express นี่เป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 11 ของพวกเขา
ในจุดนี้เซเมคคิสกล่าวอย่างอบอุ่นว่า พวกเขามีความเชื่อมโยงในการสร้างสรรค์อย่างไม่มีใดเทียบ “เพลงของเขามหัศจรรย์เสมอ ผมวางใจให้เขาเป็นผู้เพิ่มเติมชั้นของอารมณ์ เพื่อให้มีลูกเล่นและปรับตามอารมณ์ของตัวละคร เป็นเรื่องจริงของเพลงประกอบ แต่ในหนังแบบนนี้มันเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด”
ในภาพยนตร์เรื่องล่าของซิลเวสตรี The Mummy Returns, เขาได้ร่วมงานกับผู้เขียนเพลงมือเก่า และผู้อำนวยการสร้างเกลน บัลลาร์ด ในเพลง “Forever May Not Be Long Enough” ต่อจากนั้นเขาได้พาบัลลาร์ดมาร่วมงานใน The Polar Express เพื่อช่วยกันแต่งเพลงออริจินัลหลายเพลงให้กับภาพยนตร์ รวมทั้งเพลงที่มีจังหวะอย่าง “Rockin’ On Top of the World,” ในตอนที่บรรดาเอลฟ์ของซานต้าปล่อยตัวให้สนุกสนานหลังจากทำงานสร้างของเช่นอย่างหนักมาตลอดปี “มันเป็นฉากที่เอลฟ์เต้นร็อคกัน” เซเมคคิสเล่า “หลังจากที่เลื่อนของซานต้าถูกบรรจุเรียบร้อยและเขาออกเดินทาง พวกเขาก็ร่วมฉลองกัน“
ผลงาน “Elfin” ครั้งแรกของสตีเวน ไทเลอร์ เจ้าตำนานเพลงร็อค เป็นการคัดเลือกที่เกิดจากโชคโดยบังเอิญอย่างแท้จริง บัลลาร์ดได้เชิญนักร้องแถวหน้าเจ้าสเน่ห์ของวง Aeorosmith เพื่อขังร้องเพลง “Rockin’ On Top of the World” เมื่อไทเลอร์มาถึงสตูดิโอนั้น บุคลิกไฟแรงสูงและความสนุกสนานที่เป็นธรรมชาติของเขาโดนใจผู้กำกับฯ เข้าทันที และเขาได้ตัดสินใจในตอนนั้น ว่านักร้องหนุ่มจะเป็นผู้ที่เหมาะสมอย่างที่สุดในการรับบทเอลฟ์ ไทเลอร์เป็นคนที่ไม่เคอะเขินกับการมีประสบการณ์ใหม่ๆ และได้เซ็นสัญญาอย่างเต็มใจในการสวมชุดโม-แคพและติดตัวบอกเครื่องหมายบนร่างกาย เซเมคคิสทบทวนให้ฟังว่า “สิ่งที่ได้ออกมานั้นเยี่ยมมาก”
ซาวน์ดแทร็คของ The Polar Express เป็นการผสมผสานของเพลงครอบครัวสมัยใหม่และเพลงคลาสสิคกับท่วงทำนองเทศกาลวันหยุด และยังมีผลงานบัลลาร์ดใน “Believe” ซึ่งถูกเขียนขึ้นสำหรับภาพยนตร์เป็นการเฉพาะ โดยเกลน บัลลาร์ด และร้องเป็นครั้งแรกโดยโจช โกรแบน นักร้องที่ได้รับหลายรางวัลยอดขายติดอันดับแพลตตินัม เพลงที่น่าสนใจเพลงอื่นๆ ได้แก่เพลงยอดนิยมตลอดกาลจาก แฟรงค์ ซินาตร้า และบิง ครอสบี้ รวมทั้งเพลงใหม่เอี่ยมอีกสองเพลงซึ่งขับร้องจากตัวละครโดยทอม แฮงค์ส ได้แก่ เพลงกระตุ้นจิตวิญญาณ “Hot Chocolate,” จากฉากที่เด็กๆ ซึ่งได้ขึ้นรถโพลาร์เอ็กซเพรส ได้รับแจกโกโก้ร้อนโดยกองทัพบริกรที่เต้นแท็ปและร้องเพลงไปด้วย
The Polar Express: ประสบการณ์ IMAX 3D นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมของวงการภาพยนตร์
ไม่เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่อง The Polar Express จะเป็นหนังเรื่องแรกที่ถ่ายทำทั้งเรื่องด้วยระบบ Performance Capture เท่านั้น แต่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2004 จะเป็นก้าวที่จะถูกจารึกไว้ของวงการภาพยนตร์ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะออกฉายเป็นครั้งแรกในระบบ IMAX 3D?
The Polar Express: An IMAX 3D Experience จะเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของโลกที่ฉายในระบบ IMAX 3D? ด้วยการใช้ขั้นตอนที่เป็นปฏิวัติการใหม่ที่เรียกว่า IMAX 3D DMR?, ฟุตเตจของหนังจะถูกแปลงเป็น 3 มิติ แล้วทำเป็นต้นฉบับดิจิตัลอีกครั้งเพื่อให้เป็นรูปแบบของ IMAX โดยการใช้เทคโนโลยีลิขสิทธิ์ของ IMAX DMR (แปลงต้นฉบับโดยดิจิตัล) โดยคงความเป็นภาพ 3 มิติไว้และทำให้ภาพซึ่งดูมีชีวิตเป็นพิเศษอยู่แล้วโลดแล่นอกมาจากจอภาพยนตร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครอย่างแท้จริงให้กับผู้ชม
ไม่ว่าจะเป็นเกล็ดหิมะที่โปรยปรายอยู่รอบโรงภาพยนตร์ หรือล้อรถไฟที่กรีดก้องในขณะที่หยุดลงบนตักของผู้ชม รูปแบบ 3 มิติของ IMAX ของเรื่อง The Polar Express จะให้ความรู้สึกที่ไม่เพียงแต่ในโรงภาพยนตร์ แต่แทบจะอยู่ในตัวภาพยนตร์เองด้วยซ้ำ
“ตอนที่ได้ดูผลทดสอบของเรื่อง The Polar Express ที่เป็น IMAX 3D ผมรู้สึกตื่นเต้นว่าผู้ชมจะได้สัมผัสประสบการณ์ภาพยนตร์ในรูปแบบนี้” โรเบิร์ต เซเมคคิส ผู้กำกับการแสดงเรื่อง The Polar Express กล่าว “งาน 3D เพิ่มความลึกที่เหลือเชื่อ และทำให้ผู้ชมได้พบกับประสบการณ์อันตระการตา และการผจญภัยที่น่าทึ่งของเรื่องราวคลาสสิคนี้ ในรูปแบบที่จะสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ประทับในความทรงจำ ไม่เพียงในแต่เทศกาลวันหยุดนี้ แต่ในอีกหลายปีข้างหน้าด้วย”
The Polar Expres: The IMAX Experience จะออกฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX, IMAX Dome และ IMAX 3D ทั่วโลกในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2004 เป็นภาพยนตร์เรื่องที่ห้าที่ออกฉายในโรงภาพยนตร์ IMAX ของวอร์เนอร์ บราเดอร์ส พิกเจอร์ส ตั้งเต่ปี 2003 ทางสตูดิโอได้ประสบความสำเร็จในการจัดฉายภาคที่สองและสามของหนังไตรภาค The Matrix และภาพยนตร์แอ็คชั่นสามมิติที่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ IMAX ตั้งแต่แรก เรื่อง NASCAR 3D: The IMAX Experience
ขั้นตอนของ IMAX 3D DMR นั้นมีพื้นฐานมาจากสิ่งที่สายตาและสมองทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างโลก 3 มิติที่เป็นธรรมชาติอย่างที่เราเป็นอยู่ คนเราแทบทุกคนมองเห็นผ่านสองตาและแม้ว่าตาทั้งสองข้างจะจับภาพไปยังจุดศูนย์กลางโดยอัตโนมัติจากสองตำแหน่งที่ต่างกันเล็กน้อย สิ่งนี้ทำให้เกิดภาพที่ต่างกันไม่มากสองภาพด้วยกัน ซึ่งสมองก็จะได้รับการกระตุ้นให้สร้างส่วนที่ให้ความลึก 3 มิติขึ้น
IMAX 3D ฉวยโอกาสจากขั้นตอนแห่งธรรมชาตินี้ ภาพยนตร์ IMAX 3D film นั้นประกอบด้วยฟิล์มสองแถบที่ฉายไปบนจอในเวลาเดียวกัน แถบหนึ่งเป็นภาพที่มองเห็นจากตาข้างขวา และอีกแถบจาตาข้างซ้าย แว่นชนิดพิเศษของ IMAX 3D จะทำให้ตาข้างซ้ายมองเห็นเฉพาะภาพด้านซ้าย และตาข้างขวาเห็นเฉพาะภาพด้านขวา ทำให้สมองสั่งการส่วนที่เหลือโดยกระตุ้นการมองเห็นทั้งสองภาพ และสร้างภาพที่มองเห็นเป็นสามมิติโลดแล่นออกมาจากจอ ระยะห่างหรือ “การแยกส่วน” ระหว่างมุมมองด้านซ้ายและขวาเป็นตัวกำหนดความคมชัดของภาพ 3 มิติ; มากไปหรือน้อยไปจะทำให้ภาพเสียรูปร่าง
เทคโนโลยีในการสร้างแถบฟิล์มคู่นั้นก้าวไกลจนเหนือชั้นกว่า ภาพสามมิติ “แดง-น้ำเงิน” รุ่นเก่า ที่ผสานภาพของตาซ้ายและขวาลงไปบนฟิล์มแถบเดียว ซึ่งทำให้ความคมชัดและสีสันลดลง เทคโนโลยี IMAX 3D ขจัดความด้อยข้อนี้ออกไปและให้กำเนิดภาพที่ไม่เพียงแต่ฟิล์มที่มีขนาดใหญที่สุดในโลก (15/70มม.) แต่ยังใช้แถบฟิล์มแยกเป็นสองแถบในการการจับและฉายภาพ
ถึงแม้ว่า The Polar Express จะถูกสร้างให้เป็นภาพ 3 มิติ แต่การฉายยังเป็นแบบสองมิติในเวลาที่ลงโรงธรรมดาทั่วไป ดังนั้นจึงเป็นการฉายภาพในมุมมองเดียว ภาพยนตร์รูปแบบ 3 มิติต้นฉบับ มีข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการใช้ “ตาที่สอง” และ IMAX ใช้สิ่งนี้ในการคำนวณการแยกส่วนอย่างละเอียด จากมุมมองของภาพ 2 มิติเพื่อสร้างประสบการณ์ชมภาพ 3 มิติที่สมบูรณ์แบบ
หลังจากนั้นภาพของทั้งตาซ้ายและขวาจะได้รับการแปลงต้นฉบับด้วยระบบดิจิตัลให้เป็นรูปแบบของ IMAX โดยการใช้เทคโนโลยี IMAX DMR และบันทึกเป็นสองชุดลงบนฟิล์มขนาด 15/70 เพื่อฉายใน IMAX 3D เพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหมือนจริงและล้ำลึกที่สุดในโลก ด้วยภาพสามมิติที่คมชัดที่สุดและใหญ่กว่าชีวิตจริง ประกอบกับเสียงรอบทิศที่ยอดเยี่ยมมีระดับ ผู้ชมจะรู้สึกราวกับได้อยู่ร่วมในภาพยนตร์ด้วย
เครื่องฉาย IMAX 3D จะฉายภาพไปบนจอเงินพิเศษของ IMAX 3D จากฟิล์มสองแถบขนาด 15/70 แต่ละแถบสำหรับตาแต่ละข้าง นอกเหนือจากแว่น IMAX 3D ซึ่งส่งภาพของตาขวาไปสู่ตาข้างขวา และภาพของตาซ้ายไปยังตาข้างซ้าย โรงภาพยนตร์บางแห่งของ IMAX ยังมีแว่น P3D ซึ่งจะทำให้แยกภาพของตาข้างซ้ายและขวา โรงภาพยนตร์อื่นๆ ใช้แว่น E3D glasses, ซึ่งใช้เทคโนโลยีกลไกชัตเตอร์คริสตัลเหลว ภาพ 15/70 นั้นมีขนาดใหญ่กว่าจอภาพยนตร์ขนาด 35 มม. ถึงสิบเท่าและใหญ่กว่าจอขนาด 70 มม. สามเท่า เฟรมของฟิล์มในขนาด 15/70 เมื่อรวมเข้ากับเทคโนโลยีการฉายที่เป็นเอกลักษณ์ของ IMAX นับเป็นหัวใจสำคัญของความคมชัดที่ไม่ธรรมดาของภาพยนตร์ที่นำเสนอในโรงภาพยนตร์
การออกแบบอย่างเชี่ยวชาญของโรงภาพยนตร์ของ IMAX และสถานที่จะไม่กีดขวางสายตาของผู้ชมในการมองเห็นแอ็คชั่นบนจอภาพยนตร์ จอ IMAX 3D ขนาดยักษ์ — สูงเท่ากับตึก 8 ชั้น — จะลดความไม่สบายตาและส่วนที่ขาดหายไปตรงขอบซึ่งเกิดขึ้นในระบบสามมิติที่เล็กกว่า จอภาพยนตร์จะถูกเคลือบด้วยสีเมทัลลิคคุณภาพสูง มีขอบโค้งเล็กน้อยที่ไกลเกินความรู้สึกในแง่ของการคำนวณทางคณิตศาสตร์ ผสานกับวิสัยในการมองของผู้ชมอีกเล็กน้อย และสร้างความรู้สึกร่วมอยู่ในภาพยนตร์ให้กับบรรดาผู้ชม ภาพที่ได้เห็นยังถูกยกระดับด้วยระบบเสียงหกทิศทางที่ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ซึ่งประกอบด้วยลำโพง 44 ตัวที่ถูกออกแบบตามความต้องการ ซึ่งให้เสียงดิจิตัลล้วนๆ รอบทิศทาง 14,000 วัตต์
ก่อตั้งเมื่อปี 1967 IMAX Corporation เป็นหนึ่งในบรรดาบริษัทเทคโนโลยีทางความบันเทิงชั้นนำของโลก ธุรกิจของ IMAX รวมไปถึงการสร้างและจำหน่ายงานภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลก โดยการใช้เทคโนโลยีที่เป็นลิขสิทธิ์ของ IMAX และ IMAX 3D และการสร้างภาพยนตร์และงานดิจิตัลที่มีคุณภาพสูงสุด IMAX ได้พัฒนาปฏิวัติการทางเทคโนโลยีที่เรียกว่า IMAX DMR (Digital Re-mastering) ที่ทำให้ภาพยนตร์ 35 มม. ทุกประเภทถูกแปลงไปเป็นภาพและเสียงที่คมชัดอย่างไม่มีใดเทียบของ The IMAX Experience? เครื่องหมายการค้า IMAX เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในด้านประสบการณ์บันเทิงที่ยิ่งใหญ่เป็นพิเศษของทั้งครอบครัว จนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2004 มีโรงภาพยนตร์ IMAX เป็นจำนวน 240 โรงในกว่า 35 ประเทศ
IMAX?, IMAX? 3D, IMAX DMR, IMAX MPX? และ The IMAX Experience? เป็นเครื่องหมายการค้าของ IMAX Corporation ข้อมูลเพิ่มเติมของบริษัทฯ สามารถหาได้จาก www.imax.com--จบ--
--อินโฟเควสท์ (อบ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ