พิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด

ข่าวเทคโนโลยี Monday September 27, 2004 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือด้านการวิจัย และพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กับ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ซึ่งความร่วมมือดังกล่าว มีผลมาจากการที่นายกร ทัพพะรังสี ได้ไปเยี่ยมชมและได้พบปะเจรจากับผู้บริหารและนักวิจัยของศูนย์วิจัย IBM Almaden Research Center ที่เมือง SanJose มลรัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกลางเมษายน ปีนี้ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวเป็นหนึ่งในแปดของ IBM Research Division ที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ทั่วโลกในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ห้องปฏิบัติการทดลองและวิจัยชั้นนำสำหรับงานวิจัยทางอุตสาหกรรม และเน้นการทำวิจัยทั้งการวิจัยพื้นฐาน (Basic Research) และการวิจัยประยุกต์ (Applied Research) โดยการเจรจาในครั้งนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องการสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ระหว่างหน่วยงานวิจัยในประเทศไทยกับไอบีเอ็มและการถ่ายทอดเทคโนโลยีในสาขาที่ไอบีเอ็มมีความเชียวชาญสูงแก่นักวิจัย นักพัฒนา นักประดิษฐ์ รวมทั้งแรงงานไทย
ในความพยายามสร้างความร่วมมือข้างต้น บริษัทไอบีเอ็มได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากโดยได้ส่งคณะบุคคลและทีมงานทางวิชาการมาประสานหารือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯหลายครั้ง เพื่อสร้างความชัดเจนในความร่วมมือที่สามารถพัฒนาเป็นกิจกรรมอย่างเป็นรูปธรรมบนพื้นฐานของความต้องการที่ตรงกัน และได้รวมกันจัดทำบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และการถ่ายทอดเทคโนโลยีขึ้น ซึ่งจะมีความร่วมมือหลักๆในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) สาขานาโนเทคโนโลยี(Nanotechnology) สาขา Emerging Technologies รวมทั้งความร่วมมือในการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และด้านความปลอดภัยของอาหาร(Food Safety)
การดำเนินการในความมือที่ผ่านมาในสาขาดังกล่าวของทั้งสองหน่วยงานคู่ความร่วมมือนี้ ที่มีผลการดำเนินการในเบื้องต้นแล้วคือ การพัฒนาระบบบริการของศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโครงการที่กระทรวงวิทยาศาสตร์เริ่มพัฒนาขึ้นในปีงบประมาณ 2547 เพื่อสร้างเสริมให้เกิดการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้(Knowledge Based Society / Economy) ภายใต้กิจกรรมของโครงการนี้ บริษัทไอบีเอ็มได้ให้ความร่วมมือดังนี้
ให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์ สำหรับการพัฒนาพอร์ทัล STKC
พัฒนาโครงการนำร่องเพื่อการวิจัยกุ้ง
ให้การแนะนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้าน Accessibility มาพัฒนาบนพอร์ทัล STKCเพื่อให้ได้มาซึ่ง Web Portal ที่สมบูรณ์แบบที่ให้ข้อมูลแก่ประชาชนไทยทั่วประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไปหรือผู้ที่พิการทางสายตาหรือผู้สูงอายุ
นอกจากนั้น ยังมีการประสานและดำเนินการโครงการความร่วมมือต่างๆ ขึ้นมาอีกหลายด้านดังนี้
1. ความร่วมมือด้านนาโนเทคโนโลยี ไอบีเอ็มเป็นผู้นำด้านนาโนเทคโนโลยีซึ่งเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ค้นคว้าการจัดเรียงอะตอมและโมเลกุลใหม่เพื่อนำมาพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และเพิ่มความเข้าใจในวิทยาการด้านวิทยาศาสตร์ให้มากขึ้น การวิจัยด้าน Nanotechnology นี้จะทำให้กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดค่าใช้จ่ายลง โดยไอบีเอ็มจะจัดให้มีการอัพเดทเทคโนโลยีแก่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เกี่ยวกับ นาโนเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นวิทยาการที่สำคัญแก่ประเทศชาติอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างหนึ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว คือการนำ Dr. Don Eigler ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้าน Nanotechnology จากศูนย์วิจัยและพัฒนา IBM Almaden Research Center สหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้บรรยายกิตติมศักดิ์ให้กับงานงานครบรอบปีที่ 12 สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ งาน “นาโนเทคโนโลยี : ความท้าทายของประเทศไทย” ณ อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าว ระหว่างวันที่ 25-30 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมานี้
2. ด้าน Grid Computing Technology ไอบีเอ็มได้ให้ความร่วมมือในการสนับสนุนขีดความสามารถในการวิจัย โครงการโครงสร้างพื้นฐานทาง Grid Computing เพื่อรองรับงานวิจัยและพัฒนา การนำเทคโนโลยี Grid Computing ไปประยุกต์กับงานวิจัยด้าน Life Science และความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาในด้านอื่น ๆ เช่น ด้านนาโนเทคโนโลยี , โรงงานผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ IC (Fabrication Plant), Food Safety & Traceability, เทคโนโลยี RFID
ภายใต้ความร่วมมือนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. ได้ร่วมดำเนินการกับไอบีเอ็มจัดทำแผนงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง Grid Innovation Workshop โดยมีผู้แทนจาก 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเข้าร่วม และ ยังร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ Grid Computing โดยมีศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) และ คณะนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับทีมงานไอบีเอ็มในการพัฒนาระบบสนับสนุนการวิจัยกุ้งในลักษณะ On-line Services โดยผ่านเว็บพอร์ทัล STKC
3. ความร่วมมือด้านชีววิทยา (Biology) และเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio-technology) ซึ่งไอบีเอ็มเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมที่ให้ประโยชน์กับพันธมิตร โดยไอบีเอ็มมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับศาสตร์การคำนวณทางชีววิทยาด้วย ระบบคอมพิวเตอร์แบบความเร็วสูง รวมทั้งการจัดการ และการจัดเก็บข้อมูล โดยมีเป้าหมายที่มุ่งมั่นเพื่อพัฒนาศักยภาพและเร่งการพัฒนางานวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต ไอบีเอ็มได้สร้างความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐานทาง Grid Computing เพื่อรองรับงานวิจัยและพัฒนาและสนับสนุน การนำเทคโนโลยี Grid Computing ไปประยุกต์กับงานวิจัยด้าน Life Science ให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งในเบื้องต้นจะใช้สนับสนุนงานวิจัยของ สวทช. โดยการใช้แอพพลิเคชั่นเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการในความร่วมมือ อีกทั้ง ผนึกความพยายามร่วมกับกระทรวงวิทยา-ศาสตร์ฯ ในการทำการวิจัยที่สามารถนำมาเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม:
นายฤทธิรงค์ วิภาตะศิลปิน หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์
E-mail : rittirong@most.go.th
คุณกฤษณา ศิลประเสริฐ
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
โทร. 0-2273-4639
E-mail : krisana@th.ibm.com
และ คุณปราโมทย์ ป้องสุธาธาร
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
โทร. 0-2354-3746 ต่อ 118, 120
โทรสาร 0-2354-3763--จบ--
--อินโฟเควสท์ (นท)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ