กรุงเทพฯ--13 พ.ย.--โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์
เนื่องในโอกาสโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ ฉลองครบรอบ 9 ปี และก้าวย่างสู่ปีที่ 10 แห่งความมุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานการรักษาและการบริการที่มีประสิทธิภาพ ทางโรงพยาบาลฯ จึงจัดกิจกรรมพิเศษตลอดเดือนพฤศจิกายน 2555 ณ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ โดยได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าวรวงค์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ ได้เปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2546 โดยเป็นโรงพยาบาลเอกชนเฉพาะสำหรับเด็กแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ช่วยดูแลปัญหาหลายด้าน เช่น โรคภูมิแพ้เด็ก เด็กพิเศษ สุขภาพวัยรุ่น ศัลยกรรมในเด็ก และมีประสบการณ์ในการรักษาแบบองค์รวม นอกจากนี้ โรงพยาบาลฯ ยังมีชื่อเสียงด้านการปลูกถ่ายไขกระดูกและการอภิบาลผู้ป่วยหนักทารกแรกเกิด(อายุ 0-30 วัน ) มาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการ ในปัจจุบันทางโรงพยาบาล ฯ ได้มีบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยสำหรับเด็กทางอากาศและบริการรถพยาบาลฉุกเฉิน “Speedy Bear” พร้อมทั้งทีมกุมารแพทย์และพยาบาล คอยรับ-ส่งผู้ป่วยเด็กฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
นอกจากบริการต่างๆ แล้ว โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ยังได้จัดโครงการเพื่อสังคม อาทิ กองทุนสมิติเวชเพื่อชีวิตใหม่หัวใจเด็ก ที่ได้ให้บริการผ่าตัดและรักษาฟรีแก่ผู้ป่วยเด็กโรคหัวใจที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลครบรอบ 60 ปี ราชาภิเษกสมรส นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 เป็นต้นมา กองทุนฯ ได้ผ่าตัดผู้ป่วยเด็กไปแล้ว 60 รายจนหายและมีสุขภาพแข็งแรง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ โดยกองทุนตั้งเป้าหมายที่จะช่วยเหลือเด็กต่อไป
โดยแพทย์หญิงสุรางคณา เตชะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวถึงความสำคัญของการดูแลรักษาบุตรหลานวัยซนว่า ลูกเป็นสิ่งมีค่ายิ่งสำหรับพ่อแม่ ที่ต้องเตรียมพร้อมให้เขาในทุกด้าน เพราะชีวิตหนึ่งเจริญเติบโตขึ้นตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งในเรื่องนี้สมาคมกุมารแพทย์อเมริการะบุเลยว่า 1,000 วันสำคัญที่สุด โดยนับตั้งแต่อยู่ในท้อง 9 เดือน ที่สมองจะเติบโตทุกส่วน บวกกับเวลาโตเป็นทารกและเด็กเล็กอีก 2 ปี ก็จะเท่ากับ 1,000 วันพอดี ฉะนั้น เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ครอบครัวจำเป็นต้องมีแพทย์สูติฯ เป็นที่ปรึกษา
"ยืนยันว่าทางโรงพยาบาลสมิติเวชของเรา มีความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กเป็นอย่างดี ไม่ว่าลูกของคุณจะเกิดมาแบบปกติหรือมีปัญหาแบบใดก็ตาม จะเป็นโรคที่รักษาง่ายหรือโรคที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะทาง เช่น โรคหอบหืด ภูมิแพ้ชนิดหนึ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ที่เด็กไทยโดยเฉพาะเด็กในเมืองมักอัตราเป็นสูงถึง 1 ใน 3 เราก็มีทีมแพทย์สหวิชาชีพแบบองค์รวม พร้อมให้คำแนะนำและรักษาอย่างดีที่ สุด ซึ่งในส่วนของโรคหอบหืดนั้น ทางสมิติเวช ศรีนครินทร์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI หรือ CCPC CHILDHOOD ASTHMA PROGRAM จากสหรัฐอเมริกา และถือเป็นโรงพยาบาลแรกนอกสหรัฐฯ ที่ได้รับการรับรองนี้ " แพทย์หญิงสุรางคณากล่าว
อย่างไรก็ดี ภายในงานดังกล่าวมีการเสวนาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับการสร้างศักยภาพทางสมองให้ลูกน้อยในหัวข้อ “ความฉลาดเริ่มได้ตั้งแต่ในครรภ์“ ไว้เป็นคำแนะนำให้ผู้ปกครองที่สนใจนำไปปฏิบัติ นายแพทย์มฆวัน ธนะนันท์กูล จากศูนย์ผู้มีบุตรยาก รพ.เด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่า เดิมเวลาผู้หญิงจะแต่งงานกัน ก็จะคิดแต่เรื่องจัดงานอย่างไรเพื่อต้อนรับแขก แต่หมออยากให้คิดไกลกว่านั้น โดยเฉพาะเรื่องการวางแผนมีบุตร ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกเกิดมาปลอดภัยจากโรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมต่าง ๆ
"เรื่องที่ควบคุมได้ไม่ให้ลูกของเราต้องเผชิญกับความเสี่ยง ก็คือการตรวจร่างกายทั้งพ่อและแม่ หาโรคและพาหะ เช่น ธาลัสซีเมีย ไวรัสตับอักเสบบี ซิฟิลิส เอดส์ การสอบถามโรคทางพันธุกรรมจากญาติพี่น้อง การงดทานยาที่เป็นอันตรายต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ งดการฉายรังสีหรือสัมผัสรังสี แม้แต่การไปเที่ยวต่างประเทศแล้วเจอเชื้อโรคแปลก ๆ ก็ไม่ควร นอกจาากนี้ยังต้องระวังเรื่องสัตว์เลี้ยงด้วย เพราะอุจาระของสัตว์เช่นอุจาระแมวมีพยาธิทำให้เด็กพิการได้ กระทั่งการเจ็บป่วยระหว่างตั้งครรภ์ก็ต้องระวัง เช่นอาจเป็นหัดเยอรมันทำให้ทารกที่คลอดออกมาหูหนวกตาบอดได้" นายแพทย์มฆวัน แจงเพิ่ม
คุณหมอจากศูนย์ผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ คนเดิมกล่าวต่อด้วยว่า ความหวังของพ่อแม่ นอกจากลูกจะครบ 32 แล้ว ก็อยากให้ลูกเป็นเด็กเก่ง เด็กฉลาดด้วย ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวสามารถทำได้จริง ไม่ต้องรอให้ธรรมชาติเป็นผู้กำหนด และเริ่มทำได้ตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ โดยปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าก่อนท้องควรทำอย่างไร เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันก่อนตั้งครรภ์ 3 เดือน ตรวจมะเร็งปากมดลูก อัลตาซาวนด์หาเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูก หรือถุงน้ำในรังไข่ เพราะถ้าเกิดท้องแล้วต้องผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูง ข้อแนะนำอีกอย่างคือให้คุณแม่ทานโฟเลทวันละเม็ด จะช่วยลดอัตราเสี่ยงเรื่องระบบไขสันหลังและสมองพิการของลูกน้อย
ขณะที่ แพทย์สูตินารีผู้เชี่ยวชาญการดูแลหญิงตั้งครรภ์จากโรงพยาบาลเดียวกัน นายแพทย์สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช แนะนำว่า เมื่อรู้ว่าตัวเองตั้งท้องควรรีบมาฝากครรภ์เลย และควรฝากกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญไม่ใช่ฝากกับใครก็ได้ เนื่องจากหัวใจของกระบวนการฝากครรภ์คือการหาภาวะเสี่ยงให้เจอก่อนเหตุจะ เกิดให้ได้ สถิติคนท้อง 100 คน จะแท้งก่อนเสีย 20 คน พอผ่านภาวะดังกล่าวมาได้ อีกราว 10% จะมีอาการครรภ์เสี่ยงสูง ถ้าดูแลไม่เพียงพอคุณแม่อาจมีภาวะครรภ์เป็นพิษ เป็นอันตรายต่อแม่และเด็กในท้องได้
นายแพทย์สุรเชษฐ์ บอกต่อด้วยว่า การฝากครรภ์ที่มีคุณภาพคือการคัดกรองหาความเสี่ยงทั้งในแม่และเด็ก สิ่งที่อยากแนะนำก็คือทำอัลตาซาวนด์หนึ่งครั้งทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ การทำครั้งแรกเพื่อตรวจให้รู้แน่ชัดว่าท้องกี่เดือน มีภาวะท้องนอกมดลูกหรือไม่ ท้องลมหรือเปล่า เข้าสู่ไตรมาสที่ 2 เพื่อตรวจหาความผิดปกติทางโครงสร้างร่างกายและอวัยวะภายใน ส่วน 3 เดือนสุดท้ายที่รกเริ่มเสื่อม น้ำคร่ำเริ่มน้อย ต้องดูว่าไปขัดขวางพัฒนาการของเด็กหรือไม่ ถ้าอันตรายจำเป็นต้องผ่าออกจะดีกว่า
นอกจากนี้คุณแม่เซเลบริตี้ กบ สุวนันท์ ปุณณกันต์ ยังมาเปิดประสบการณ์การเลี้ยงลูก และร่วมชมห้องพักแบบ เอ็กซ์คลูซีฟวอร์ดสำหรับคุณแม่หลังคลอดชั้น 12 โดยดาราสาวกล่าวว่าตอนนี้น้องณดาอายุขวบครึ่งแล้วที่ผ่านมา ตนไม่เตยรู้ว่าเด็กเลี้ยงยากเป็นลักษณะแบบไหน เพราะตนไม่เคยเปรียบเทียบลูกกับเด็กคนอื่นๆ ว่าลูกจะเลี้ยงง่ายไหม แต่หลายๆ คนจะบอกว่าน้องณดาเป็นเด็กที่เลี้ยงค่อนข้างเลี้ยงง่าย เพราะพูดอะไรก็ทำตาม ป้อนอะไรเข้าปากก็ทานหมดจากประสบการณ์ที่ตัวเองสัมผัส จะพบว่าเด็กผู้หญิงจะเลี้ยงง่ายกว่าเด็กผู้ชาย เด็กผู้ชายจะทานนมเก่งกว่าเด็กผู้หญิง ทำให้แม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้น แต่สำหรับตัวเองแล้วตรงกันข้ามเป็นคนที่มีน้ำนมน้อยมาก จึงต้องอาศัยการปั๊มนมให้ลูกทานเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งพยายามสรรหาอาหารที่เรียกน้ำนมให้กับตัวเอง เช่น ทานหัวปลีหรือน้ำขิงร้อน เยอะๆ
“พอรู้ตัวเองว่าท้อง กบก็จะไปฝากท้องกับคุณหมอทันที เป็นคนไข้ที่เชื่อฟังคุณหมอมาก เพราะความที่เราท้องแรกด้วย ซึ่งก็เป็นข้อดีของตัวกบเอง เพราะการเชื่อฟังคุณหมอที่แนะนำอะไรมาแล้วเราเราเชื่อฟังและทำตามที่คุณหมอบอก ลูกที่ออกมาก็จะมีลูกสุขภาพดีตามไปด้วย ซึ่งสำหรับกบแล้วกบจะปฎิบัติตัวตามที่คุณหมอบอกเป๊ะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทานวิตามินหรือาหารตามที่หมอสั่ง พยายามฟังเพลงบ้าง ซึ่งเพลงที่ฟังไม่ใช่เพลงโมสาร์ทเพียงอย่างเดียว เราอาจจะฟังเพลงฮิบฮอบหรือเพลงสนุกๆ บ้าง แต่ต้องไม่ดังจนเกินไปจนลูกในท้องตกใจ อ่านหนังสือ หรือดูหนังดูละครเป็นปกติ แต่สิ่งที่กบจะทำกับลูกตอนท้องเป็นประจำคือ การพูดคุยและสัมผัสเค้าให้มากที่สุดคอยสังเกตว่าเค้าดิ้นไหม เพราะกบมีปัญหาเรื่องรกค่อนข้างไม่แข็งแรง เป็นประเภทรกเกาะต่ำ รวมทั้งค้นคว้าหาข้อมูลผ่านอินเตอร์เนตหรือสอบถามคนที่ประสบการณ์ผ่านการเป็นแม่มาแล้วจะดีที่สุด”
ดาราสาวยังบอกด้วยว่า ปีนี้ตนยังสนุกกับการที่จะพาน้องณดาไปทำโน่นทำนี่มากกว่าที่จะวางแผนกับการมีลูกคนใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าเธอไม่อยากมี ในอนาคตคาดว่าประมาณปีหน้าหรือปีถัดไปตนอาจจะมีลูกอีกคนก็ได้
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานครบรอบ 9 ปี โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ โดยมี.พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสมิติเวช จำกัด (มหาชน),พญ.ชนิกา ตู้จินดา ประธานโรงพยาบาลเด็กสมิติเวชศรีนครินทร์ พร้อมด้วยคณะแพทย์ เฝ้ารับเสด็จ
จากซ้าย นพ.สุรเชษฐ์ อภินิลบงกช, พญ.สิริพัฒน์ ปรีชาสนองกิจ,พญ.ชนิกา ตู้จินดา,สุวนันท์ ปุณณกันต์,พญ.สุรางคณา เตชะไพฑูรณ์ และ นพ.มฆวัน ธนะนันท์กูล