กรุงเทพฯ--12 พ.ย.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
ก่อนหน้านี้ในการสัมมนาเรื่องแผ่นดินไหวใน จ.เชียงราย กรมทรัพยากรธรณีให้ข้อมูลว่า ภาคเหนือของไทยมีรอยเลื่อนใหญ่จำนวน 4 รอย คือ รอยเลื่อนแม่จัน รอยเลื่อนแม่อิง รอยเลื่อนแม่ทา และรอยเลื่อนปัว แต่หากรวมรอยเลื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ พม่า และ สปป.ลาวที่อยู่ติดกันก็จะพบว่ามีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ เรียกว่ารอยเลื่อนสะแกงอยู่ด้วย โดยผ่านกลางเมืองปิ่นมะนาในพม่า รอยเลื่อนนี้ในอดีตเคยไหวขนาดใหญ่มากถึง 7 ริกเตอร์ และทางตอนเหนือมีรอยเลื่อนน้ำมา ซึ่งได้สั่นไหวอย่างรุนแรงเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 54 จนทำให้รัฐฉานของพม่าเสียหายหนักมีบ้านเรือนพังและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก รวมทั้งฝั่งไทยมีชาว อ.แม่สายเสียชีวิต 1 ราย
นอกจากนี้ ทางด้านทิศตะวันออกใน สปป.ลาวยังมีรอยเลื่อนที่แตกแขนงหลาย และเชื่อมกับรอยเลื่อนแม่จัน แม่อิง ฯลฯ นั่นเอง
สำหรับรอยเลื่อนแม่จันทอดผ่านตั้งแต่ ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ จนถึงบ้านกิ่วสะไต-บ่อน้ำพุร้อนป่าตึง ต.ป่าตึง-แม่จัน-ผ่านอำเภอเชียงแสน-สปป.ลาว มีความยาวประมาณ 150 กิโลเมตร จากการตรวจสอบของกรมทรัพยากรธรณี พบว่ารอยเลื่อนได้ตัดผ่านเข้าไปในตะกอนดินที่เป็นทุ่งนาปัจจุบัน ซึ่งประเมินการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันได้ว่าเคยทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.9 ริกเตอร์ เมื่อ 1,500 ปีล่วงมาแล้วในพื้นที่บ้านโป่งป่าแขม ตำบลป่าตึง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ข้อมูลศูนย์เกิดแผ่นดินไหวจากเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวในรอยเลื่อนแม่จันยังพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้นมา เกิดแผ่นดินไหวขนาด 3.0 — 4.0 ริกเตอร์ จำนวน 10 ครั้ง และมีขนาด 4.0 - 4.5 ริกเตอร์ จำนวน 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีแผ่นดินไหวที่มีศูนย์เกิดนอกประเทศ แต่ส่งผลกระทบในจังหวัดภาคเหนือตอนบน และรับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูงของกรุงเทพมหานคร คือเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2550 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีสาเหตุมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนแม่จันในส่วนของ สปป.ลาว ส่งผลกระทบให้ผนังอาคารหลายหลังในจังหวัดเชียงรายได้รับความเสียหาย และที่มีความเสียหายมากคือ ที่เสาอาคารเรียนโรงเรียนเม็งรายมหาราชวิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สำหรับบริเวณบ้านเวียงหนองหล่ม (เชื่อว่าเป็นเมืองโยนกนคร) ที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ระหว่างตอนปลายของรอยเลื่อน 2 แนวดังกล่าวที่วางตัวเหลื่อมกัน ค้นพบซากอิฐโบราณของฐานเจดีย์จำนวนมาก จมอยู่ในหนองน้ำขนาดใหญ่ และจะโผล่ขึ้นมาให้เห็นในฤดูแล้ง ซึ่งลักษณะของหนองน้ำนี้เกิดจากการยุบตัวอันเนื่องจากการเลื่อนตัวสัมพันธ์กันอย่างมีนัยของสองรอยเลื่อน อายุของก้อนอิฐโบราณเหล่านี้วัดอายุได้ประมาณ 1,000 ปี ทำให้อนุมานได้ว่ามีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้เกิดขึ้นบริเวณนี้ไม่เกินหนึ่งพันปีล่วงมาแล้ว ใกล้เคียงกับตำนานชาวบ้านยุคอาณาจักรโยนกนครที่ชาวเมืองนี้พากันกินปลาไหลเผือกจนเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ทำให้บ้านเมืองถล่ม ยุบหาย ที่เรียกกันว่า “เวียงหนองหล่ม” ในปัจจุบัน นั้นเอง