กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--IR PLUS
บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ เผยพร้อมเดินหน้าขยายฐาน ธุรกิจอย่างต่อเนื่องทั้ง กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรม กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน และกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังพบ ทิศทางการเติบโตโดดเด่นและชัดเจน เหตุเป็นเทรนด์ธุรกิจแห่งอนาคตที่มุ่งดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมโดยตรง "สุรเดช บุณยวัฒน"
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ เผยพร้อมขับเคลื่อนธุรกิจให้ขยายตัวตามเป้าหมายที่วางไว้ ควบคู่กับการคืนกำไรสู่สังคมตามปณิธานของกลุ่มบริษัทพรีเมียร์
นายสุรเดช บุณยวัฒน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมระดับแนวหน้าของประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว โดยปัจจุบันบริษัท PPP ดำเนินธุรกิจ4 กลุ่มโดยมี 2 ธุรกิจหลักดำเนินการ ภายใต้ บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมด้านระบบบำบัดน้ำเสียและระบบสำรองน้ำ และกลุ่มธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรม ในขณะที่อีก 2 กลุ่มธุรกิจจะดำเนินการโดยบริษัทย่อย 2 แห่ง ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน และธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งธุรกิจทั้งหมดเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนซึ่งถือเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่อยู่ในความสนใจของทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับ การดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
"ธุรกิจของ บมจ.พรีเมียร์ โพรดักส์ และบริษัทย่อย ถือว่าอยู่ในกลุ่มธุรกิจรักษ์โลก ซึ่งเป็น ธุรกิจแห่งอนาคต ทำให้ทุกธุรกิจมีทิศทางการเติบโตที่โดดเด่นและชัดเจน เราจึงเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างคล่องตัว" นายสุรเดช กล่าว
สำหรับธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมด้านระบบบำบัดน้ำเสียและระบบสำรองน้ำ นายสุรเดชกล่าวว่า บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่าย และให้บริการผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์ย่อย คือระบบบำบัดน้ำเสีย (Waste Water Treatment System) อุปกรณ์สำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบสำรองน้ำ (Water Storage System) และ การให้บริการและดูแลสำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย โดยผลิตภัณฑ์ในระบบบำบัดน้ำเสีย ได้แบ่งออกเป็น 2 ระบบ คือ ระบบบำบัดน้ำเสียปฏิกูล (จากห้องสุขา) ให้กลายเป็นน้ำดีก่อนปล่อย สู่ท่อสาธารณะ โดยระบบนี้ผลิตภัณฑ์ที่ทำตลาดอยู่ในปัจจุบันคือถังแซทส์ และถังไบโอเซพท์ ส่วนระบบที่สองเป็นระบบบำบัดน้ำเสียแบบน้ำทิ้งรวมในใบเดียวกัน ทั้งจากห้องสุขา ครัว และ น้ำทิ้งต่าง ๆ เหมาะสำหรับอาคารที่พักอาศัยและโครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงงาน อาคาร สำนักงาน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ ทำตลาดอยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ถังอีโคแท้งค์ ถังแอโรโทลถังไบโอโทล ถังแอโรวีล ถีงแอโรแมกซ์ ถังซูเปอร์แซทส์ และบ่อดักไขมัน พี.พี.
สำหรับด้านธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์สำหรับระบบบำบัด น้ำเสีย ระบบสำรองน้ำ (Water Storage System) ประกอบไปด้วยผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ปั๊มน้ำซูรูมิ เครื่องเติมอากาศซูรูมิ เครื่องเติมอากาศแอร์เพียวและเครื่องเติมอากาศฟลุ๊คส์ เพื่อใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ถังบำบัดน้ำเสีย ทำให้บริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ระบบบำบัดน้ำเสียจัดจำหน่ายแบบครบวงจร
ส่วนผลิตภัณฑ์ระบบสำรองน้ำ บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายถังสำรองน้ำ สำหรับบ้านเรือนทั่วไป และถังสำรองน้ำขนาดใหญ่ ที่ผลิตจากวัสดุไฟเบอร์กลาสและโพลีเอทิลีน ซึ่งมีความคงทนสูง และปัจจุบันบริษัทฯ ได้นำนวัตกรรมใหม่สำหรับผลิตถังสำรองน้ำโดยใช้เทคโนโลยีซิลเวอร์ไออน เพื่อน้ำที่ใช้จะได้สะอาดและปลอดภัยยิ่งขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จะผลิตภายใต้เครื่องหมายการค้า “PP” ซึ่งปัจจุบัน สินค้าประกอบไปด้วยถังสำรองน้ำ พี.พี.นีโอ ถังสำรองน้ำ พี.พี.นาโนคลีน ถังสำรองน้ำ พี.พี.เฟรช ถังสำรองน้ำ พี.พี.สปริง ถังสำรองน้ำดีแท้งค์ และถังสำรองน้ำไฟเบอร์กลาสบิ๊กแท้งค์ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัทยังให้การให้บริการดูแลสำหรับระบบบำบัดน้ำเสีย ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ รวมทั้งให้บริการซ่อมอุปกรณ์สำหรับระบบน้ำเสียด้วย ดังนั้นปัจจุบันจึงถือว่า บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ ประกอบธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมด้านระบบบำบัดน้ำเสียและระบบสำรองน้ำอย่างครบวงจรอีกด้วย
กลุ่มธุรกิจที่ 2 เป็นธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมซึ่งดำเนินการภายใต้ บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ แบ่งเป็น 4 ผลิตภัณฑ์ย่อย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากซีเมนต์เสริมใยแก้ว (Glass Reinforced Cement: GRC) เช่น แผ่นผนัง GRC ผนังกั้นเสียง ปูนปั้น ลายประดับ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์หลังคาและผนังเหล็กขึ้นรูป เช่น หลังคาเหล็กตามอาคารก่อสร้างต่างๆ เช่น ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
คลังเก็บสินค้าของ บมจ. ท่าอากาศไทย ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุอะครีลิค (Acrylics) เช่น ชั้นวางของ อ่างอาบน้ำ และ ผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาสเสริมแรง (Fiberglass Reinforced Plastic: FRP) เช่น ท่อสำหรับสารเคมี ถังบรรจุสารเคมี หลังคา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน บริษัทฯ ถือเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมด้านระบบบำบัดน้ำเสียและระบบสำรองน้ำ และเป็นหนึ่งในผู้นำการผลิตและ จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากซีเมนต์เสริมใยแก้ว และผลิตภัณฑ์ไฟเบอร์กลาสเสริมแรง
สำหรับธุรกิจจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน ดำเนินการโดยผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท พรีเมียร์ โฮม แอพพลายแอนซ์ จำกัด (PHA) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.97 โดยผลิตภัณฑ์ที่ PHA จัดจำหน่ายแบ่งออกเป็น 6 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ตู้แช่เย็น (Beverage Cooler)ตู้แช่แข็ง (Chest Freezer) ตู้เย็นลายภาพพิมพ์ (Art Door Refrigerator) ตู้กด น้ำร้อน-น้ำเย็น (Water Dispenser) ตู้แช่ไวน์ (Wine Cellar) และเตาแก๊ส-เตาอบตั้งพื้น (Gas Cooker with Oven) เป็นต้น เนื่องจาก PHA มีช่องทางการจัดจำหน่ายซึ่งเป็นร้านค้ากว่า 500 ราย ทั่วประเทศ บริษัทฯจึงมีศักยภาพ ในการใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติประหยัดพลังงานเพิ่มเติมได้ในอนาคต
กลุ่มธุรกิจสุดท้ายคือ ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท อินฟินิท กรีน จำกัด (IGC) ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 67 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกได้เปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์แล้ว 1 แห่ง กำลังผลิต 5.86 เมกะวัตต์ ที่จังหวัดสระบุรี โดยมีสัญญาจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์สำหรับโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งรวม 11.49 เมกะวัตต์ในจังหวัดสระบุรีเช่นเดียวกัน ภายในปี 2555 โดยเป้าหมายหลักของการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวเพื่อขยายธุรกิจให้ครอบคลุมธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งจะสามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่มั่นคงให้กับบริษัทฯได้ในระยะยาว
"บริษัทฯมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนอย่างยั่งยืนโดยจะมุ่งเน้นการผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าและการให้บริการที่มีคุณภาพตลอดจนการพัฒนานวัตกรรม ของผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมและพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง และ การขยายกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เป็นบริษัทที่เติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง นอกไปจากนั้น บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถรวมไปถึงการสร้างวัฒนธรรมขององค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ควบคู่กับกับการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามปณิธานของกลุ่มบริษัทพรีเมียร์”
ทั้งนี้ บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ มีเป้าหมายที่จะรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ในแต่ละกลุ่มธุรกิจให้ไม่ต่ำกว่าอัตราการการเติบโตของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยในธุรกิจระบบบำบัดน้ำเสียบริษัทฯ มีเป้าหมายจะรักษาความเป็นผู้นำในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวโดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองกับความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุดทั้ง ด้านคุณภาพและราคา รวมถึงนำเสนอนวัตกรรมใหม่สำหรับผลิตภัณฑ์ในการบำบัดน้ำเสียให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ส่วนธุรกิจระบบสำรองน้ำ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญ อาทิ การรุกคืบการเจาะตลาดระบบสำรองน้ำขนาดใหญ่ รวมไปถึงช่องทางจัดจำหน่ายที่มีศักยภาพสูงขึ้น
ในขณะที่ กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรม บริษัทฯ มีเป้าหมายการมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น มุ่งเน้นการขยายกลุ่มลูกค้าใหม่รวมถึงการใช้ประโยชน์จากช่องทางในการขายปัจจุบันเพื่อกระจายสินค้าของบริษัทฯ ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงาน มีเป้าหมายในการมุ่งเน้นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศให้มากขึ้น สำหรับธุรกิจพลังงานทดแทน มีเป้าหมายขยายโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในอนาคต เพื่อสร้างรายได้ที่มั่นคง สะท้อนให้บริษัทฯ เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับในปี 2554 ที่ผ่านมา บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ มีรายได้รวม 916.15 ล้านบาท มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 68.03 กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมร้อยละ 29.84 และรายได้อื่นๆ ร้อยละ 2.13 มีกำไรสุทธิ 36.73 ล้านบาท และในงวด 6 เดือนแรกของ ปี 2555 บริษัทฯ มีรายได้รวม เท่ากับ 650.33 ล้านบาท เป็นรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 51.19 กลุ่มผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมร้อยละ 33.20 ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติในการประหยัดพลังงานร้อยละ 14.71 และรายได้อื่นๆ ร้อยละ 0.90 มีกำไรสุทธิ 32.55 ล้านบาท
บมจ. พรีเมียร์ โพรดักส์ มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท แบ่งเป็นทุนชำระแล้ว 217.50 ล้านหุ้น ส่วนที่เหลือ 82.50 ล้านหุ้น จะเสนอขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยได้ยื่นขอเข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) แล้ว โดยในปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สำนักงาน ก.ล.ต.