กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย
ต่อจากตอนที่แล้วเราได้รับทราบในเรื่องของธรณีวิทยากับชีวิตประจำวันในอดีตของมนุษย์กันบ้างแล้วในตอนนี้ก็ยังได้รับทราบข้อมูล จากคุณสมศักดิ์ โพธิสัตย์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีได้กรุณาถ่ายทอดความรู้เรื่องของธรณีวิทยา เรามาเริ่มกันต่อยุคหินใหม่ มีอายุประมาณ ๑๐,๐๐๐-๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว ในประเทศไทยพบหลักฐานที่บ้านเก่า อ.จรเข้เผือก จ.กาญจนบุรี มีเครื่องมือหิน เป็นขวานหินขัด ขวานถาก สิ่วหินขัด หินลับ หินบด ภาชนะดินเผา นอกจากนั้นยังในอีกหลายแห่ง เช่น อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี จ.ลพบุรี จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.ขอนแก่น และ จ.สุราษฎร์ธานี
หินที่ใช้ผลิตเครื่องมือหินก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละแหล่งโดยใช้หินท้องที่หรือหินประจำถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่เป็นหลักซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นก้อนกรวดตะพักลำน้ำที่มีลักษณะกลมมนหรือมีรูปเหลี่ยมมนขนาดต่างๆกัน หรือเศษหินหักพังหล่นลงมากองเชิงเขาที่ยังคงเหลี่ยมมุมขนาดต่างๆ ถ้าเป็นประเภทแรกก็จะประกอบด้วยหินหลากหลายชนิดที่อยู่บริเวณต้นน้ำขึ้นไป แต่ประเภทหลังจะเป็นหินที่อยู่บนภูเขาบริเวณนั้นๆ ซึ่งทั้งหมดเป็นองค์ประกอบของชั้นหินและตะกอนยุคควอเทอร์นารี
หินกรวดที่ใช้ผลิตเครื่องมือหินที่พบในไทยส่วนใหญ่จะเป็นหินแข็งเหนียวและแกร่ง สามารถหาได้ในบริเวณที่อาศัยและไกลออกไปในถิ่นอื่นอีกด้วย เช่น หินเชิร์ต แร่ควอรตซ์ หินควอร์ตไซต์ หินไรโอไรต์ หินไนส์ หินชิสต์ หินทรายเนื้อละเอียด หินชนวน หินปูน และหินชนิดอื่นก็มีแต่ไม่ค่อยนิยมเพราะคุณภาพด้อยกว่า ส่วนในประเทศอื่นก็มีแตกต่างไปบ้างแล้วแต่หินที่พบในถิ่นนั้นๆ เช่น หินเหล็กไฟหรือหินฟลินต์ ออบซิเดียนหรือแก้วภูเขาไฟสีดำ หินคาลซิโดนีและจัสเปอร์ซึ่งเป็นหินเชิร์ตชนิดหนึ่งซึ่งเมื่อกะเทาะแล้วจะมีคมและแหลม หินดังกล่าวนอกจากใช้ประดิษฐ์เครื่องมือหินแล้วยังใช้ประดิษฐ์เครื่องประดับหินต่างๆและยังใช้หินและแร่ที่มีเนื้ออ่อน หรือมีสีสรรอีกด้วย เช่น หินเซอร์เพ็นทิไนต์ แร่ควอรตซ์สีต่างๆ เป็นต้น
เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับหินเหล่านี้มีการพัฒนาทั้งการเลือกใช้วัสดุ รูปแบบ วิธีการผลิต จำนวนที่ผลิตตามลำดับ อันแสดงถึงการมีวิวัฒนาการทางสมองที่รู้จักใช้สภาพธรณีวิทยาและการนำเอาทรัพยากรธรณีมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน การสร้างชุมชนจนเกิดเป็นอารยธรรมประจำถิ่น และในช่วงปลายยุคหินอาจเกิดการแลกเปลี่ยนผลผลิตและอารยธรรมเกิดขึ้น จนกระทั่งการรู้จักจุดไฟและใช้ไฟที่มีความร้อนสูงมากๆอันนำมาสู่การรู้จักเทคโนโลยีการประดิษฐ์ภาชนะดินเผา การหลอมและถลุงโลหะต่างๆในยุคต่อมาที่ทางโบราณคดีเรียกว่า “ยุคโลหะ” แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่าไม่มีการใช้เครื่องมือหิน ตรงกันข้ามกลับมีการใช้เครื่องมือหินในการขุดหาแร่ต่างๆมาใช้ประดิษฐ์เครื่องมือและเครื่องประดับโลหะอันนำมาสู่การแบ่งยุคโลหะ นอกจากนั้นยังรู้จักเทคนิคการตัดหินและนำหินชนิดต่างๆมาในการก่อสร้าง เช่นวิหารแห่งมอลต้า ที่เกาะมอลต้าในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเป็นต้น
“ยุคโลหะ” ในตอนต้นยุคคงเริ่มต้นแบบโลหะปนหินดังได้กล่าวแล้วเมื่อประมาณ ๗,๐๐๐ ปีที่ผ่านมาแล้ว สันนิษฐานเองว่าการรู้จักนำโลหะมาใช้คงโดยการที่นำหินที่มีแร่ติดอยู่กับหินมาใช้แล้วพบแร่ติดหินมีสีสันและคุณสมบัติที่น่าสนใจมีความวาวโลหะ อ่อนแต่เหนียวพอที่เมื่อทุบแล้วไม่แตกแต่ยังแผ่ออกหรือยืดออกได้เช่น โลหะทองแดงธรรมชาติ (native copper) หรือทองคำธรรมชาติ (native gold) เป็นต้น ต่อจากนั้นคงมีวิวัฒนาการโดยใช้ไฟหลอมและถลุงแร่ทองแดงซัลไฟด์ในเวลาต่อมาที่เรียกว่า “ยุคทองแดงปนหิน” ซึ่งเป็นสมัยแรกของยุคโลหะเพื่อใช้ผลิตอาวุธ เครื่องประดับ ภาชนะและของใช้ประจำวัน ซึ่งช่วงนี้รู้จักใช้ทองคำมาทำเครื่องประดับด้วย
มีรายงานใน “๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี” โดยเกษตร พิทักษ์ไพรวัลย์ ว่าได้ตรวจพิสูจน์ขวานโลหะจากแหล่งโบราณคดีโนนนกทา ต.บ้านโคก อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ขนาด ๘.๘x๔.๖ -๕.๓x๒.๑ ซม. รายงานว่าเป็นขวานที่ทำจากโละทองแดงธรรมชาติโดยการทุบเย็น ไม่ใช้ไฟ อายุ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว (ผู้เขียนเองเคยสำรวจพบแหล่งแร่ทองแดง-ยูเรเนียม ในแอ่งภูเวียง จึงเข้าใจว่าในสมัยนั้นคงใช้แร่ทองแดงในแอ่งภูเวียงที่มีอยู่หลายแห่งเป็นวัตถุดิบ) ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวจากสมัยทองแดงปนหินเข้าสู่ “ยุคสำริด” (Bronze Age) ซึ่งเริ่มเมื่อประมาณ ๕,๒๐๐ ปีมาแล้ว ซึ่งเป็นยุคที่มนุษย์รู้จักนำแร่โลหะชนิดอื่นเช่นตะกั่ว และดีบุก แถมยังรู้เทคนิคการทำโลหะผสมทองแดง-ดีบุก-ตะกั่ว ที่เรียกว่าโลหะสำริด ที่มีรายงานว่าพบแหล่งสำริดในไทยหลายแห่งด้วยกันที่สำคัญนอกจากแหล่งโนนนกทาแล้วยังมีแหล่งบ้านนาดี อ.หนองหาร จ.อุดรธานี ที่นอกจากเครื่องสำริดเช่นกำไล พาหุรัด หัวลูกศรและเบ็ดตกปลาแล้วยังพบเตาถลุง เบ้าหลอม และแบบหล่อทำด้วยหินทราย ที่ แหล่งอารยะธรรมบ้านเชียงอันเลื่องชื่อของ จ.อุดรธานี โดยใช้แร่ทองแดงที่ (ผู้เขียนสันนิษฐานเอง) จากแหล่งแร่ทองแดงที่อยู่ใกล้ที่สุดคือแหล่งแร่ทองแดงภูโล้น ริมแม่น้ำโขง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งขุดแร่ทั้งบนดินและเจาะอุโมงค์ใต้ดิน ในพื้นที่ประมาณ ๑ ตร.กม. แหล่งโนนป่าหวาย อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ที่เป็นแหล่งที่มีการถลุงแร่ทองแดงที่ใหญ่อาจจะเป็นที่สุดของไทยและประเทศในแถบนี้เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปีก่อนคริสต์ศตวรรษ และที่บ้านท่าแค อ.เมือง จ.ลพบุรี ที่ทางโบราณคดีเชื่อว่าใช้เทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญและทันสมัยที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่อื่นๆมีการผลิตระดับที่เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม สามารถหล่อทองแดงและผลิตสำริดที่มีเนื้อโลหะบางมาก โดยมีการทำเหมืองแร่ทองแดงที่เขาพุคา เขาวงพระจันทร์และเขาพระบาทน้อยที่มีแร่เหล็กปนอยู่ด้วย จึงพบว่ามีการถลุงแร่เหล็กในแหล่งเดียวกันโดยใช้แร่เหล็กจากแหล่งนี้และแหล่งเขาทับควาย และมีการถลุงเหล็กกันอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ของจังหวัดลพบุรีในยุคต่อๆมาจนถึงยุคประวัติศาสตร์
“ยุคเหล็ก” (Iron Age) เมื่อประมาณ ๓,๒๐๐-๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว เป็นยุคที่มนุษย์มีวิวัฒนาการก้าวหน้ามาก เพราะสามารถคิดค้นเทคโนโลยีการถลุงแร่เหล็กและการหล่อเหล็กซึ่งมีความยุ่งยากกว่าและต้องใช้ไฟที่อุณหภูมิสูงกว่าการถลุงแร่ทองแดง แร่ตะกั่ว และแร่ดีบุก และการหลอมโลหะผสมสำริดมาก แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วและแพร่หลายเพราะแข็งกว่า หาแร่เหล็กได้ง่ายกว่า และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เครื่องประดับ ภาชนะใช้สอย เครื่องมือการเกษตร ใช้ในการก่อสร้าง สถาปัตยกรรม และโดยเฉพาะการผลิตอาวุธที่สร้างความเข้มแข็งให้กองทัพอย่างมาก
ในประเทศไทยพบเครื่องเหล็กในแหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่ปนอยู่และทับซ้อนอยู่ในชุมชนและแหล่งอารยธรรมสำริดหลายแห่งดังได้กล่าวมาบ้างแล้วแต่ยังไม่สามารถหาหลักฐานว่ามีการผลิตเหล็กในช่วงต้นๆของยุคเหล็กถึงแม้ว่าจะค้นพบเตาถลุงเหล็กแพร่หลายในจังหวัดลพบุรีเช่นที่บ้านดิลัง อ.พัฒนานิคม แต่ก็ย้อนเวลาได้ประมาณตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ ต่อเนื่องมาอีกประมาณ ๒๐๐ ปี (เกษตร พิทักษ์ไพรวัลย์ ใน ๑๐๐ ปี กรมทรัพยากรธรณี) ในปลายยุคเหล็กมีการค้นพบวิธีการผลิตแก้ว เพราะมีใช้กันในงานสถาปัตยกรรมและเครื่องประดับ พร้อมๆกับการใช้หินอ่อนในงานก่อสร้างและสถาปัตยกรรมที่แพร่หลายต่างประเทศ
ทรัพยากรธรณีกับชีวิตประจำวันในยุคก่อนประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่น่าศึกษาและค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ผู้อ่านได้รับทราบข้อมูลที่เป็นความรู้ ซึ่งเป็นอีกมุมมองหนึ่งด้านทรัพยากรธรณีต่อโบราณคดีเท่านั้น