กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--ทีดีอาร์ไอ
การเปิดเสรีอาเซียนไม่เพียงก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเฉพาะในมิติทางเศรษฐกิจการค้าเท่านั้น แต่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามมาด้วย การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จึงไม่ควรจำกัดอยู่แต่เพียงเรื่องการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมการและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเช่นกัน
งานวิจัย ‘Moving Towards ASEAN Single Community: Human Face Nexus of Regional Economic Development’ โดย ดร.สมชัย จิตสุชน นำเสนอมิติทางสังคมของประชาคมอาเซียนที่จำเป็นต่อการวางแผนเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความหลากหลายของสังคมอาเซียนในอนาคต งานวิจัยนำเสนอ 4 มิติสำคัญ ดังนี้
1. มิติด้านสถิติประชากร (population demographic)
ประเทศส่วนใหญ่ในแถบอาเซียนกำลังเผชิญกับอัตราขยายตัวของประชากรที่ต่ำลง จากกราฟข้างล่าง มีเพียงสิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราขยายตัวของประชากรเกิน 5% ซึ่งมีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นฐานเป็นหลัก กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่มีอัตราขยายตัวของประชากรต่ำกว่า 2 % เท่านั้น
นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนกำลังเริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งจะกระทบต่อการพัฒนาสังคมและมนุษย์ต่อไปในอนาคต จากงานวิจัย ประเทศที่มีจำนวนอัตราประชากรวัยทำงานสูงเมื่อเทียบกับประชากรสูงวัยคือ บรูไน กัมพูชา ลาวและฟิลิปปินส์ ซึ่งประเทศเหล่านี้จะสามารถพัฒนาสมรรถภาพด้านการผลิตและเศรษฐกิจจากประชากรวัยทำงานได้ในอนาคต
2. มิติด้านสุขภาพ การศึกษาและความสามารถในการอ่านเขียน (health, education and literacy)
มิติด้านสุขภาพ — งานวิจัยพิจารณาตัวบ่งชี้สำคัญสองประการ คือ 1) อัตราการเสียชีวิตของทารกซึ่งเป็นตัวชี้วัดระดับสุขภาพโดยรวมของประเทศ ในบริบทของประชาคมอาเซียน ประเทศที่ร่ำรวยกว่า (เช่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์) มีอัตราการเสียชีวิตของทารกน้อยกว่าประเทศที่ยากจนกว่า (เช่น กัมพูชา ลาว พม่า เป็นต้น) และ 2) การจ่ายเงินของครัวเรือนเมื่อไปใช้บริการสุขภาพซึ่งวัดประสิทธิภาพและการครอบคลุมของประกันสุขภาพ ค่าใช้จ่ายที่น้อยลงแสดงให้เห็นถึงระบบประกันสุขภาพที่ดีกว่า ซึ่งข้อมูลจากกราฟข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ประเทศที่มีฐานะปานกลางและสูงมักจะมีระบบประกันสุขภาพที่ดีกว่าประเทศที่ยากจน (กัมพูชา พม่าและเวียดนาม)
มิติด้านการศึกษา — ประเทศในแถบอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างมากในเรื่องการศึกษา ประเทศที่มีรายได้สูงกว่า มีการสมัครเข้าเรียนในระดับอนุบาลและอุดมศึกษามากกว่า แต่เมื่อเราเปรียบเทียบดูแล้ว แถบประเทศอาเซียนยังมีนักศึกษาเรียนในระดับอุดมศึกษาน้อยกว่าประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกาอยู่มาก
3. มิติด้านการจ้างงาน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำ (employment, poverty and inequality)
มิติทางด้านการจ้างงานเป็นมิติที่น่าสนใจมากในประชาคมอาเซียน โดยรวมแล้ว ประเทศในแถบนี้มีอัตราการว่างงานต่ำ (ยกเว้น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) แต่อัตราการจ้างงานในวัยรุ่นมีต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มีความต้องการแรงงานอยู่สูง แต่วัยรุ่นในอาเซียนไม่สามารถสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงานได้
ในขณะเดียวกัน ประชากรที่มีการศึกษาสูงในประเทศที่ยากจน (ลาว กัมพูชา เวียดนาม) จะเดินทางไปทำงานนอกประเทศบ้านเกิดตนเอง แต่สถานการณ์นี้เริ่มดีขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเหล่านี้ดีขึ้นมาก และทำให้ประชากรของประเทศเหล่านี้เลือกที่จะอยู่ทำงานในประเทศบ้านเกิดมากขึ้น
ในเรื่องของมิติความยากจนและความเหลื่อมล้ำ งานวิจัยได้วัดความเหลื่อมล้ำจาก อัตรารายได้ครอบครัวของผู้มีฐานะร่ำรวยที่สุด 10% เทียบกับรายได้ของคนที่ยากจนที่สุด 10% สิ่งนี้ทำให้เห็นว่า อาเซียนยังเป็นภูมิภาคที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก (โดยเฉพาะในประเทศไทยและฟิลิปปินส์) ในขณะที่ความยากจนอาจจะลดระดับลงไปในภูมิภาค ความเหลื่อมล้ำอาจจะเพิ่มสูงขึ้นได้
4. มิติด้านสังคมอื่น ๆ (สิ่งแวดล้อมและสถาบันทางการเมือง)
มิติด้านสิ่งแวดล้อม — งานวิจัยใช้ตัวบ่งชี้สองประการเพื่อเปรียบเทียบมิติด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมอาเซียน คือ 1) การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ 2) สัดส่วนพื้นที่ป่าในประเทศ ซึ่งประเทศที่ร่ำรวยกว่าในอาเซียนมีสถิติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่สู้ดีนัก สิงคโปร์และบรูไนมีอัตราการปล่อยก๊าซ CO2 สูงกว่าประเทศอื่น ๆ และมีพื้นที่สัดส่วนของป่าในประเทศน้อยมาก
มิติด้านสถาบันการเมือง —งานวิจัยวิเคราะห์ตัวบ่งชี้สองประการ คือ 1) สิทธิทางกฎหมาย และ 2) การมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง — เป็นที่น่าสนใจที่ประเทศเวียดนาม ลาวและสิงคโปร์มีอัตราส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสตรีอยู่ถึงร้อยละ 25 ซึ่งตัวเลขนี้ สูงกว่าประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาและเกาหลีใต้ แต่ในเรื่องของสิทธิทางกฎหมาย มีเพียงประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่ทำได้ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนยังทำได้ไม่ดีนัก
ความแตกต่างที่ควรได้รับความสนใจ
เมื่อเราพิจารณาตามมิติต่าง ๆ ทางสังคมของกลุ่มประเทศอาเซียน เราจะเห็นได้ว่า การพัฒนาทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลกระทบในทางบวกแก่มิติด้านสุขภาพ การศึกษาและความยากจน แต่สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของประชาคมอาเซียน เพราะเมื่อเทียบถึงการจ้างงานในวัยรุ่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของสตรี หรือมิติทางสิ่งแวดล้อม การพัฒนาทางเศรษฐกิจไม่ได้ก่อให้เกิดผลในทางบวกต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนเสมอไป และปัจจัยหลักสำคัญที่จะทำให้เกิดความแตกต่างสูงในประชาคมอาเซียนคือ อายุของประชากรในประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประชาคมอาเซียนในอนาคตต่อไป
ความแตกต่างของมิติที่หลากหลาย ควรได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของภูมิภาค ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและเปิดโอกาสให้กับทุกคนได้เข้าถึงประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน.