กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น
NAC เปิดการรับรองระบบงานหน่วยรับรองเพิ่มขึ้นอีก 2 สาขา คือ สาขาระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (Occupational Health and Safety - OH&S ตามมอก.18001) และการรับรองระบบงานหน่วยรับรองสาขาระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (Hazard Analysis and Critical Control Point - HACCP) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของระบบการตรวจสอบและรับรองของประเทศไทย ให้สามารถรองรับมาตรการทางการค้าของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะนำประเด็นความปลอดภัยทั้งด้านแรงงาน และความปลอดภัยด้านอาหารมาใช้ในอนาคตอันใกล้
นายดำริ สุโขธนัง รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจโลกที่มีการแข่งขันสูงเข่นในปัจจัน ผู้ประกอบการทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นขนาดใหญ่หรือผู้ประกอบการ SMEs ต่างก็ต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้สามารถทนต่อสภาวะความกดดันด้านต่างๆ ได้ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ บนพื้นฐานของความตกลงองค์การการค้าโลกว่าด้วยการขจัดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า หรือ WTO/TBT จะเห็นได้ว่าการกำหนดกฎเกณฑ์ด้านวิชาการหรือมาตรฐานสินค้าหรือบริการ มักจะเป็นสิ่งที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหยิบยกขึ้นมาใช้ โดยจะรวมถึงมาตรการด้านการตรวจสอบ และการรับรองที่ใช้ในการพิสูจน์ว่าสินค้าหรือบริการเป็นไปตามเกณฑ์หรือมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งแต่ละประเทศต่างก็จะกำหนดเป็นกฎ ระเบียบ มาใช้บังคับเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการค้าทั้งสิ้น
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงาน (National Accreditiation Council - NAC) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายและกำกับดูแล กิจกรรมด้านการรับรองระบบงานของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องและประเทศคู่ค้า รวมทั้งให้การรับรองระบบงานแก่หน่วยรับรอง (Certification Body) และหน่วยตรวจ (Insection Body) สาขาต่างๆ โดยที่ผ่านมา NAC ได้เปิดให้การรับรองระบบมาแล้ว 3 สาขา รวมสาขาใหม่ที่จะเปิดให้บริการนับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปอีก 2 สาขา รวมเป็น 5 สาขา
นายชัยยง กฤตผลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการรับรองระบบงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ NAC ได้เปิดให้การรับรองมาแล้ว 3 สาขา คือ สาขาการรับรองระบบงาน หน่วยรับรองระบบการบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) สาขาการรับรองระบบงานหน่วยรับรองระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) และสาขาการรับรองระบบงานหน่วยตรวจ (ISO 17020) ซึ่งการรับรองระบบงานของ NAC เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากล และเข้าร่วมลงนามในการยอมรับร่วม (Multilateral Recognition Arrangement - MRA) กับองค์กรภูมิภาคแปซิฟิคว่าด้วยการรับรองระบบงาน (Pacific Accreditation Cooperation - PAC) และองค์กรระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองระบบงาน (International Accreditaion Forum - IAF)
"การลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วมดังกล่าว ได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศว่าการรับรองระบบงานหน่วยรับรองของ NAC ทั้ง 2 สาขา เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีกระบวนการที่พิสูจน์ได้ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำการตรวจสอบ หรือรับรองซ้ำ ซึ่งจะช่วยประหยัดทั้งเวลา และค่าใช้จ่าย" นายชัยยง กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองจากหน่วยรับรองที่ได้รับการรับรองระบบงานของ NAC จะได้รับสิทธิพิเศษที่เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของธุรกิจการค้า คือ กรณีได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก.9001 หรือ ISO 9001 ลูกค้าจะมีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าและบริการ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในความสามารถของหน่วยรับรอง และได้รับการยอมรับในความเท่าเทียมกันของใบรับรองเมื่อสินค้าไปจำหน่ายในต่างประเทศ นอกจากนี้ จะได้รับการประชาสัมพันธ์ในสื่อของทางราชการ เช่น www.tisi.go.th ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และคู่มือผู้ซื้อของสมอ. นอกจากนี้ยังได้รับสิทธิพิเศษในการขายผลิตภัณฑ์หรือบริการให้แก่หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ
ในกรณีที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก.14001 หรือ ISO 14001 หรือ มอก. 18001 จะได้รับการประชาสัมพันธ์ในสื่อของทางราชการ เช่น www.tisi.go.th และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นระยะเวลา 5 ปี สำหรับกรณีที่หน่วยตรวจได้รับการรับรอง จะได้รับสิทธิในการแต่งตั้งให้เป็นหน่วยตรวจวัตถุดิบสูญเสียเพื่อการคืนภาษีของ BOI
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
คุณอุษณีย์ ถาวรกาญจน์
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร. 0 2354 3588 โทรสาร 0 2354 3590
Email: usanee@incom.co.th--จบ--
--อินโฟเควสท์ (กภ)--